โอลด์ อิงลิช ชีพด็อก (Old English Sheepdog) ข้อมูล นิสัยและการดูแล

Old English Sheepdog
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

โอลด์ อิงลิช ชีพด็อก (Old English Sheepdog) เป็นสุนัขจากประเทศอังกฤษที่ตัวใหญ่ มาพร้อมกับขนยาวฟูที่มีความน่ากอดเป็นอย่างมาก มาทำความรู้จักกับมันกันเถอะ

ข้อมูลทั่วไปของโอลด์ อิงลิช ชีพด็อก

  • ขนาดตัว: ใหญ่
  • ความสูงจากไหล่: ตัวผู้: 56 – 62 ซม.  ตัวเมีย: 51 – 56 ซม.
  • น้ำหนัก: ตัวผู้: 32 – 45 กก.  ตัวเมีย: 27 – 36 กก.
  • อายุขัย: 10 – 12 ปี
  • ความยาวขน: ยาว
  • ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศอังกฤษ 🇬🇧
  • ปริมาณการผลัดขน: สูง
  • ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
  • ลักษณะเฉพาะ: ตัวใหญ่ๆ ของมันปกคลุมไปด้วยขนที่ยาวหยักและฟูฟ่องมากๆ ดวงตากลมโตน่ารัก

ประวัติของโอลด์ อิงลิช ชีพด็อก

สุนัขสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่ทางภาคตะวันออกในประเทศอังกฤษ สายพันธุ์ต้นกำเนิดของมันนั้นยังไม่ค่อยแน่ชัด และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าแท้จริงแล้วมันเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของสุนัขพันธุ์ใดกันแน่ ซึ่งก็จะมีทฤษฎีที่หลากหลายกันไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สิ่งที่แน่ๆ คือ ในช่วงศตวรรษที่ 19 มันถูกนำไปใช้งานเพื่อช่วยงานเกษตรกรในด้านต่างๆ เช่น การลากรถเกวียนที่บรรทุกอาหารและปศุสัตว์ไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยความแข็งแกร่งและความถึกทนของมัน มันจึงเริ่มมีชื่อเสียงในกลุ่มเกษตรกร
 
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำสุนัขที่มีเสน่ห์สายพันธุ์นี้ไปแสดงในงานแสดงสุนัขในอังกฤษ ซึ่งมันก็เป็นจุดที่น่าสนใจของผู้คนจำนวนมาก จึงได้มีการส่งตัวมันออกไปยังประเทศต่างๆ จนมันเริ่มมีชื่อเสียง และแล้ว มันก็ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Kennel Club (AKC) ในปี ค.ศ. 1888 จนมาถึงในยุคปัจจุบัน มันก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันดีของคนเลี้ยงสุนัขบางท่าน แต่มันอาจจะไม่เป็นที่นิยมมากนัก

ลักษณะนิสัยของโอลด์ อิงลิช ชีพด็อก 

ถ้ามันถูกเลี้ยงดูแลฝึกฝนมาอย่างถูกต้อง มันจะมีความอ่อนโยน อ่อนหวาน ใจดี เป็นมิตร ซื่อสัตย์ จงรักภักดี และรักเจ้าของ รวมถึงสมาชิกคนอื่นในครอบครัวด้วย แถมมันยังมีความขี้เล่น ซุกซน ร่าเริง และกระตือรือร้นในระดับที่กำลังพอดี มันจึงเป็นตัวสร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับคนในบ้าน และเนื่องจากว่ามันเคยเป็นสุนัขสำหรับดูแลฝูงปศุสัตว์มาก่อน มันจึงมีความหวงอาณาเขตอยู่บ้างและมีทักษะการปกป้องที่ดี แถมมันยังมีขนาดตัวที่ใหญ่กำยำ จึงสามารถนำไปเฝ้าบ้านได้

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

มันเป็นสุนัขที่มีตาโทนสีน้ำตาลดำ, สีฟ้า, และยังสามารถมีตาข้างละสี
 

สีขนและสีตัว

มันเป็นสุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากนัก เช่น สีน้ำเงิน-ขาว, เทา-ขาว, ขาวล้วน, น้ำเงินล้วน, น้ำเงินอมเทา-ขาว, ขาว-ดำ, บลูเมอร์เล่-ขาว (Blue Merle & White), และอื่นๆ
 

ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ถ้ามันถูกฝึกให้เข้าสังคมและถูกเลี้ยงดูมาอย่างถูกต้องตั้งแต่เด็ก มันจะใจดี รักใคร่ และมีความเป็นมิตรกับผู้คนภายในบ้าน รวมถึงเหล่าเด็กๆ ที่อยู่ร่วมกับมันมาตั้งแต่เป็นลูกสุนัขด้วย มันสามารถปกป้องเด็กๆ ในบ้านให้ปลอดภัย สามารถเล่นกับพวกเขาในเวลาที่เบื่อ และด้วยร่างกายที่แข็งแรงของมัน มันจึงสามารถรับมือกับแรงของเด็กได้อย่างสบายๆ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นมิตรกับสุนัขและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่มันคุ้นเคยด้วยแล้วเช่นกัน มันจะสามารถอยู่ร่วมกันกับเพื่อนสุนัขตัวอื่นได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ถ้ากับคนหรือสัตว์ตัวอื่นที่มันยังไม่คุ้นเคยด้วย มันก็อาจจะจะคอยระวัง ต่อต้าน และอาจจะแสดงความก้าวร้าวใส่ ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาสักพักในการทำความคุ้นเคยกับผู้นั้นก่อน ถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

การดูแลโอลด์ อิงลิช ชีพด็อก  

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

ถึงแม้ว่าระดับพลังงานของมันจะไม่ค่อยสูงมากนัก แต่มันก็ต้องการการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เราไม่ควรล่ามหรือขังมันในกรงแคบๆ ตัวเดียวทั้งวัน เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขเครียด เก็บกด อารมณ์แปรปรวน และอาจจะมีความก้าวร้าวได้ คุณควรจะแบ่งเวลามาพาเจ้าตูบไปเดินเล่นข้างนอก วิ่งเล่นออกกำลังกาย หรือจะให้มันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ออกแรงกับเด็กๆ ในครอบครัวก็ได้ เช่น การนำผ้าไปเล่นกับมัน เราแนะนำว่าระยะเวลาควรอยู่ที่ 30 – 50 นาทีต่อวัน หรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานที่มีในตัวเจ้าตูบ ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้มันไม่เบื่อ ไม่เครียด ไม่เก็บกด ไม่หดหู่ และเพื่อให้เจ้าตูบมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยบางอย่าง
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

สุนัขสายพันธุ์นี้จำเป็นต้องได้รับการฝึกให้เข้าสังคมเช่นกัน คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข  เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันแน่นแฟ้นกับพวกเขา รวมถึงให้มันไปเข้าสังคมกับคนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขอยู่เสมอ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมให้มัน มีส่วนช่วยให้มันสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นได้ดีมากขึ้น ส่วนเรื่องการฝึกสอนสุนัข ถึงแม้ว่ามันจะฉลาด แต่ในบางครั้งมันอาจจะมีความมั่นใจในตัวเองและดื้อรั้นบ้าง คุณจึงต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอในการสอนอะไรบางอย่างให้มัน
 

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

การดูแลขนและความสะอาดให้มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนาเอาการ เราควรนำแปรงมาหวีขนให้มันเป็นประจำเพื่อลดโอกาสที่ขนของมันจะพันกันเป็นก้อนจนต้องไปโกนขนส่วนนั้นทิ้ง และเพื่อช่วยกำจัดขนตายหรือสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในขนของมัน คุณควรมีการทำความสะอาดใบหน้า บริเวณรอบดวงตา และใบหูเป็นครั้งคราว มีการตัดเล็บ พามันไปตัดแต่งขนส่วนเกิน แปรงฟัน และอาบน้ำให้สุนัขบ้าง ความถี่ก็ขึ้นอยู่กับความสกปรกของตัวสุนัข โดยปกติเราควรอาบน้ำให้มันสักเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง แต่ถ้ามันชอบไปเล่นคลุกคลีกับสิ่งสกปรก เราก็สามารถอาบน้ำมันให้ถี่กว่าเดิม
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอากาศในประเทศไทยร้อนมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เราจึงควรระวังเรื่องโรคลมแดดในสุนัขไว้บ้างก็ดี วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อน มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาโดนสุนัขตรงๆ ไม่ให้สุนัขวิ่งเล่นและทำกิจกรรมหนักๆ ในช่วงกลางวัน มีน้ำสะอาดให้มันดื่มมากพอ และเลือกช่วงเวลาที่มีแดดอ่อนในการพาสุนัขไปออกกำลังกายนอกบ้าน

ผู้เลี้ยงต้องคอยควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในระดับมาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับความอ้วนให้เจ้าตูบ ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่คุณสะดวกและเหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานอาหารปกติทั่วไป ทานอาหารแบบบาร์ฟ หรือจะเป็นอาหารแบบเม็ดหรือแบบเปียกสำหรับสุนัขก็ได้ แต่เราต้องให้มันทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดตัว ไม่ให้มันทานมากเกินไปจนน้ำหนักเกินเกณฑ์ และคุณต้องศึกษาด้วยว่าอาหารชนิดใดที่เป็นพิษกับสุนัขตั้งแต่เนิ่นๆ

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Old English Sheepdog

  • โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): เป็นปัญหากระดูกที่มักจะพบในสุนัขตัวใหญ่ ถึงแม้ว่ามันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ ด้วยการคอยควบคุมน้ำหนักตัวของมันไม่ให้ตัวหนักจนเกินไป โดยการพามันออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน และคอยควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม
  • ภาวะไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism): เกิดจากการที่สุนัขมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าระดับทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย
  • กระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric dilatation-volvulus): เกิดจากการที่กระเพาะขยายตัวจากการสะสมของแก๊ส น้ำ หรืออาหาร และเกิดการบิดตัวขึ้นที่กระเพาะอาหาร ซึ่งมักจะเกิดกับสุนัขขนาดใหญ่
 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเกิดโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น

  • ต้อกระจก(Cataract)
  • ฟันผุ (Tooth decay)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • ไตวาย (Kidney Failure)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
  • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • โรคลมแดด (Heatstroke)
  • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
  • โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • กลากเกลื้อน (Ringworm)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Old English Sheepdog

  • มันมีความขี้เล่น ซุกซน ร่าเริงในระดับที่กำลังน่ารัก
  • มีความอ่อนโยนกับเด็กๆ และสมาชิกภายในบ้าน
  • มันต้องการการฝึกเข้าสังคมตั้งแต่เป็นลูกสุนัข
  • ขนยาวๆ ของมันมีความท้าทายในการดูแลรักษามาก

Old English Sheepdog เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบสุนัขขนาดใหญ่
  • ไม่มีปัญหากับขนที่ต้องการการดูแลเป็นประจำของมัน
  • มีเวลาอยู่ร่วมกับมัน และพามันไปออกกำลังกายบ้าง
  • มีพื้นที่ในการเลี้ยงสุนัขพอสมควร
  • ชอบสุนัขขนยาวฟูฟ่อง

คำถามที่พบบ่อย

  • เลี้ยงในคอนโดได้ไหม: ไม่เหมาะกับการเลี้ยงในคอนโดอย่างยิ่ง
  • มันก้าวร้าวไหม: ถ้าเลี้ยงดูมันแบบผิดๆ มันก็อาจจะมีความก้าวร้าวได้
  • เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: เลี้ยงกับเด็กๆ ในครอบครัวได้ดี
  • เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: ไม่เหมาะกับคนเป็นภูมิแพ้
  • เฝ้าบ้านได้ไหม: เฝ้าบ้านได้

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image