หนูตะเภาเปรู (Peruvian Guinea Pig) มันเป็นหนูตะเภาสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีขนยาวนุ่มสลวยราวกับผมสวยๆ ของผู้หญิง มาพร้อมกับความมีชีวิตชีวาที่จะมาเติมสีสันในชีวิตคุณ มาทำความรู้จักมันในบทความนี้กัน
ข้อมูลทั่วไปของหนูตะเภาเปรู
- น้ำหนัก: 0.8 – 1.4 กก.
- อายุขัย: 5 – 8 ปี หรือมากกว่านี้
- ความยาวขน: ยาวมากๆ
- ถิ่นกำเนิด: เทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้
- ลักษณะเฉพาะ: มีขนยาวนุ่มสลวยที่ยาวจนถึงพื้น น้องไม่มีขวัญบนหัว แต่จะมี 2 ขวัญบริเวณก้น
ประวัติของหนูตะเภาเปรู
หนูตะเภาเปรูเป็นหนูตะเภาสายพันธุ์โบราณที่มีต้นกำเนิดที่บริเวณเทือกเขาแอนดีส (Andes) ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณประเทศเปรู อาร์เจนตินา และโบลิเวีย จึงได้มีการตั้งชื่อมันว่า Peruvian ตามถิ่นกำเนิดมันนั่นเอง ในช่วงศตวรรษที่ 16 ได้มีการนำหนูตะเภาสายพันธุ์ต่างๆ ไปยังประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานมากนัก หนูสายพันธุ์นี้ก็เริ่มได้รับความนิยมในยุโรป และก็ยังคงเป็นที่นิยมจนมาถึงยุคปัจจุบัน
ลักษณะนิสัยของหนูตะเภาเปรู
น้องเป็นหนูตะเภาที่มีความขี้เล่น มีชีวิตชีวา และขี้สงสัย ชอบที่จะเดินสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว มากกว่าการนอนเฉยๆ อยู่ในกรงทั้งวัน น้องยังมีความอ่อนหวาน อ่อนโบน และเป็นมิตรกับผู้คนรอบข้างและหนูตะเภาตัวอื่น น้องชอบใช้เวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่ไม่ชอบการอยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน การมีหนูตะเภาอีกตัวมาอยู่เป็นเพื่อนกับน้องจึงเป็นความคิดที่ดี นอกจากนี้ น้องยังเป็นหนูที่ค่อนข้างฉลาด สามารถนำมาฝึกสอนสิ่งต่างๆ ได้ง่าย
ความหลากหลายของสีหนูตะเภา
สีขน
หนูแกสบี้สายพันธุ์นี้มีสีขนให้เลือกไม่มากนัก เช่น สีส้ม, เทา, ช็อคโกแลต, ครีม, น้ำตาล, น้ำตาลแดง, ขาว, ดำ, และอื่นๆ หนูบางตัวจะมีขนสีเดียวกันทั้งตัว บางตัวจะมีถึง 2-3 สีในตัว

การดูแลหนูตะเภาเปรู
การดูแลด้านอาหารการกิน
อาหารหลักของหนูตะเภาเปรู ควรเป็นหญ้าแห้งชนิดต่างๆ ซึ่งเราแนะนำให้เป็นหญ้าแห้งทิโมธี สัดส่วนของหญ้าแห้งควรจะอยู่ที่ 80 – 90% ของปริมาณอาหารทั้งหมด ส่วนอาหารเม็ดเราควรให้น้องทานในสัดส่วนที่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารให้น้องเท่านั้น และเราควรเสริมอาหารสดชนิดต่างๆ ให้น้องบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินซี เพื่อเสริมสารอาหารให้มันบ้างและทำให้น้องไม่เบื่ออาหารมากจนเกินไป สามารถให้ผักผลไม้ชนิดต่างๆ ราวๆ 10% ของปริมาณอาหารทั้งหมด เพื่อเสริมวิตามิน เช่น ผักโขม, บรอกโคลี, ผักชีฝรั่ง, แครอท, หน่อไม้ฝรั่ง, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), ส้ม, เบอร์รี่, มะละกอ, และอื่นๆ ทั้งนี้ ควรให้ผักมากกว่าผลไม้ เพราะว่าผลไม้บางชนิดมีปริมาณน้ำตาลที่สูง ถ้าหากน้องทานอาหารสดไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมงก็ควรนำออกมาเปลี่ยนได้แล้ว ไม่ควรให้น้องทานอาหารที่ค้างคืนเหล่านี้เพื่อสุขภาพของตัวน้องเอง แต่ทั้งนี้ มีผักผลไม้บางชนิดที่หนูตะเภาทานไม่ได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องศึกษาเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่วันแรกที่รับน้องเข้ามาเลี้ยง
การดูแลขนและความสะอาด
