กระต่ายซิลเวอร์ฟอกซ์ (Silver Fox rabbit) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายตัวใหญ่หายากจากประเทศอเมริกา ที่มีขนสีเงินสวยงามมาแซมอยู่ทั่วตัว มาทำความรู้จักกับมันกัน
ข้อมูลทั่วไปของกระต่ายซิลเวอร์ฟอกซ์
- ขนาดตัว: ใหญ่
- น้ำหนัก: 4 – 5.4 กก.
- อายุขัย: 7 – 12 ปี
- ความยาวขน: สั้น
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศสหรัฐอเมริกา 🇺🇸
- ความต้องการการเอาใจใส่: ปานกลาง
- รูปแบบขน: No Flyback (เมื่อลูบขนย้อนแนว ขนจะตั้งตรง และไม่คืนกลับไปที่แนวเดิม)
- ลักษณะเฉพาะ: หูตั้งขนาดปานกลาง ดวงตากลมโต ตัวใหญ่ ดูเจ้าเนื้อ มีสีขนมี่มีสีเงินแซม
ประวัติของกระต่ายซิลเวอร์ฟอกซ์
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่รัฐโอไฮโอ (Ohio) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1920 มีชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่มีชื่อว่าคุณ Walter B. Garland ได้ทำการนำกระต่ายสายพันธุ์ Checkered Giant, English Silver, และ Champagne D’Argent มาผสมพันธุ์เข้าด้วยกัน ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นกระต่ายตัวสีเข้มที่มีขนสีเงินแซมอันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือกระต่ายพันธุ์ Silver fox นั่นเอง โดยในตอนแรกชาวอเมริกันเรียกมันว่า “American Silver Heavyweight” แล้วจึงค่อยมีการเปลี่ยนชื่อให้อ่านและจดจำง่ายขึ้นในภายหลัง
มันได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Rabbit Breeder’s Association (ARBA) ในปี ค.ศ. 1925 ในช่วงยุคสมัยนั้น กระต่ายสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมพอสมควร และผู้คนมักจะนำมันไปโชว์ตัวในงานแสดงกระต่าย แต่ในยุคปัจจุบัน มีกระต่ายสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเข้ามาเยอะขึ้น จึงทำให้ความนิยมของมันลดลงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นกระต่ายที่หายากมากๆ เสียแล้ว
ลักษณะนิสัยของกระต่ายซิลเวอร์ฟอกซ์
ถ้าหากว่ามันได้รับการฝึกให้เข้าสังคมตั้งแต่ยังเป็นลูกกระต่าย มันจะเป็นกระต่ายที่ไม่ก้าวร้าว เชื่อง อ่อนโยน อ่อนหวาน และมีความเป็นมิตรสูง มันสามารถเข้ากันได้ดีกับกระต่ายตัวอื่นและคนทุกเพศทุกวัย มันชอบให้เหล่าคนในครอบครัวมาอยู่ร่วมกับมัน ให้ความสนใจมัน และทำกิจกรรมร่วมกับมัน จึงเหมาะกับการเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับครอบครัวเป็นอย่างมาก แต่ทั้งนี้ กระต่ายแต่ละตัวก็อาจจะมีนิสัยเฉพาะตัวที่ต่างกันออกไป
ความหลากหลายของสีกระต่าย
สีขน
สีขนของกระต่ายสายพันธุ์นี้สามารถเป็นสีดำ, น้ำเงิน, ช็อคโกแลต, และสีลาเวนเดอร์ และจะมีขนสีเงินแซมที่สามารถเห็นได้จากภายนอก
Image source: ItsWolfeh, Wikimedia, CC BY-SA 3.0
การดูแลกระต่ายซิลเวอร์ฟอกซ์
การดูแลด้านอาหารการกิน
ผู้เลี้ยงกระต่ายมือใหม่บางท่านอาจจะคิดว่ากระต่ายทานแครอทเป็นอาหารหลัก แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของกระต่ายจะเป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งกระต่ายควรมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดอัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, ทิมโมธี, แอนเดอร์สัน หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ความเหมาะสมกับกระต่ายแต่ละตัวจึงแตกต่างกัน ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาคุณสมบัติของหญ้าแต่ละชนิด และเลือกหญ้าแห้งชนิดที่เหมาะกับกระต่ายของคุณมากที่สุด และผู้เลี้ยงต้องหมั่นเติมน้ำสะอาดให้มันดื่มมากพออยู่เสมอ
อีก 20-30% ที่เหลือนั้นควรเป็นผักและผลไม้ที่มาเสริมสารอาหารที่กระต่ายต้องการให้ครบถ้วน สามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น ขึ้นฉ่าย, หน่อไม้ฝรั่ง, คะน้า, แครอท, ผักกวางตุ้ง, ผักชี, ผักบุ้ง, ผักปวยเล้ง, ส้ม, กล้วย, แตงโม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้กระต่ายทาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารให้กับกระต่ายเท่านั้น เราไม่ควรให้กระต่ายทานอาหารเม็ดมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้
ผู้เลี้ยงสามารถเลือกสูตรที่เหมาะกับกระต่ายคุณได้เลย เช่น สูตรกระต่ายโต
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
ขนสั้นๆ ของมันนั้นดูแลรักษาง่ายมาก แค่นำที่แปรงขนมาหวีขนให้กับกระต่าย หรือจะใช้ถุงมือสำหรับหวีขนสัตว์เลี้ยงมาหวีให้มันอย่างเบามือ ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพื่อกำจัดขนตาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวน้องออกมาให้หมด การหวีขนให้น้องมีข้อดีมากกว่าที่คุณคิดนะ การหวีขนให้มันสามารถช่วยลดโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งเกิดจากการที่กระต่ายเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายเหล่านี้ที่ติดอยู่ในตัวมันเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดรอบดวงตาและใบหูให้มันบ้าง ด้วยการนำผ้าขนหนูสะอาดที่ชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดทำความสะอาดตามจุดต่างๆ ดังกล่าวอย่างเบามือ
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
เพื่อความปลอดภัยของกระต่าย เราแนะนำให้เลี้ยงมันในกรงหรือในพื้นที่ที่กั้นไว้ให้มันอยู่โดยเฉพาะ เราควรเลี้ยงน้องอยู่ในกรงที่ไม่เล็กมากจนเกินไปจนทำให้มันอึดอัด หรือจะเป็นการล้อมคอกให้มันอยู่เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน แต่ทั้งนี้ ที่อยู่ของมันต้องสะอาด ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท ผู้เลี้ยงต้องคอยทำความสะอาดที่ที่มันอาศัยอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญ ที่ที่มันอยู่ต้องไม่ร้อนเกินไปและไม่มีแดดแรงๆ มาโดนกระต่ายโดยตรง เพราะถ้าหากที่อยู่ของมันร้อนมากจนเกินไปอาจจะทำให้กระต่ายป่วยเป็นลมแดดได้ และอย่าลืมที่จะนำของเล่นชนิดต่างๆ เช่น ลูกบอลสำหรับกระต่าย เข้าไปให้น้องเล่นแก้เบื่อ
การดูแลเรื่องการเข้าสังคม
กระต่ายนั้นต้องการการเข้าสังคม ผู้เลี้ยงจึงควรแวะมาเยี่ยมเยียน ดูแลมัน เล่นกับมัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน และลดโอกาสที่มันจะกัด ถีบ และหนีคุณ ควรมีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันเพื่อไม่ให้มันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากจนเกินไป นอกจากนี้ ควรปล่อยมันออกมาวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กระต่ายมีสุขภาพแข็งแรงและช่วยปลดปล่อยความเครียดให้มัน แต่ทั้งนี้ ผู้เลี้ยงต้องคอยระวังไม่ให้มันไปแทะสายไฟในบ้าน เพราะมันอาจจะเป็นอันตรายกับน้องได้
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Silver Fox rabbit
- โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
- ฟันยาว (Overgrown Teeth)
- มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
- อาการหัวเอียง (Head Tilt)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
- ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
- โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
- ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
- ไรในหู (Ear mites)
- โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)
- โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
- โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
- โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)
Silver Fox rabbit เหมาะกับผู้ที่
- ชอบกระต่ายขนาดใหญ่
- ชอบกระต่ายขนสั้น
- ชอบกระต่ายที่เชื่อง และเป็นมิตร
- มีพื้นที่ในการเลี้ยงกระต่ายพอสมควร
- มีสมาชิกในครอบครัวคนอื่น เด็กๆ และกระต่ายตัวอื่นในบ้าน
- สามารถแบ่งเวลามาดูแลมัน ปล่อยมันออกมาเดินเล่น และทำกิจกรรมร่วมกับมันบ้าง
คำถามที่พบบ่อย
- ปัญหาสุขภาพเยอะไหม: โดยปกติมันเป็นกระต่ายที่สุขภาพดี ไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพ
- หายากไหม: ยังเป็นกระต่ายที่หายากมากในปัจจุบัน
เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ
Featured Image Source: Kwinterperez, Wikimedia, CC BY-SA 4.0
อ่านเรื่องไหนต่อดี
บริติช ลองแฮร์ (British Longhair) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมว
แมงซ์ (Manx) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมวหางกุด
13 สายพันธุ์สุนัขสีขาว ที่ดูสะอาดสะอ้านและดูนุ่มฟูราวกับก้อนสำลี
ถุงเก็บอึหมาแมว แบบไหนดีและเหนียวทนทานบ้าง ปี 2023
8 แปรงหวีขนสุนัข แบบไหนดีและคนชอบใช้กันบ้าง ปี 2023
อาคิตะ อินุ (Akita Inu) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัขสายพันธุ์จากญี่ปุ่น
ขนมฟรีซดรายสุนัข ยี่ห้อไหนดีและคนรักเจ้าตูบชอบใช้ ปี 2023
8 ชามข้าวสุนัข แบบไหนดีและคนชอบใช้บ้าง ปี 2023