สก็อตติช เทอร์เรียร์ (Scottish Terrier) เป็นสายพันธุ์สุนัขตัวเล็กจากประเทศสกอตแลนด์ ที่มีขนยาวๆ ปกคลุมทั่วร่างกาย แล้วนิสัยของมันเป็นยังไงบ้าง ต้องดูแลฝึกสอนมันอย่างไรบ้าง สามารถมาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย
ข้อมูลทั่วไปของสก็อตติช เทอร์เรียร์
- ขนาดตัว: เล็ก
- ความสูง: 24 – 28 ซม. วัดจากหัวไหล่
- น้ำหนัก: 8 – 10 กิโลกรัม
- อายุขัย: 12 – 15 ปี
- ความยาวขน: ยาว
- ความฉลาด: ค่อนข้างฉลาด
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศสกอตแลนด์ 🏴
- การเอาใจใส่ตัวสุนัข: สูง
- ปริมาณการผลัดขน: น้อย
- ลักษณะเฉพาะ: ตัวเตี้ย ลำตัวค่อนข้างยาว ดวงตากลมโต หางตั้ง ปากยาว หูตั้ง ที่ปากมีขนยาวๆ ราวกับว่ามันมีหนวด
ประวัติของสก็อตติช เทอร์เรียร์
ระยะเวลาที่เกิดและบรรพบุรุษของสุนัขสายพันธุ์นี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่ผู้คนเชื่อว่าเจ้าสก็อตตี้เป็นสุนัขในตระกูล Terrier ที่เก่าแก่ที่สุดอีกสายพันธุ์หนึ่งในสกอตแลนด์ มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการจับหนู สุนัขจิ้งจอก ตัวแบดเจอร์ กระต่าย และสัตว์ตัวเล็กชนิดอื่นๆ บนที่ราบสูง Scottish เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว มันไม่ได้อยู่แค่ในฟาร์มเท่านั้น ในศตวรรษที่ 17 พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงรับเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้อีกด้วย
ในปี ค.ศ.1883 สุนัขสายพันธุ์นี้ได้ถูกนำตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก และอีกสองปีต่อมามันก็ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการโดยสโมสร American Kennel Club ในช่วงปี ค.ศ.1930 เป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของเจ้าสก๊อตตี้ ผู้คนนิยมเลี้ยงมันเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น เหล่าประธานาธิบดีในอดีต เช่น Franklin D. Roosevelt ก็รับเลี้ยงมันเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันมันก็ยังเป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศอยู่ แต่เป็นที่ไม่นิยมเลี้ยงเท่ากับตอนยุคทองของมัน
ลักษณะนิสัยของสก็อตติช เทอร์เรียร์
มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีความเป็นมิตร ซื่อสัตย์ รักเจ้าของและผู้คนในครอบครัว ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของและผู้คนในครอบครัว ชอบอยู่ท่ามกลางพวกเขา ชอบใช้เวลากับผู้คนในครอบครัวและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับพวกเขา ไม่ชอบการถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน แต่กับคนแปลกหน้ามันจะระแวดระวังพอสมควร ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ทำความรู้จักคนแปลกหน้าระยะนึง
เนื่องจากว่ามันเป็นสุนัขที่ชอบเห่า และมีความตื่นตัวพอสมควร มันจะเห่าคนแปลกหน้าหรือสัตว์ตัวอื่นที่กำลังเข้ามาใกล้อาณาเขตของมัน แต่ในบางครั้ง มันอาจจะเห่าเยอะเกินไปบ้าง ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้เลี้ยงได้ จึงไม่เหมาะกับผู้ที่ชอบอยู่อย่างเงียบๆ สักเท่าไหร่
ความหลากหลายของสีสุนัข
สีตา
สุนัขสายพันธุ์แท้ส่วนมากจะมีตาโทนสีดำและโทนสีน้ำตาล
สีขน
มันเป็นสุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากนัก จะมีสีเทา, สีดำ, สีขาว, และสีเนื้อ
ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง
มันอาจจะเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับเด็กเล็กมากนัก มันจะเหมาะกับเด็กที่โตประมาณนึงแล้วมากกว่า บางทีมันอาจจะไม่ชอบให้เด็กๆ มาจับตัวมันตามใจชอบ มากอดมัน หรือเล่นกับมันแรงๆ มันอาจจะป้องกันตัวโดยการแสดงความก้าวร้าวใส่ แต่นิสัยนี้ของมันก็สามารถทำให้ทุเลาลงได้ โดยการให้มันอยู่กับเด็กๆ ในครอบครัวตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข และฝึกการเข้าสังคมให้มันเป็นประจำ แต่ทั้งนี้ก็ควรกำชับให้เด็กๆ เล่นกับมันให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี ไม่ล้ำเส้นมันมากจนเกินไป