น้องเป็นหนูแกสบี้ที่มีขนยาว การดูแลเรื่องขนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ผู้เลี้ยงควรนำแปรงมาหวีขนให้น้องอย่างเบามือ ประมาณสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้งหรือมากกว่านี้ เพื่อให้ขนของน้องไม่พันกันเป็นกระจุก และเพื่อช่วยกำจัดขนตาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวน้องออกมาให้หมด ไม่ควรมองข้ามเรื่องการแปรงขน เพราะว่าการแปรงขนสามารถลดโอกาสที่น้องจะเลียขนทำความสะอาดตัวเองจนขนตายเหล่านี้เข้าไปอุดตันที่ทางเดินอาหาร
ถึงแม้ว่าน้องจะสามารถทำความสะอาดตัวเองได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากน้องสกปรกมากจริงๆ เราก็ควรช่วยน้องทำความสะอาดตัวบ้าง ด้วยการนำผ้าขนหนูสะอาดมาชุบน้ำหมาดๆ แล้วนำมาเช็ดตัวให้น้องอย่างเบามือ รวมถึงมีการตัดเล็บให้น้องบ้าง อย่างน้อยเดือนนึงก็ควรตัดเล็บให้น้องสักครั้ง เพราะถ้าเราไม่ตัดเล็บให้น้อง น้องอาจจะมีปัญหาในการเดินเพราะเล็บที่ยาวเกินไปได้ และอาจจะมีการอาบน้ำให้น้องหากจำเป็นจริงๆ
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
เราแนะนำว่ากรงที่จะให้หนูตะเภาอยู่ควรมีความยาวประมาณ 100 ซม. หรือมากกว่านี้ ยิ่งกรงใหญ่ยิ่งส่งผลดีต่อตัวน้องเอง ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกกรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พื้นที่ในบ้านจะรองรับได้ ที่ตั้งของกรงของน้องนั้นต้องมีอากาศถ่ายเท ไม่มีแดดแรงส่อง ไม่ร้อน ไม่อบอ้าว และไม่อับชื้น ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลรักษากรงให้สะอาดอยู่เสมอ เราควรมีที่แอบให้น้องอยู่อาศัย เช่น บ้านไม้ หรืออุโมงค์ เพื่อให้น้องรู้สึกปลอดภัย เราแนะนำให้ใช้ขวดน้ำสำหรับหนูแทนจานน้ำแบบปกติ มันจะช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าหนูทำน้ำหกเลอะเทอะไปทั่วกรง
การออกกำลังกาย
หูแกสบี้ก็ต้องการการออกกำลังกายเหมือนกันกับมนุษย์ ถ้าหากว่าเจ้าหนูไม่ได้รับการออกกำลังกายมากพอ มันอาจจะทำให้หนูแกสบี้น้ำหนักเกิน เครียด และอาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างตามมาในภายหลัง เช่น โรคเบาหวาน ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของน้อง คุณจึงควรมีกรงขนาดใหญ่มากพอที่จะให้น้องวิ่งเล่นไปมา และอาจจะเอาน้องออกมาเล่นในพื้นที่ปลอดภัยข้างนอกกรงบ้างก็ได้ และอย่าลืมที่จะนำของแทะเข้าไปวางไว้ในกรง เช่น ไม้แทะจากธรรมชาติชนิดต่างๆ ลูกวอลนัท ของเล่นที่ทำจากไม้ และอื่นๆ เพื่อให้น้องแทะเล่นในกรง ซึ่งของแทะเหล่านี้สามารถลดโอกาสที่ฟันของน้องจะเติบโตเรื่อยๆ จนยาวผิดปกติ ซึ่งจะเป็นปัญหาสุขภาพในภายหลัง
การฝึกสอน
การที่หนูตะเภาแสดงท่าทีที่ไม่ค่อยไว้ใจคุณเมื่อพบกันครั้งแรกนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เนื่องจากว่าน้องยังไม่คุ้นเคยกับคุณและสภาพแวดล้อมรอบตัว ผู้เลี้ยงจึงต้องให้น้องทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ของมันสักพักหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยทำให้น้องคุ้นเคยกับคุณและคนในบ้าน โดยการนำอาหารวางไว้บนฝ่ามือเพื่อให้น้องเป็นฝ่ายเข้าหาคุณและผูกพันกับคุณ การมาให้น้องพบเห็นหน้าบ่อยๆ ก็มีส่วนช่วยให้น้องผูกพันกับคุณเร็วขึ้นเหมือนกันนะ
ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Peruvian Guinea Pig
- ฟันยาวผิดปกติ (Overgrown Teeth): ฟันของหนูตะเภาเปรูนั้นจะเติบโตขึ้นตลอด ถ้าหากว่ามันไม่ได้ใช้ฟันกัดแทะสิ่งต่างๆ มากพอ มันอาจจะส่งผลให้ฟันของมันยาวกว่าปกติจนเป็นปัญหาสุขภาพ เราจึงควรมีไม้แทะชนิดต่างๆ ให้น้องแทะเล่นในกรง
- โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (Respiratory diseases): ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที มันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ปวดบวม ปัจจัยที่ทำให้เจ้าหนูมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น คือความแออัดของที่ที่มันอยู่อาศัย ความเครียด อากาศไม่ถ่ายเท อุณหภูมิหนาวเย็นเกินไป และความอับชื้นสูง อาการที่สามารถสังเกตได้คือ หนูจะมีน้ำตาและน้ำมูกไหล เบื่ออาหาร หายใจติดขัด เซื่องซึม และต่อมน้ำเหลืองโต
- กลาก (Ringworm): เกิดจากการที่เจ้าหนูตะเภาติดเชื้อรา อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ หนูจะขนร่วงบางส่วน และมีสะเก็ดสีขาวแดงที่บริเวณนั้น ซึ่งกลากสามารถแพร่เชื้อไปยังหนูตัวอื่นและมนุษย์ได้ จึงอย่าลืมที่จะแยกหนูตัวอื่นออกจากหนูที่เป็นกลากก่อน และคุณควรสวมถุงมือเวลาจับหนูที่เป็นกลาก
- โรคขาดวิตามิน C (Vitamin C deficiency): สาเหตุเกิดจากการที่หนูขาดวิตามินซี เนื่องจากว่าน้องไม่สามารถผลิตวิตามิน C จากร่างกายตัวเองได้เหมือนสัตว์หลายๆ ชนิด และถ้าหากน้องได้รับวิตามินซีจากอาหารไม่เพียงพอ มันอาจจะทำให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน ผิวหนังและขนหยาบกร้าน อาหารไม่ย่อย และข้อบวม น้องต้องการปริมาณวิตามินซีราวๆ 10 – 50 มิลลิกรัมต่อวัน จึงนั้นจึงควรเสริมอาหารเม็ดและอาหารสดที่มีวิตามิน C ให้น้อง หรือจะให้อาหารเสริมวิตามิน C สำหรับหนูตะเภาโดยเฉพาะก็ได้
- ท้องเสีย (Diarrhea): ท้องเสียสามารถเกิดจากหลายๆ ปัจจัย เช่น ความเครียด สุขอนามัยที่ไม่ดี ติดเชื้อแบคทีเรีย และอื่นๆ สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากความไม่สมดุลของอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรตมากไป ไฟเบอร์ไม่เพียงพอ ปริมาณผลไม้มากไป และอื่นๆ จึงควรใส่ใจเรื่องการจัดความสมดุลของอาหารให้เหมาะกับน้อง เพื่อลดโอกาสที่น้องจะท้องเสีย
หนูตะเภาของคุณอาจจะพบเจอกับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยดูแลเรื่องอาหารการกิน ความสะอาด การออกกำลังกาย และสภาพความเป็นอยู่ของน้อง เพื่อลดโอกาสที่มันจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง รวมถึงคอยสังเกตและไม่ละเลยอาการผิดปกติต่างๆ ที่แสดงออกมา
Peruvian Guinea Pig เหมาะกับผู้ที่
- มีความเบามือ ไม่รุนแรงกับสัตว์เลี้ยง
- ศึกษามาแล้วว่าหนูตะเภาห้ามกินอาหารประเภทไหน
- มีหนูตะเภาตัวอื่นมาอยู่เป็นเพื่อนน้อง
- ชอบหนูตะเภาขนยาวสลวย
- มีเวลามาดูแลขน และทำกิจกรรมร่วมกับน้องเป็นประจำ
คำถามที่พบบ่อย
- น้องชอบให้อุ้ม และลูบจับไหม: แล้วแต่นิสัยของหนูแกสบี้แต่ละตัว บางตัวให้จับตามปกติ แต่บางตัวอาจจะไม่ค่อยชอบให้จับตัวมันมากมายนัก
- ต้องดูแลเยอะไหม: มีหลายปัจจัยที่ต้องคอยควบคุมดูแลอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องขน ที่ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ
- น้องแตกต่างกับหนูตะเภาพันธุ์ Coronet ยังไง: หนูตะเภาพันธุ์ Coronet จะมีขวัญบนหัว แต่ว่าหนูตะเภาพันธุ์ Peruvian จะไม่มีขวัญอยู่บนหัว
เรื่องเพื่อนตัวจิ๋วที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
นกแก้วหัวเหยี่ยว (Hawk Headed Parrot) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
10 สายพันธุ์สุนัขขนสั้นขนาดกลาง ที่ทั้งดูแลง่าย และน่ารักน่ากอด
อาหารสุนัขโรคตับ ยี่ห้อไหนดีและช่วยดูแลสุขภาพตับของน้อง ปี 2023
10 อาหารแมว Meo แบบไหนดีและเหมาะกับน้องแมวของคุณบ้าง ปี 2023
สุนัขพันธุ์โบโลนีส (Bolognese) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
100+ ไอเดียตั้งชื่อสุนัขเรียกทรัพย์พารวย มีสี่ภาษาให้เลือก
10 วิธีลดความเครียดให้แมว และวิธีสังเกตว่าแมวมีความเครียด
แมวชาร์ทรู (Chartreux) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมว