ทิเบตัน เทอร์เรีย (Tibetan Terrier) มันเป็นสายพันธุ์สุนัขจากประเทศทิเบต ที่มีขนยาวสลวยอยู่ทั่วร่างกาย แถมยังหน้าตาน่ารักมากๆ อีกด้วย แถมมันยังมีข้อดีอีกหลายๆ อย่างที่จะทำให้คุณตกหลุมรักในตัวมัน มาทำความรู้จักกับมันให้มากกว่าเดิมกันเถอะ
ข้อมูลทั่วไปของทิเบตัน เทอร์เรีย
- ขนาดตัว: ค่อนข้างเล็ก
- ความสูงจากไหล่: 35 – 41 ซม.
- น้ำหนัก: 8 – 14 กก.
- อายุขัย: 12 – 15 ปี
- ความยาวขน: ยาว
- ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศทิเบต
- ปริมาณการผลัดขน: น้อย
- ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
- ลักษณะเฉพาะ: มันมีขนยาวสลวยทั่วร่างกาย ดวงตากลมโตน่ารัก หางมักจะม้วนขึ้นมาบนหลัง หน้าตามีความคล้ายคลึงกับสุนัขพันธุ์ชิสุอยู่บ้าง
ประวัติของทิเบตัน เทอร์เรีย
มันเป็นสุนัขสายพันธุ์โบราณที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศทิเบต ถึงแม้ว่าในชื่อของมันจะมีคำว่าเทอร์เรีย แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้ถูกจัดเป็นหนึ่งในสุนัขตระกูลเทอร์เรีย (Terrier) ที่มันถูกเรียกกันว่าเทอร์เรียคงจะเป็นเพราะขนาดตัวและลักษณะภายนอกของมันที่ดูคล้ายคลึงกับสุนัขในตระกูลนี้ มันมีขนที่ยาวสลวยกระจายอยู่ทั่วร่างกายเพื่อทำให้มันสามารถใช้ชีวิตอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเหน็บได้
ผู้คนในประเทศทิเบตจะเรียกมันว่า Tsang Apso ในสมัยก่อนชาวทิเบตมักจะใช้มันในการเฝ้าวัดวาอารามของพระพุทธศาสนา เลี้ยงมันไว้เป็นเพื่อนและเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน แถมเหล่าลามะ (Lama) ทั้งหลายยังถือว่ามันเป็นสุนัขมงคลสำหรับชาวทิเบต พวกเขาถือว่ามันเป็นเครื่องรางนำโชค เป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพและความโชคดี มันจึงถูกนำไปเป็นของขวัญที่จะมอบให้ซึ่งกันและกันอีกด้วย เพราะเหตุนี้มันจึงได้รับสมญานามว่าสุนัขศักดิ์สิทธิ์แห่งทิเบต (Holy Dogs of Tibet)
ในช่วงศตวรรษที่ 20 มันได้ถูกส่งตัวไปยังประเทศอังกฤษและประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้มันเริ่มได้รับความสนใจและเริ่มเป็นที่รู้จักของคนหลายๆ ประเทศ จึงทำให้เกิดการเพาะพันธุ์มันให้มีจำนวนมากขึ้นที่ประเทศเหล่านี้ และอีกไม่กี่สิบปีต่อมา มันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American kennel club (AKC) ในปี ค.ศ. 1973 ในปัจจุบันมันก็ยังคงเป็นที่นิยมในต่างประเทศอยู่ แถมมันยังเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ใช้ในการพัฒนาสุนัขสายพันธุ์ใหม่ตัวอื่นๆ อีกด้วย
ลักษณะนิสัยของทิเบตัน เทอร์เรีย
มันเป็นสุนัขที่มีความอ่อนหวาน อ่อนโยน ใจดี ซื่อสัตย์ เชื่อฟัง และเป็นกันเอง จึงทำให้มันสามารถเข้ากันกับคนทุกเพศทุกวัยในบ้าน รวมถึงเจ้าเหมียวและสุนัขตัวอื่นในบ้านอีกด้วย มันยังมีความขี้เล่น ซุกซน และร่าเริงในระดับที่กำลังพอเหมาะ มันจึงเป็นตัวสร้างความสนุกสนานที่ดีให้กับคุณ แต่เนื่องจากมันเคยถูกใช้งานเป็นสุนัขสำหรับเฝ้ายามมาก่อน มันจึงมีความระแวดระวังคนแปลกหน้าและมีความหวงพื้นที่ ถ้ามันพบเจอคนแปลกหน้าที่พยายามจะเข้ามาในพื้นที่ของมัน มันก็จะเห่าเพื่อขับไล่ผู้นั้น ถึงแม้การเห่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่สุนัขบางตัวก็อาจจะเห่ามากเกินความจำเป็นและเห่าพร่ำเพรื่อไปบ้าง ซึ่งผู้เลี้ยงก็ต้องมีการฝึกสอนมันในจุดนี้บ้าง
เนื่องจากว่ามันชอบเข้าสังคมเป็นอย่างมาก มันจึงต้องการเวลาในการอยู่กับคนที่มันรักและมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา แต่มันเกลียดการถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวเป็นระยะเวลานาน มันจึงเหมาะกับผู้ที่มีเวลาให้กับสุนัขบ้าง
ความหลากหลายของสีสุนัข
สีตา
มันเป็นสุนัขที่มีตาโทนสีน้ำตาลดำ
สีขนและสีตัว
สีขนของมันมีให้เลือกหลายแบบ เช่น สีดำล้วน, สีดำ-ขาว, สีขาวล้วน, สีขาว-ดำ, สีขาว-ดำ-ทอง, สีทองล้วน, สีทอง-ขาว, สีขาว-ทอง, เทาล้วน, เทา-ขาว, น้ำตาลแดง-ขาว เป็นต้น สุนัขบางตัวจะมีขนสีเดียวทั้งตัว บางตัวจะมี 2-3 สีในตัว แถมบางตัวยังมีลายเสือ (Brindle) ให้คุณเลือกอีกด้วย
ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง
ความเป็นมิตรของมันส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดูและการฝึกฝนมันมาตั้งแต่เด็กด้วย แต่ส่วนมาก มันจะมีความใจดี ซื่อสัตย์ และรักใคร่คนในครอบครัวเป็นอย่างมาก รวมถึงเหล่าเด็กๆ ที่อยู่ร่วมกับมันมาตั้งแต่เป็นลูกสุนัขด้วย มันมีความขี้เล่นและซุกซนอยู่บ้าง แถมยังชอบเข้าสังคมเป็นอย่างมาก มันจึงสามารถเป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับเด็กๆ ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นมิตรกับสุนัขและแมวตัวอื่นที่มันคุ้นเคยด้วยแล้วเช่นกัน มันสามารถอยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน และนอนด้วยกันกับเพื่อนสัตว์เลี้ยงตัวอื่นได้ แต่ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงตัวใหม่หรือคนแปลกหน้า มันก็จะจะคอยระวัง เห่าไล่ และต่อต้าน ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาสักระยะในการทำความคุ้นเคยกับผู้นั้นก่อน ถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

การดูแลทิเบตัน เทอร์เรีย
การดูแลด้านการออกกำลังกาย
มันมีระดับพลังงานที่ไม่สูงมากนัก นั่นหมายความว่ามันไม่ต้องการการออกกำลังกายในปริมาณมากมัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ต้องการการออกกำลังกายเลย คุณควรจะแบ่งเวลามาพาเจ้าตูบไปเดินเล่นข้างนอก วิ่งเล่นออกกำลังกายเบาๆ หรือจะให้มันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ออกแรงกับคนในครอบครัวก็ได้ เช่น การเล่นลูกบอลกับมัน ระยะเวลาประมาณ 30 – 45 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานที่มีในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้มันไม่เครียด ไม่เบื่อ ไม่เก็บกด ไม่หดหู่ และเพื่อให้เจ้าตูบมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์
การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน
เราไม่ควรล่ามหรือขังมันในกรงแคบๆ ตัวเดียวทั้งวัน เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขเครียด เก็บกด และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ไม่ดีเท่าที่ควร คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันแน่นแฟ้นกับพวกเขา รวมถึงให้มันไปเข้าสังคมกับคนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นด้วย เพื่อให้มันสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องการฝึกสอนสุนัข เราจะต้องฝึกฝนและควบคุมปริมาณการเห่าของสุนัขบางตัวตั้งแต่เด็ก ไม่เช่นนั้นมันอาจจะเห่ามากเกินไปจนรบกวนคุณได้ และสามารถฝึกสอนให้มันปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ ที่คุณต้องการ มันเป็นสุนัขที่ฉลาด เชื่อฟัง และเรียนรู้ไวอยู่แล้ว ถ้าคุณมีของรางวัลให้มัน มันก็พร้อมที่จะเรียนรู้กับคุณไปตลอดทาง
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
มันเป็นสุนัขที่มีขนยาว และขนของมันจะเป็นแบบสองชั้น แต่ปริมาณการผลัดขนคงมันจะไม่ค่อยมากนัก จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบสุนัขที่ขนร่วงเยอะ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ต้องการการดูแลขนเป็นประจำทุกสัปดาห์ เราควรนำหวีมาแปรงขนให้มันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ขนของมันไม่พันกันจนต้องไปตัดทิ้ง แล้วก็ควรตัดเล็บ ทำความสะอาดใบหู อาบน้ำ และเล็มขนส่วนเกินให้มันบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อสุขอนามัยที่ดีของมัน
การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม
อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอากาศในประเทศไทยร้อนมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เราจึงควรระวังเรื่องโรคลมแดดในสุนัขไว้บ้างก็ดี วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อน มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาโดนสุนัขตรงๆ ไม่ให้สุนัขวิ่งเล่นและทำกิจกรรมหนักๆ ในช่วงกลางวัน หมั่นเช็คว่าเรามีน้ำดื่มให้มันมากพอ แล้วอย่าลืมสุนัขทิ้งไว้บนรถยนต์ร้อนๆ ที่ดับเครื่องแล้ว
เราต้องคอยควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในระดับมาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับความอ้วนให้เจ้าตูบ ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่คุณสะดวกและเหมาะสมกับสุนัขของคุณ จะเป็นการทานอาหารปกติทั่วไป ทานอาหารแบบบาร์ฟ หรือจะเป็นอาหารแบบเม็ดหรือแบบเปียกสำหรับสุนัขก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอาหารแบบใด เราก็ต้องให้มันทานในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดตัว และเราควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มันทานขนมของมนุษย์ที่มีแคลอรี่และโซเดียมสูงมากเกินไป เราแนะนำว่าให้ใช้ขนมที่ทำมาสำหรับสุนัขโดยเฉพาะจะดีกว่า และคุณก็ต้องศึกษาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ห้ามให้สุนัขทาน
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Tibetan Terrier
- โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ สุนัขไม่ค่อยอยากเคลื่อนไหว เดินกะเผลก ดูมีความเจ็บปวดและไม่มีแรงที่ขาหลัง และกล้ามเนื้อขาหลังลีบลง ถึงแม้ว่ามันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ โดยการคอยควบคุมน้ำหนักตัวของมันไม่ให้ตัวหนักจนเกินไป ส่วนเรื่องพื้นที่ในการอยู่อาศัย เราไม่ควรให้สุนัขไปอยู่บนพื้นที่ลื่นและมีความมันวาวอย่างพื้นหินอ่อน เพราะมันอาจจะทำให้เจ้าตูบลื่นล้มจนเป็นต้นตอของปัญหาสะโพก
- โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ซึ่งจะทำให้สุนัขมองเห็นได้ไม่ค่อยดีในที่มืด และเริ่มมีปัญหาเรื่องการมองเห็น
- ภาวะไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism): เกิดจากการที่สุนัขมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าระดับทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย
นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเกิดโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น
- โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
- โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
- โรคอ้วน (Obesity)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- ไตวาย (Kidney Failure)
- โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- โรคลมแดด (Heatstroke)
- โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองในสุนัข (Pyoderma)
- กลากเกลื้อน (Ringworm)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Tibetan Terrier
- มันมีความขี้เล่น ซุกซน และร่าเริงในระดับที่กำลังน่ารัก
- มีความใจดี ซื่อสัตย์ และรักผู้คนในครอบครัว
- ระดับพลังงานของมันไม่ค่อยสูง จึงไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนักๆ
- มันมีความสามารถในการเห่าเฝ้าบ้านที่ดี
- ขนของมันต้องการการดูแลเป็นประจำเพื่อให้ขนไม่ติดพันกัน
Tibetan Terrier เหมาะกับผู้ที่
- ชอบสุนัขขนาดค่อนข้างเล็ก
- มีเวลาอยู่ร่วมกับมัน ดูแลขน และมีปฏิสัมพันธ์กับมันเป็นประจำ
- ต้องการจะเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน
- ชอบสุนัขที่ไม่ซุกซนจนเกินพิกัด
- ชอบสุนัขที่ขนไม่ร่วงมากเกินไป
คำถามที่พบบ่อย
- เลี้ยงในคอนโดได้ไหม: สามารถเลี้ยงในคอนโดได้
- เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่นได้ไหม: เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่น และแมวตัวอื่นได้
- เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: เลี้ยงกับเด็กๆ ในครอบครัวได้ดี
- เฝ้าบ้านได้ไหม: เห่าเฝ้าบ้านได้ดีมาก
- เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: เหมาะกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย
เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
110+ ชื่อสุนัขสีขาว ที่เข้ากันกับขนขาวสะอาดของเจ้าตูบ
100+ ชื่อสุนัขสีดำ ที่ฟังดูมีเสน่ห์และเข้ากันกับสีขนเข้มๆ ของเจ้าตูบ
แมวสฟิงซ์ (Sphynx cat) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมว
ฮอลแลนด์ลอป (Holland Lop) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลกระต่าย
ของใช้แมว แบบไหนดีและคนเลี้ยงแมวต้องมีบ้าง ปี 2023
นกกาลาห์ (Rose-Breasted Cockatoo) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
นกแก้วหัวเหยี่ยว (Hawk Headed Parrot) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
110+ ชื่อสุนัขสีน้ำตาล ที่ฟังดูเข้ากันกับสีขนของเจ้าตูบ