มันเป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตรกับสุนัข และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เช่น แมว อีกด้วย มันสามารถกิน นอน เล่นหยอกล้อ และใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ตัวอื่นที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ ถ้าเป็นเด็กๆ สุนัข และสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ที่พึ่งจะเข้ามาในครอบครัว มันก็จะค่อนข้างระแวงและตีตัวออกห่างพอสมควร เราจึงต้องให้เวลามันค่อยๆ ทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยกับสมาชิกใหม่ จึงค่อยนำมันไปอยู่ร่วมกับพวกเขาทีหลัง
การดูแลสก็อตติช เทอร์เรียร์
การดูแลด้านการออกกำลังกาย
มันเป็นสุนัขที่ต้องการการออกกำลังกายเป็นครั้งคราว คุณควรจะมีเวลาในการพาเจ้าตูบไปเดินเล่น วิ่งเล่นบ้าง หรือไม่ก็ให้มันเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น การปาจานร่อนไปให้มันตามไปเก็บ สัก 20-30 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียดให้สุนัข และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพต่างๆ อยู่เคียงข้างคุณไปได้นานๆ
การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน
เนื่องจากว่ามันเป็นสุนัขที่ระแวงคนแปลกหน้า คุณควรฝึกการเข้าสังคมให้มันบ้าง ไม่ควรขังหรือทิ้งมันไว้ในที่แคบๆ ทั้งวันโดยไม่สนใจมันเลยเด็ดขาด เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขเครียด เก็บกด และมีความก้าวร้าวได้ คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันกับคนในครอบครัว รวมถึงให้มันไปพบปะกับผู้คนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขอยู่เสมอ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมให้เจ้าตูบ มีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจรับเพื่อนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นในตอนโตเต็มวัย และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเด็กๆ และสัตว์ตัวอื่นได้ดีขึ้นในอนาคต ส่วนเรื่องการฝึกสอนนั้นก็ควรฝึกสอนสิ่งต่างๆ ให้เจ้าตูบตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ฝึกสอนสุนัขให้เรียนรู้ได้ง่ายที่สุด แต่สุนัขบางตัวอาจจะต้องใช้เวลาสอนสักนิดนึง เนื่องจากว่ามันมีความดื้อดึงอยู่บ้าง
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
มันเป็นสุนัขที่มีขนยาว การดูแลขนจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ คุณควรใช้แปรงมาหวีขนให้มัน สักสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพื่อให้ขนของมันไม่พันกระจุกกันเป็นก้อน เพื่อเอาสิ่งสกปรกในขนมันออกมา และเพื่อหวีเอาขนตายที่อยู่ในตัวมันออกมาให้หมด หมั่นทำความสะอาดรอบดวงตาของมันโดยการนำสำลีชุบกับน้ำสะอาดหรือน้ำตาเช็ดตาสำหรับสุนัข แล้วก็นำไปเช็ดรอบๆ ดวงตาสุนัขด้วยความเบามือ รวมถึงมีการอาบน้ำ ตัดเล็บ ตัดขน ทำความสะอาดใบหูให้มันบ้าง ความถี่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสกปรกมอมแมมของตัวสุนัข
การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม
อย่างที่รู้กันดีว่าอากาศบ้านเราในหน้าร้อนมันร้อนแรงแผดเผาขนาดไหน เราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องฮีทสโตรกในสุนัขเด็ดขาด วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาตรงๆ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขใช้พลังงานเยอะเกินไปในช่วงกลางวัน มีน้ำดื่มให้มันมากพอ ไม่ทิ้งสุนัขไว้บนรถยนต์ร้อนๆ และเลือกเวลาในการพาสุนัขไปทำกิจกรรมนอกบ้านให้ดี ให้เลือกช่วงเช้าหรือช่วงเย็นแทนตอนกลางวัน
คุณควรควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes in dogs) ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานแบบบาร์ฟ (Barf) อาหารปกติทั่วไป หรือจะเป็นอาหารสำหรับสุนัขโดยเฉพาะก็แล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสม ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อไก่ ปลาทู ไข่ไก่ ตับ ข้าว มาคลุกเข้าด้วยกัน โดยไม่ปรุงแต่งเครื่องปรุงใดๆ เพิ่มลงไป สามารถให้ผลไม้ชนิดที่สุนัขทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับสุนัขของคุณได้เลย เช่น สูตรสุนัขเล็ก เป็นต้น ขนมที่เราทานกันควรให้มันทานแต่น้อย หรือเปลี่ยนเป็นขนมสำหรับสุนัขโดยเฉพาะจะดีกว่า มันจะมีแบบที่ช่วยทำความสะอาดฟันให้สุนัขด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปากของมัน
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Scottish Terrier
- โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation): มันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ในตัวสุนัขได้ โดยการควบคุมน้ำหนักตัวของมันให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสายพันธุ์ ด้วยการเอาใจใส่เรื่องโภชนาการของสุนัขให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดตัว ไม่ให้มันทานอาหารมากเกินความจำเป็น ไม่ให้มันทานอาหารและขนมสำหรับมนุษย์ที่มีแคลรอลี่สูงเกินไป รวมถึงคอยระวังไม่ให้สุนัขได้รับแรงกระแทกแรงๆ ที่ข้อเข่า เช่น การขึ้นลงบันไดแรงๆ
- ภาวะไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism): เกิดจากการที่สุนัขมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย
- โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น
- ต้อกระจก(Cataract): สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ
- กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
- โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
- โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroidism)
- กลากเกลื้อน (Ringworm)
- ฟันผุ (Tooth decay)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- ไตวาย (Kidney Failure)
- โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Scottish Terrier
- เป็นสุนัขที่รักเจ้าของและผู้คนในครอบครัว
- เป็นสุนัขที่ระแวงและไม่ค่อยชอบคนแปลกหน้า
- ไม่ค่อยเข้ากันกับเด็กเล็กสักเท่าไหร่ เหมาะกับเด็กโตมากกว่า
- ตัวเล็ก พกพาง่าย
- ต้องการการดูแลเรื่องขน
- ต้องการการฝึกให้เข้าสังคม
Scottish Terrier เหมาะกับผู้ที่
- ชอบสุนัขขนาดเล็ก
- มีเวลาพามันไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย อยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง
- ไม่มีเด็กเล็กภายในบ้าน
- มีสัตว์เลี้ยงตัวอื่นภายในบ้าน
- มีพื้นที่ในการเลี้ยงสุนัขจำกัด
- ผู้ที่ไม่มีปัญหากับสุนัขที่เห่าบ่อย
คำถามที่พบบ่อย
- เลี้ยงในหอพักได้ไหม: เลี้ยงได้สบายๆ
- ดุไหม: ไม่ค่อยดุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงและฝึกฝน
- เลี้ยงกับแมวได้ไหม: เลี้ยงกับแมวได้
- เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: เหมาะกับคนที่เป็นภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย
- เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: ไม่ค่อยเหมาะกับเด็กเล็ก เหมาะกับเด็กโตมากกว่า
- เฝ้าบ้านได้ไหม: เห่าเฝ้าบ้านได้ดี
เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
ปอมสกี้ (Pomsky) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
สุนัขกินอาหารคนได้ไหม วันนี้เรามีคำตอบ
ที่ฝนเล็บแมว ที่ลับเล็บแมว แบบไหนดีและรีวิวปัง ปี 2023
ด็อจ เดอ บอร์โดซ์ (Dogue de Bordeaux) ข้อมูล นิสัยและการดูแลสุนัข
มิเนเจอร์ อเมริกัน เชพเฟิร์ด (Miniature American Shepherd) นิสัยและการดูแล
10 อาหารแมวลดน้ำหนัก ยี่ห้อไหนดีและช่วยลดความอ้วนให้น้อง ปี 2023
กรงสุนัข แบบไหนดีและแข็งแรงทนทานบ้าง ปี 2023
เซลเกิร์ก เร็กซ์ (Selkirk Rex) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมว