นิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล

นิวฟาวด์แลนด์
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

นิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) เป็นสายพันธุ์สุนัขจากประเทศแคนาดา ที่มีขนาดตัวที่ใหญ่มาก ขนฟูฟ่อง ดูน่าเกรงขาม แต่ว่ามันเป็นสุนัขที่มีนิสัยน่ารักมาก เป็นหมีใหญ่ใจดีของเหล่าเด็กๆ ทั้งหลาย มันเป็นสุนัขที่ยังไม่ค่อยเปผ้นที่รู้จักได้รับความนิยมในไทยสักเท่าไหร่ ดังนั้น มาทำความรู้จักกับมันให้มากกว่าเดิมกันเถอะ

ข้อมูลทั่วไปของนิวฟาวด์แลนด์ 

  • ขนาดตัว:  ใหญ่มาก
  • ความสูง: ตัวผู้: 69–72 ซม., ตัวเมีย: 63–66 ซม.
  • น้ำหนัก: เพศผู้: 65–80 กก., เพศเมีย: 55–65 กก.
  • อายุขัย:  8 – 10 ปี
  • ความยาวขน: ยาว
  • ความฉลาด:  ปานกลาง
  • ถิ่นกำเนิด:  นิวฟาวด์แลนด์, ประเทศแคนาดา 🇨🇦 
  • การเอาใจใส่: ปานกลาง
  • ปริมาณการผลัดขน: ปานกลางถึงสูง
  • ลักษณะเฉพาะ: ตัวใหญ่มาก หูพับ ขนยาว ปากสั้นใหญ่ หางตกที่เต็มไปด้วยขน สีขนมักจะเป็นสีดำ 

ประวัติของ นิวฟาวด์แลนด์

สุนัขสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดจากเกาะนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา มันยังเป็นคงที่ถกเถียงกันว่าต้นตอของมันคือสายพันธุ์ไหน หลายๆ คนคาดว่ามันเป็นสุนัขที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของสุนัข Great Pyrenees และ Black Retrievers เพราะทักษะการว่ายน้ำที่ดี มีความอึด แข็งแรง และเท้าที่มีพังผืดซึ่งเหมาะแก่การว่ายน้ำ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ผู้คนในนิวฟันด์แลนด์จึงใช้มันเป็นสุนัขที่ถูกนำไปใช้ช่วยงานชาวประมงในด้านต่างๆ เช่น ลากอวนจับปลา ช่วยผู้ที่จมน้ำ เป็นต้น แต่สุนัขพันธุ์นี้ก็ยังมีประชากรไม่มากนัก จนกระทั่งมันนี้ถูกนำตัวไปที่ประเทศอังกฤษบางส่วน และมันก็เริ่มเป็นที่รู้จักในเหล่าผู้ดีอังกฤษ แล้วก็ได้มีการนำตัวมันไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย และแล้วมันก็ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการจาก American Kennel Club ในปี ค.ศ. 1879 แล้วมันก็เริ่มได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ เหล่าคนดังหลายๆ คนเช่น Emily Dickinson, Lyndon B. Johnson, Robert F. Kennedy ก็เลี้ยงมันไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเช่นกัน
 
ในปัจจุบันก็ยังมีผู้คนเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้อยู่ แต่วันมันอาจจะไม่ค่อยมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ เป็นสุนัขที่หาซื้อในไทยค่อนข้างยาก ถ้าอยากรับเลี้ยงมันอาจจะต้องนำเข้ามันจากต่างประเทศ

ลักษณะนิสัยของเจ้าตูบ 

มันเป็นอีกหนึ่งในสุนัขที่ตัวใหญ่ยักษ์แต่ว่าใจดีมาก มันมีความอ่อนโยน สงบ ใจเย็น ไม่ก้าวร้าว เป็นมิตรต่อผู้คนและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ อย่างมาก สามารถผูกมิตรกับผู้คนและสัตว์เลี้ยงใหม่ๆ ได้รวดเร็ว มันยังมีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ เชื่อฟัง และรักเจ้าของเป็นอย่างมาก มันชอบใช้เวลาไปกับการอยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับคนที่มันรัก ไม่ชอบการถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวนานๆ โดยไม่ได้รับความใส่ใจเลย นอกจากนี้มันยังเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยจะเห่า มันจะไม่เห่าโดยที่ไม่จำเป็น จึงเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบสุนัขเห่าเยอะ 
 
มันมีความหวงอาณาเขตของมันอยู่บ้าง ถึงแม้ว่ามันจะไม่ค่อยเห่าในเวลาปกติ แต่ถ้ามันพบเจอคนและสัตว์แปลกหน้าที่พยายามจะก้าวเข้าไปในเขตแดนของมัน มันก็จะเห่าเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกไป ด้วยเสียงเห่าที่หนักแน่นและขนาดตัวที่ใหญ่ของมัน คงไม่มีใครกล้าที่จะบุกรุกเข้ามาในบ้านของคุณ

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

เจ้านิวฟาวด์แลนด์สายพันธุ์แท้จะมีสีตาโทนสีดำและโทนสีน้ำตาล

สีขน

มันเป็นสุนัขที่มีหลากหลายสีให้เลือก ส่วนมากจะเป็นสีโทนเข้มๆ เช่น สีดำล้วน, สีน้ำตาลช็อคโกแลตล้วน, สีเทาล้วน, สีดำและขาว, สีน้ำตาลและขาว สุนัขที่มีสองสีในตัวก็จะมีลวดลายขนที่แตกต่างกันออกไป

ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีความเป็นมิตรต่อเด็กๆ และผู้คนในครอบครัว เป็นอย่างมาก ไม่ดุ ไม่ก้าวร้าวต่อเด็กๆ และคนแก่ มันมีความสุขุม ใจเย็น ชอบอยู่กับผู้คน จึงสามารถนำมาอยู่ร่วมกับเด็กๆ ในบ้านได้อย่างดีเยี่ยม สามารถเป็นเพื่อนเล่นความเหงาให้กับเด็กๆ ได้ สามารถทนไม้ทนมือกับการละเล่นของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากว่ามันตัวใหญ่และแข็งแกร่งมากๆ เรียกได้ว่ามันเป็นพี่หมีใหญ่ใจดีสำหรับเด็กๆ
 
มันสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น แมว และสุนัขตัวอื่นได้ดี มันสามารถเป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับสัตว์ตัวอื่นได้ สามารถกินด้วยกับ นอนด้วยกับ ใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ตัวอื่นได้ดี แต่ถ้าเป็นสุนัข สัตว์เลี้ยงประเภทอื่น และเด็กๆที่พึ่งเคยเจอหน้ากัน เราก็ควรให้เวลามันค่อยๆ ทำความรู้จักและปรับตัวเข้าด้วยกันก่อน ถึงจะสามารถนำมาอยู่ร่วมกันได้

การดูแลนิวฟาวด์แลนด์ 

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

มันเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ต้องการการออกกำลังกายบ้างนิดหน่อย คุณควรจะมีเวลาในการพาเจ้าตูบไปเดินเล่น วิ่งเล่นนอกบ้าน หรือไม่ก็ให้มันเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคุณและคนในครอบครัวก็ได้ เช่น เล่นชักเย่อกับมัน สัก 20-30 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานที่มีในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียดให้สุนัข และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพ
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

มันเป็นสุนัขที่ไม่ชอบการถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังเป็นเวลานาน คุณควรจะมีเวลาอยู่ร่วมกับมันบ้าง ไม่กักขังมันให้อยู่ในที่แคบๆ ตัวเดียวทั้งวัน เพื่อให้มันไม่เครียด และเพื่อให้มันรักคุณและสบายใจที่จะอยู่ร่วมกับคุณ ถึงแม้ว่าปกติมันเป็นสุนัขที่เข้ากับคนง่ายอยู่แล้ว คุณก็ควรที่จะพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัขด้วย เพื่อให้มันคุ้นเคยและรักผู้คนในครอบครัว รวมถึงให้มันไปพบปะกับผู้คนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมกับผู้อื่น มีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจรับคนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ดีในตอนโต รวมถึงฝึกสอนสิ่งต่างๆ เช่น สอนให้มันรู้ลำดับชั้นในครอบครัว ตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข
 
 

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

มันเป็นสุนัขที่มีขนสองชั้น คุณควรจะดูแลเรื่องขนให้มันบ้าง ด้วยการแปรงขนให้มันสักอาทิตย์ละครั้งถึงสองครั้ง เพื่อให้ขนของมันไม่พันกันเป็นก้อนและเพื่อเอาขนที่ค้างอยู่ในตัวสุนัขออกมา ในช่วงที่มันผลัดขน เราก็ควรแปรงขนมันให้บ่อยขึ้นเพื่อกำจัดขนที่ค้างอยู่ในตัวมันออกมาให้หมด รวมถึงมีการอาบน้ำ เล็มขนอุ้งเท้า และตัดเล็บให้ตัวสุนัขบ้างเป็นครั้งคราวหากว่าตัวมันเริ่มสกปรก 
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

พวกเราอยู่ในประเทศไทยเมืองร้อน เราก็ควรจะระวังเรื่องฮีทสโตรกในสุนัขบ้าง เพราะว่ามันเป็นสุนัขที่ตัวใหญ่และขนเยอะ ดังนั้น เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป มีอากาศถ่ายเท ไม่มีแดดส่องลงมาตรงๆ มีน้ำดื่มมากพอ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขทำกิจกรรม ออกแรงเยอะเกินไปในช่วงกลางวัน
 

พยายามควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน (Obesity) ด้วยการพาเจ้าตูบไปทำกิจกรรมและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี ถ้าเป็นอาหารทั่วไป ก็ควรให้อาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อไก่ ปลาทู ตับ ข้าวเปล่า ผัก ไข่ ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติใดๆ มาคลุกรวมกัน และผลไม้ชนิดที่สุนัขสามารถทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม  ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับสุนัขของคุณได้เลย เช่น สูตรสุนัขขนาดใหญ่

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Newfoundland

  • หูอักเสบ (Ear infection): เป็นปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหูที่มักจะพบเจอกับสุนัขที่มีใบหูพับขนาดค่อนข้างใหญ่ อาการที่สามารถสังเกตได้คือ สุนัขเกาหูบ่อยผิดปกติ และหูสุนัขมีกลิ่นเหม็น การหมั่นทำความสะอาดใบหูสุนัขอย่างเบามือและถูกวิธีจะช่วยลดโอกาสที่สุนัขจะมีปัญหาสุขภาพนี้ได้
  • โรคห้องหัวใจขยายหัวผิดปกติ (Dilated Cardiomyopathy): เป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่งที่มักจะพบในสุนัขสายพันธุ์นี้
  • โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): คือโรคภัยที่สุนัขสายนี้และสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ตัวอื่นที่มีน้ำหนักตัวมากมักจะเจอ วิธีการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ในสุนัขก็คือเราต้องควบคุมน้ำหนักตัวของมันให้เหมาะสม ด้วยการพามันออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย ว่ายน้ำ และทำกิจกรรมต่างๆ ที่ออกแรงอย่างพอเหมาะเป็นประจำ รวมถึงการควบคุมเรื่องคุณภาพและปริมาณอาหารของมันให้ดีและพอเหมาะกับสายพันธุ์
 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น

  • ต้อกระจก(Cataract): สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ
  • กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
  • โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
  • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
  • โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)
  • โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)
  • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองในสุนัข (Pyoderma)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า  Newfoundland

  • เป็นสุนัขที่รักเจ้าของ 
  • ต้องการการออกกำลังกายบ้าง
  • เป็นมิตรกับผู้คน และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นมากๆ
  • ชอบทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนในครอบครัว
  • เป็นมิตรกับเด็กๆ ภายในบ้าน
  • ตัวสูงใหญ่ น้ำหนักเยอะ
  • เป็นสุนัขที่มีขนสองชั้น
  • ชื่นชอบการว่ายน้ำ

Newfoundland เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบสุนัขที่รักเจ้าของและครอบครัว
  • ผู้ที่มีเวลาอยู่ร่วมกับมันบ้าง
  • มีเด็กๆ ภายในบ้าน
  • มีสัตว์เลี้ยงอื่นภายในบ้าน
  • มีพื้นที่ในการเลี้ยงสุนัขพอสมควร
  • ชอบสุนัขที่ปกป้องเจ้าของและสมาชิกในครอบครัวได้
  • มีเวลาดูแลเรื่องขนและความสะอาดให้มันบ้าง
  • ชิบสุนัขที่ไม่ซนจนเกินไป

คำถามที่พบบ่อย

  • เลี้ยงในหอพักได้ไหม: ไม่เหมาะอย่างยิ่ง
  • ดุไหม: ไม่ดุสักเท่าไหร่
  • เลี้ยงกับแมวได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับแมวได้ดีมาก
  • ลี้ยงกับเด็กได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับเด็กได้ดีมาก
  • เฝ้าบ้านได้ไหม: เฝ้าบ้านได้
  • เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: ไม่ค่อยเหมาะกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image