เนเธอร์แลนด์ดวอฟ (Netherland Dwarf) ข้อมูล นิสัยและการดูแลกระต่าย

เนเธอร์แลนด์ดวอฟ
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

เนเธอร์แลนด์ดวอฟ (Netherland Dwarf) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีตัวเล็กจิ๋ว มาพร้อมกับหน้าตาที่น่าเอ็นดูและความขี้เล่นซุกซน มาทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้นกัน

ข้อมูลทั่วไปของเนเธอร์แลนด์ดวอฟ

  • ขนาดตัว: เล็กมากๆ
  • น้ำหนัก: 0.5 – 1.2 กก.
  • อายุขัย: 7 – 10 ปี
  • ความยาวขน: สั้น
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศเนเธอร์แลนด์
  • ความต้องการการเอาใจใส่: ปานกลาง
  • รูปแบบขน: Rollback (เมื่อลูบขนย้อนแนว ขนจะค่อยๆ คืนสภาพ)
  • ลักษณะเฉพาะ: ตัวเล็กจิ๋ว หูตั้งขนาดค่อนข้างเล็ก ดวงตากลมโต หัวดูกลมมาก

ประวัติของเนเธอร์แลนด์ดวอฟ

กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการนำกระต่ายพันธุ์โปลิช (Polish) ไปผสมข้ามสายพันธุ์กับกระต่ายป่าตัวเล็ก การทดลองผสมกระต่ายข้ามสายพันธุ์นี้ดำเนินการไปหลายสิบปี ผลลัพธ์ที่ได้คือกระต่ายตัวจิ๋วสายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า Netherland Dwarf นั่นเอง
 
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กระต่ายสายพันธุ์นี้มีจำนวนลดลงจนเกือบจะสูญพันธุ์ โชคดีที่กระต่ายบางตัวถูกส่งไปยังประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 และได้มีการเริ่มโครงการเพาะพันธุ์ที่ประเทศเหล่านี้ จนมันกลับมามีจำนวนที่มากขึ้น
 
มันได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Rabbit Breeders Association (ARBA) ในปี ค.ศ. 1969 เพราะเหตุนั้น จึงทำให้มันเป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันมากขึ้น จนถึงในปัจจุบัน มันก็ยังได้รับความนิยมในต่างประเทศอยู่ ในฐานะกระต่ายเลี้ยง

ลักษณะนิสัยของเนเธอร์แลนด์ดวอฟ

มันเป็นกระต่ายที่มีความขี้เล่น ซุกซน มีชีวิตชีวา กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง และพลังงานสูงมาก มันชอบการวิ่งเล่นไปทั่วบ้านและชอบใช้เวลากับการแทะของเล่นชิ้นโปรดของมัน มันไม่ใช่กระต่ายที่จะอยู่นิ่งๆ ทั้งวัน ดังนั้น คุณจึงควรมีเวลาปล่อยมันออกมาเดินเล่นบ้าง
 
มันอาจจะแสดงอาการกลัว เขินอาย หรือกัดคนที่มันพึ่งจะเคยเห็นหน้าเป็นครั้งแรก ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาสักระยะในการค่อยๆ ทำความคุ้นเคยกับผู้นั้น เรื่องสถานที่ก็เช่นกัน มันต้องใช้เวลาสักระยะในการทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่

ความหลากหลายของสีกระต่าย

สีขน

มันเป็นกระต่ายที่มีหลากหลายสีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสีขาว-ตาแดง, สีขาว-ตาฟ้า, สีดำ, สีลาเวนเดอร์, สีน้ำเงิน, สีน้ำตาล, สีส้ม และอื่นๆ กระต่ายบางตัวจะมี 2-3 สีในตัว สามารถจำแนกกลุ่มสีและลายของมันออกเป็นหลายแบบ เช่น สีเรียบ (Self), ลายอกูติ (Agouti), ลายสีเปรอะ (Broken), ลายไล่เฉดสี (Shaded), และอื่นๆ

การดูแลเนเธอร์แลนด์ดวอฟ

การดูแลด้านอาหารการกิน

ผู้เลี้ยงกระต่ายมือใหม่บางท่านอาจจะเข้าใจผิด คิดว่ากระต่ายต้องทานแครอทเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งกระต่ายควรอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดทิมโมธี, อัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, แอนเดอร์สัน หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกชนิดหญ้าที่เหมาะสมกับกระต่ายของคุณ การให้หญ้าเป็นอาหารหลักของกระต่ายจะดีกว่าฟาง เนื่องจากว่ามันมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นสูงกว่า
 
อีก 20-30% ที่เหลือนั้นควรเป็นผักและผลไม้ที่มาเสริมสารอาหารที่มีประโยชน์ให้กับกระต่ายเพิ่มเติม สามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น แอปเปิ้ล, หน่อไม้ฝรั่ง, ผักชี, แครอท, ผักกวางตุ้ง, ถั่วงอก, ผักบุ้ง, ผักปวยเล้ง, สตรอว์เบอร์รี่, องุ่น, กีวี, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้กระต่ายทาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย
 
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้มันทานมากเกินความจำเป็น เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้ และผู้เลี้ยงต้องมีน้ำสะอาดมากพอให้มันดื่มอยู่เสมอ

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

มันเป็นกระต่ายขนสั้น การดูแลขนจึงเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่นำที่แปรงขนมาหวีขนให้กับกระต่ายอย่างเบามือ ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดขนตาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวมันออกมาให้หมด การหวีขนให้มันยังช่วยลดโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายเหล่านี้ที่ติดอยู่ในตัวมันเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหารจนเกิดเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดรอบดวงตาและใบหูให้มันบ้าง ด้วยการนำผ้าสะอาดที่ชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดให้มันอย่างเบามือ
 

การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

เราไม่ค่อยแนะนำให้เลี้ยงกระต่ายแบบปล่อยนอกบ้าน เพราะว่ามันดูแลยากและไม่ค่อยปลอดภัย เราควรเลี้ยงมันอยู่ในกรงที่มีความสูงมากพอที่จะให้มันยืน 2 ขาโดยหัวไม่ชนกับเพดานกรง หรือจะเป็นการล้อมรั้วให้มันอยู่ก็ดีเหมือนกัน ทั้งนี้ ที่อยู่ของมันต้องสะอาด ไม่อับชื้น และที่สำคัญ ต้องไม่ร้อนและไม่มีแดดแรงๆ มาโดนกระต่ายโดยตรง เพราะถ้าหากที่อยู่ของมันร้อนมากจนเกินไปอาจจะทำให้กระต่ายเป็นลมแดดได้ และอย่าลืมที่จะนำของเล่นสักชิ้นสองชิ้นเข้าไปให้น้องแทะเล่นเพื่อแก้เบื่อ

การดูแลเรื่องการเข้าสังคม

กระต่ายเป็นสัตว์สังคม ดังนั้น จึงควรให้กระต่ายได้อยู่ร่วมกับผู้คนบ้าง เจ้าของควรแวะมาเล่นด้วย และมาดูแลมันบ้าง เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน ไม่กัด ถีบ และหนีคุณ ควรมีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันเพื่อไม่ให้มันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากจนเกินไป และปล่อยให้มันออกมาวิ่งเล่นข้างนอกบ้างเพื่อออกกำลังกาย ปลดปล่อยพลังงานอันมากมาย และเล่นกับเจ้าของอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องคอยระวังกล่องกระดาษและสายไฟต่างๆ ให้ดี เนื่องจากกระต่ายชอบแทะสิ่งเหล่านี้

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Netherland Dwarf

  • โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
  • ฟันยาว (Overgrown Teeth)
  • มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
  • อาการหัวเอียง (Head Tilt)
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
  • โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
  • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
  • ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
  • ไรในหู (Ear mites)
  • โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)
  • ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
  • โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
  • โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
  • โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)

Netherland Dwarf เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบกระต่ายตัวเล็กจิ๋ว
  • ชอบกระต่ายที่ขนสั้น
  • มีพื้นที่ในการเลี้ยงกระต่ายไม่มาก
  • ไม่มีปัญหากับความขี้เล่น ซุกซนของมัน
  • มีเวลามาอยู่ร่วมกับมัน และทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง
  • ชอบกระต่ายขาวตาแดง (ยังมีสีอื่นให้เลือกอีกมากมาย)

คำถามที่พบบ่อย

  • มันเข้ากันกับคนได้ดีไหม: เข้ากับคนที่มันคุ้นเคยด้วยแล้วได้ดี
  • ตัวเล็กเท่าไหน: ส่วนมากจะตัวเล็กว่ากระต่ายพันธุ์ Holland lop อีก

เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image