ออตเตอร์ฮาวด์ (Otterhound) เป็นสายพันธุ์สุนัขตัวใหญ่จากอังกฤษ ที่มีขนที่ดูหยิกหยอย มีหน้าตาที่ดูน่ารัก น่าคบหาด้วย มาพร้อมกับนิสัยที่เป็นมิตรเอามากๆ แต่ว่ามันเป็นสุนัขที่หาซื้อยากเพราะว่าประชากรมันเหลือน้อยแล้ว ไปทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้นในบทความนี้กัน
ข้อมูลทั่วไปของออตเตอร์ฮาวด์
- ขนาดตัว: ค่อนข้างใหญ่
- ความสูง: 61 – 66 ซม. วัดจากหัวไหล่
- น้ำหนัก: ตัวเมีย: 30–41 กก. ตัวผู้: 41–50 กก.
- อายุขัย: 10-13 ปี
- ความยาวขน: ค่อนข้างยาว
- ความฉลาด: ปานกลาง
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศอังกฤษ 🇬🇧
- การเอาใจใส่: ปานกลาง
- ปริมาณการผลัดขน: ปานกลาง
- ลักษณะเฉพาะ: ขนหยัก ขนยาวรุงรังบริเวณในหน้าและปาก หน้าตามีความคล้ายกับ ปากยาวมาตรฐาน ตัวค่อนข้างใหญ่
ประวัติของออตเตอร์ฮาวด์
ต้นกำเนิดของสุนัขสายพันธุ์นี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่เชื่อว่ามันเป็นสุนัขที่สืบเชื้อสายจากสุนัขพันธุ์ Bloodhounds และสุนัขตระกูล French hound ที่มีขนยาว ในช่วงศตวรรษที่ 18 การล่าสัตว์เป็นงานอดิเรกที่นิยมในประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าการล่าสัตว์บนบกจะเป็นที่นิยมกว่า แต่ก็มีการล่าสัตว์ที่อยู่ในน้ำด้วย หนึ่งในนั้นคือนาก ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินปลาเป็นอาหาร ซึ่งในยุคสมัยนั้นมีจำนวนประชากรนากที่เยอะเกินไปซึ่งทำให้มันกินปลาในแม่น้ำจนเหลือน้อย เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้มีความสามารถในการดมกลิ่นที่ดี รูปร่างเท่าเหมาะแก่การว่ายน้ำ มีความอึด ว่ายน้ำได้นาน คนในประเทศอังกฤษจึงนำสุนัขสายพันธุ์นี้มาล่าตัวนาก จนมันเกิดเป็นกีฬาล่านาคขึ้นมา ในช่วงสั้นสุนัขสายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมในเหล่าขุนนาง ชนชั้นสูงชาวอังกฤษ รวมถึงควีนอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษก็เลี้ยงมันเช่นกัน จนในที่สุดก็มีการห้ามล่านากเพราะว่าประชากรของมันลดเร็วเกินไป
ในช่วงปี ค.ศ.1900 มันได้ถูกนำตัวไปยังสหรัฐอเมริกา แล้วก็เริ่มเป็นที่รู้จัก มันได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการจาก American Kennel Club ในปี ค.ศ.1991 แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยมเลย จนถึงยุคปัจจุบัน จำนวนประชากรของเจ้า Otterhound เหลือน้อยเหลือเกิน ซึ่งว่ากันว่ามันเหลือไม่ถึง 1,000 ตัวบนโลกนี้
ลักษณะนิสัยของออตเตอร์ฮาวด์
มันเป็นสุนัขที่นิสัยดี น่ารัก อ่อนโยน เป็นมิตรต่อผู้คนและสัตว์เลี้ยงรอบข้างมาก มันเป็นสุนัขที่มีความซุกซน ขี้เล่น พลังงานสูง ชอบการละเล่น ทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ที่บ้านทั้งวัน หากมันเบื่อมันอาจจะหาอะไรทำเพื่อแก้เบื่อ เช่น ทำลายข้าวของภายในบ้าน เป็นต้น เป็นสุนัขที่มีความดื้อดึง จึงค่อนข้างจะสอนยาก ต้องใช้เวลาและความอดทนสักนิดในการฝึกสอนอะไรสักอย่างให้กับมัน
ความหลากหลายของสีสุนัข
สีตา
ออตเตอร์ฮาวด์สายพันธุ์แท้จะมีสีตาโทนสีดำ และโทนสีน้ำตาล
สีขน
มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากนัก ส่วนมากจะมีสีโทนน้ำตาล เช่น สีดำ-แทน,สีน้ำตาลอ่อน-น้ำตาลเข้ม, สีขาว-น้ำตาล, และยังมีแบบ 3 สีใน 1 ตัว
ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
มันเป็นสายพันธุ์ที่มีความเป็นมิตรต่อเด็กๆ และผู้คนในครอบครัวเป็นอย่างมาก สามารถเป็นเพื่อนกับเด็กๆ ได้ดี มันมีความขี้เล่น ซุกซน พลังงานเยอะ สามารถเล่นกับเด็กๆ ได้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ มันสามารถทนต่อความแรงการเล่นของเด็กๆ ได้ดีเนื่องจากว่ามันตัวใหญ่แข็งแรง ควรระวังถ้าเป็นเด็กเล็กสักนิดนึง มันเป็นสุนัขที่ตัวใหญ่ แค่เผลอเดินชนเด็กตัวเล็กๆ ก็ล้มได้แล้ว ควรมีผู้ปกครองดูแลใกล้ๆ
มันสามารถอยู่ร่วมกับสุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น แมว ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน มันสามารถอยู่ร่วมกัน เล่นด้วยกัน กินด้วยกัน เป็นเพื่อนเล่นกันกับสุนัขตัวอื่นได้ แต่ถ้าเป็นคนหรือสัตว์ที่พึ่งรู้จักกัน มันก็ต้องใช้เวลาสักระยะในการทำความรู้จัก ทำความคุ้นชิน และปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกัน ถึงจะสามารถนำมันมาใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนใหม่ได้
การดูแลออตเตอร์ฮาวด์
การดูแลด้านการออกกำลังกาย
มันเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ต้องการการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คุณควรจะมีเวลาในการพาเจ้าตูบไปเดินเล่น วิ่งเล่นนอกบ้าน หรือไม่ก็ให้มันเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ออกแรงร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น การวิ่งไล่จับกับมัน สัก 30-40 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานที่มีในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียด และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพ ช่วยให้มันอยู่กับเราไปนานๆ
การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน
ถึงแม้ว่าโดยธรรมชาติมันจะมีนิสัยที่เป็นมิตรมากๆอยู่แล้ว แต่เราควรต้องฝึกการเข้าสังคมให้มัน มันเป็นสุนัขที่ไม่เหมาะกับการถูกขังมันไว้ในที่แคบๆ ทั้งวันโดยไม่สนใจมันเลย คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันคุ้นเคยและรักผู้คนในครอบครัว รวมถึงให้มันไปพบปะกับผู้คนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมกับผู้อื่น มีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจรับคนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นในตอนโตเต็มวัย สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ตัวอื่นได้ในตอนโต ส่วนเรื่องการฝึกสอน เราควรฝึกสอนสิ่งต่างๆ ให้มันตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อความง่ายและความรวดเร็วในการสอน
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
มันเป็นสุนัขมีขนยาว และมีขนสองชั้น ดังนั้นเราควรจะดูแลเรื่องขนให้มันบ้าง ด้วยการแปรงขนให้มันสักสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี เพื่อทำให้ขนของมันไม่พันกันเป็นกระจุก และเพื่อเอาขนตายที่ค้างอยู่ในตัวมันออกมา ช่วงที่มันผลัดขนก็ควรจะแปรงขนให้บ่อยกว่าเดิม และควรมีการอาบน้ำ ตัดเล็บ เล็มขน ทำความสะอาดมันบ้างหากว่าเจ้าตูบเริ่มสกปรกมอมแมม
การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม
พวกเราอยู่ในประเทศไทยเมืองร้อน เราก็ควรจะระวังเรื่องฮีทสโตรกในสุนัขบ้าง มันเป็นสุนัขจากเมืองหนาวที่มีขนยาว ดังนั้น เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาตรงๆ มีน้ำดื่มมากพอ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขทำกิจกรรม ออกแรงเยอะเกินไปในช่วงกลางวัน
พยายามควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน (Obesity) ด้วยการพาเจ้าตูบไปทำกิจกรรมและออกกำลังกายเป็นประจำ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานบาร์ฟ อาหารปกติทั่วไป หรือจะเป็นอาหารสำหรับสุนัขโดยเฉพาะก็ได้ ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อไก่ ไข่ไก่ ตับ ข้าว มาคลุกรวมกันโดยไม่ปรุงแต่งรสชาติใดๆ เพิ่มเติม สามารถให้ผลไม่ชนิดที่สุนัขทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับสุนัขของคุณได้เลย เช่น สูตรสุนัขใหญ่ เป็นต้น
