นกซันคอนัวร์ (Sun conure) มันเป็นนกแก้วจากทวีปอเมริกาใต้ที่มีสีส้มเหลืองสวยงามราวกับดวงตะวันยามเย็น มาพร้อมกับความมีชีวิตชีวาที่จะทำให้วันของคุณสดใสขึ้น มาทำความรู้จักกับมันกัน
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย
ข้อมูลทั่วไปของนกซันคอนัวร์
- น้ำหนัก: 100 – 120 กรัม
- อายุขัย: 15 – 30 ปี
- ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
- ความยาวตัว: 25 – 33 ซม.
- ถิ่นกำเนิด: ทวีปอเมริกาใต้
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Aratinga solstitialis
- ลักษณะเฉพาะ: ดวงตากลมโต หางค่อนข้างยาว สีตัวเหมือนพระอาทิตย์ในยามอัสดง มีสีเขียวแซมที่ปีกส่วนล่างและหาง
ประวัติของนกซันคอนัวร์
นกแก้วสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในนกแก้วตระกูล Conure มันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณป่าเขตร้อนที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่มันจะอยู่ทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้อย่างชุกชุมเป็นพิเศษ ซึ่งจะอยู่ในบริเวณประเทศเวเนซุเอลาและบราซิล พวกมันมักจะอาศัยอยู่ที่ป่าปาล์มและพื้นที่ที่เต็มไปด้วยผลไม้ซึ่งเป็นอาหารของมัน ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการนำนกสายพันธุ์นี้ไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก จนประชากรของพวกมันในป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการสูญเสียป่าที่อยู่อาศัย มันจึงเป็นนกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในป่าแล้ว แต่ก็มีการเพาะพันธุ์มันข้างนอกป่าอยู่เรื่อยมา จนกลายเป็นนกเลี้ยงที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
ข้อควรระวัง
ก่อนเลี้ยงนกควรต้องศึกษาเรื่องกฎหมายก่อน ในปัจจุบันนกบางสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ใน CITES บัญชีหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งแต่ละบัญชีก็จะมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ซึ่งคุณต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าในปัจจุบันนกสายพันธุ์นี้อยู่ที่ CITES บัญชีไหนหรือไม่ มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อขายครอบครองนกสายพันธุ์นี้ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อนกที่ถูกดักจับจากป่าอย่างผิดกฎหมาย
ลักษณะนิสัยของนกซันคอนัวร์
มันเป็นนกแก้วที่มีความขี้เล่น ซุกซน พลังงานสูง มีชีวิตชีวา และขี้สงสัย แถมมันยังมีความฉลาดเฉลียว มีความสามารถในการจดจำที่ดี จึงสามารถนำมันมาฝึกกลเม็ดต่างๆ ให้มันได้เรียนรู้ ถ้ามันได้ฝึกการเข้าสังคมกับมนุษย์มาดีพอ มันจะเป็นนกที่มีความอ่อนโยน น่ารัก เชื่อง และมีความเป็นมิตรสูง มันชอบอยู่ท่ามกลางความสนใจจากคนในครอบครัวและต้องการการเข้าสังคม ผู้เลี้ยงจึงควรมีเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับมันบ้าง แต่ถ้าหากมันรู้สึกว่าถูกคุกคามมากเกินไปมันก็อาจจะแสดงความก้าวร้าวเพื่อป้องกันตัวได้เช่นกัน
การพูดคุยและส่งเสียง
มันจะส่งเสียงร้องของมันสื่อสารกับเพื่อนของมันที่อยู่ระยะไกล นกสายพันธุ์นี้จึงมีเสียงร้องที่ดังและแสบแก้วหูมากๆ โดยเฉพาะตอนที่มันร้องเรียกเมื่อมันเบื่อและต้องการความสนใจจากเจ้าของ ซึ่งมันอาจจะไปรบกวนคนในบ้านและเพื่อนบ้านได้ มันจึงไม่เหมาะสำหรับการนำไปเลี้ยงในหอพักเล็กๆ ที่เพื่อนบ้านอาศัยอยู่ใกล้กัน ส่วนเรื่องการเลียนแบบเสียง มันสามารถเลียนแบบเสียงมนุษย์และเสียงรอบๆ ตัวได้ แต่ว่าคำที่มันพูดออกมาอาจจะไม่ค่อยชัดเจนมากนัก
ลักษณะภายนอกและความหลากหลายของนก
สีและลักษณะภายนอก
สีขนของนกสายพันธุ์นี้จะเป็นสีเหลืองอมส้ม จะมีความอมส้มมากขึ้นบริเวณใบหน้ารอบดวงตาและท้อง ซึ่งดูเหมือนสีพระอาทิตย์ที่กำลังตกดิน มันจะมีขนสีเขียวบริเวณปีกส่วนล่างและหาง และอาจจะมีสีน้ำเงินเล็กน้อยที่ปลายปีกและปลายหาง
การดูแลนกซันคอนัวร์
การดูแลด้านอาหารการกิน
เราสามารถซื้ออาหารเม็ดสำหรับนกให้น้องทานได้เลย แนะนำว่าให้เป็นสูตรที่มีส่วนผสมของธัญพืชและผลไม้อบแห้ง เพื่อให้นกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเราสามารถให้มันทานควบคู่ไปกับอาหารสดชนิดต่างๆ เพื่อเสริมสารอาหาร สัดส่วนอาหารเม็ดกับอาหารสดก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสม อาหารสดดังกล่าวสามารถเป็นผัก ผลไม้ หรือธัญพืชชนิดต่างๆ ก็ได้ เช่น เมล็ดทานตะวัน, มะละกอ, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), คะน้า, ผักโขม, กล้วย และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ อาหารที่มีไขมันสูงอย่างเมล็ดทานตะวัน ควรให้มันทานในปริมาณที่พอดี ถ้าหากว่ามันทานอาหารไขมันสูงเหล่านี้มากไป มันอาจจะทำให้นกน้ำหนักเกินได้ ถ้าน้องทานอาหารสดเหล่านี้ไม่หมดก็ควรเอาออกมาเปลี่ยน ไม่ควรให้น้องทานอาหารค้างคืนที่อาจจะบูดแล้ว ถ้าน้องทานอาหารบูดเหล่านั้นเข้าไป น้องอาจจะป่วยได้ (ถ้าเป็นลูกนกต้องให้อาหารชงสำหรับลูกป้อนโดยเฉพาะก่อน)
การดูแลขนและความสะอาด
โดยปกตินกจะเป็นสัตว์ที่คอยดูแลความสะอาดและจัดแต่งขนตัวเองเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลความสะอาดของน้องมากนัก แต่ถ้าหากว่าน้องเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น เราสามารถนำกะละมังหรือถาดน้ำที่มีน้ำตื้นๆ ให้มันเล่นและอาบน้ำตัวเอง หรือจะเป็นการเปิดก๊อกน้ำเบาๆ ให้น้องเข้าไปอาบน้ำทำความสะอาดตัวเองก็ได้
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
กรงของมันไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป กรงควรมีขนาดใหญ่มากพอที่จะมีพื้นที่ให้มันเล่นบ้าง ที่ที่ตั้งกรงของน้องควรไม่มีแดดแรงส่องถึง ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท และผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลความสะอาดของกรงนกอย่างสม่ำเสมอ ในกรงควรมีคอนให้นกยืนเกาะ และควรนำของเล่นสำหรับนกชนิดต่างๆ เช่น ของเล่นที่ทำจากไม้ คอนที่ทำจากเชือก และอื่นๆ เข้าไปให้นกเล่นเพื่อคลายเหงา
การออกกำลังกายและอื่นๆ
เพื่อสุขภาพที่ดี นกก็ต้องการการออกกำลังกายเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่นกัน คุณสามารถนำน้องออกมาเล่นในห้องที่ปลอดภัยข้างนอกกรงบ้าง ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อให้มันได้ออกมาสำรวจโลกข้างนอกกรง ยืดเหยียดเส้นสาย และออกมาฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์กับคุณและผู้คนในบ้านบ้าง ซึ่งมีส่วนช่วยให้มันเชื่อง ไม่เหงา ไม่หดหู่ ไม่ก้าวร้าว และไม่เก็บกด หรืออาจจะพามันไปบินในที่ที่ปลอดภัยนอกบ้านบ้างก็ได้ แต่ทั้งนี้ ควรจะใส่เอี๊ยมหรือที่คล้องขานกเวลาพามันไปบินเพื่อป้องกันไม่ให้นกบินหายไป
ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Sun conure
- โรคจะงอยปากและขน (Psittacine beak and feather disease): เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ อาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ นกขนร่วงเยอะ จะงอยปากผิดรูปและแตก เซื่องซึม บินไม่ค่อยได้ ซึ่งมันอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ถ้านกคุณมีอาการเหล่านี้ ให้นำน้องไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับแยกนกตัวที่แข็งแรงออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
- โรคกระเพาะขยาย (Proventricular Dilatation Disease): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ นกจะตัวผอมลง น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง เซื่องซึม และอาเจียน แต่นกบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกระทั่งเริ่มอาการหนักแล้ว
- ไรในนก (Bird Mites): ไรในนกนั้นร้ายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้นกของคุณเสียชีวิตได้ และยังสามารถสร้างความรำคาญให้กับมนุษย์อีกด้วย อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ นกจะน้ำหนักตัวลดลง ขนยุ่ง และน้องจะกัดขนและตกแต่งขนบ่อยผิดปกติ ขนร่วง และผิวหนังเป็นแผล วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หมั่นรักษาความสะอาดกรงของน้อง ไม่ให้กรงของน้องมีความอับชื้น และไม่ให้น้องเข้าใกล้นกจากธรรมชาติตัวอื่น โดยเฉพาะนกพิราบ ที่อาจจะมีไรนกติดมาด้วย
- โรคซิตาโคซิส (Psittacosis): หรือที่เรียกกันว่า “โรคไข้นกแก้ว” มันเป็นโรคที่สามารถติดจากนกและสัตว์ปีกอื่นๆ สู่คนผ่านการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ นกที่อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเซื่องซึม ถ่ายบ่อย ไม่ค่อยทานอาหาร และมูลนกจะมีสีแปลกไปจากปกติ
Sun conure เหมาะกับผู้ที่
- ไม่มีปัญหากับเสียงร้องดังๆ ของมัน
- ชอบนกที่มีความอ่อนหวาน เป็นมิตร
- ชอบนกสีเหลืองส้มสดใส
- ไม่ได้อยู่ในห้องพักหรือคอนโนมีเนียม
- มีเวลาอยู่ร่วมกัน ให้ความสนใจ และดูแลมัน
คำถามที่พบบ่อย
- น้องชอบให้ลูบจับไหม: ขึ้นอยู่กับนกแต่ละตัว นกบางตัวจะชอบให้คนที่มันรักมาลูบจับ แต่บางตัวก็จะมีความหวงตัวบ้าง
- ฝึกน้องให้เชื่องยังไง: หมั่นให้น้องเข้าสังคมกับคนในบ้าน คอยเรียกชื่อน้อง พูดคุยกับน้องตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้น้องจำคุณได้ และอาจจะใช้อาหารมาเป็นตัวล่อให้นกเข้ามาทานอาหารบนฝ่ามือของคุณเพื่อสร้างความคุ้นเคย
- มีน้องขายในไทยไหม: มีขายในไทย สามารถหาซื้อได้เลย
เรื่องนกๆ ที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
มอลทิพู (Maltipoo) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
อิงลิช เซตเทอร์ (English setter) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
9 สายจูงแมว สายรัดอกแมว แบบไหนดีและรีวิวปังบ้าง ปี 2023
ฮอลแลนด์ลอป (Holland Lop) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลกระต่าย
10 อาหารแมวถูกและดี มียี่ห้อไหนบ้างที่ปริมาณคุ้มค่ากับราคา ปี 2023
สุนัขกินขี้เข้าไปเพราะอะไร มาคลายความสงสัยกัน
10 อาหารสุนัขชิสุ ยี่ห้อไหนดีและช่วยบำรุงขนให้นุ่มสวย ปี 2023
สุนัขกินไข่เจียวได้ไหม และทางเลือกอื่นในการให้สุนัขกินไข่