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Otterhound
- กระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric dilatation-volvulus): เกิดจากการที่กระเพาะขยายตัวจากการสะสมของแก๊ส น้ำ หรืออาหาร และเกิดการบิดตัวขึ้นที่กระเพาะอาหาร มักจะเกิดกับสุนัขขนาดตัวค่อนข้างใหญ่
- โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): เป็นโรคภัยที่สุนัขสายพันธุ์นี้ และสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ตัวอื่นๆ ที่มีน้ำหนักตัวเยอะมักจะเจอ วิธีการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ในสุนัขก็คือเราต้องควบคุมน้ำหนักตัวของมันให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ ด้วยการพามันไปออกกำลังกาย วิ่งเล่นนอกบ้าน ทำกิจกรรมที่ใช้แรงอย่างสม่ำเสมอ และอีกส่วนนึงคือการเอาใจใส่เรื่องโภชนาการของสุนัขให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอควร
- หูอักเสบ (Ear infection): เป็นปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหูที่มักจะพบเจอกับสุนัขที่มีใบหูพับขนาดค่อนข้างใหญ่ อาการที่สามารถสังเกตได้คือ หูสุนัขมีกลิ่นเหม็น และสุนัขเกาหูบ่อยผิดปกติ การหมั่นทำความสะอาดใบหูสุนัขอย่างเบามือและถูกวิธีจะช่วยลดโอกาสที่สุนัขจะมีปัญหาสุขภาพนี้ได้
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น
- ต้อกระจก(Cataract): สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ
- กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
- โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
- จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
- โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
- โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองในสุนัข (Pyoderma)
- กลากเกลื้อน (Ringworm)
- โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Otterhound
- เป็นสุนัขที่รักเจ้าของ เด็กๆ และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น
- เป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตร
- เป็นสุนัขขนสองชั้น
- ไม่เหมาะกับการถูทิ้งอยู่ในที่แคบๆ ทั้งวัน
- ขี้เล่น ซุกซน พลังงานเยอะ
Otterhound เหมาะกับผู้ที่
- ชอบสุนัขขนาดใหญ่
- ชอบสุนัขขนหยิก
- มีเวลาอยู่ร่วมกัน พามันไปออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง
- มีพื้นที่ในการเลี้ยงพอสมควร
- มีงบประมาณในการเลี้ยงพอสมควร
- มีเด็กๆ และสัตว์เลี้ยงอื่นภายในบ้าน
คำถามที่พบบ่อย
- เลี้ยงในหอพักได้ไหม: ไม่แนะนำ
- ดุไหม: ไม่ดุ
- เลี้ยงกับแมวได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับแมวได้ดี
- เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับเด็กได้ดี
- เฝ้าบ้านได้ไหม: ไม่ค่อยเหมาะกับการเฝ้าบ้านสักเท่าไหร่
- เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: มันไม่ใช่สุนัขที่เหมาะกับคนเป็นภูมิแพ้มากนัก
เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
12 สายพันธุ์สุนัขอายุยืน ที่จะคอยอยู่เคียงข้างคุณไปนานๆ
หนูตะเภาซิลกี้ (Silkie Guinea Pig) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
ฟลอริดา ไวท์ (Florida White rabbit) ข้อมูล นิสัยและการดูแลกระต่าย
ลดความอ้วนแมวยังไงดี มาดูกันเลย
เครนเทอร์เรีย (Cairn Terrier) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
เบงกอล (Bengal) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมวสายพันธุ์นี้
10 สายรัดอกสุนัข แบบไหนดีและคนชอบใช้บ้าง ปี 2023
ตาข่ายแยกสุนัข รั้วกั้นสุนัข แบบไหนดีและไม่ต้องเจาะบ้าง ปี 2023