มินิลอป (Mini Lop) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลกระต่าย

มินิลอป
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

มินิลอป (Mini Lop) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายจากเยอรมนีที่มีเสน่ห์ตรงใบหูที่ตก มาพร้อมกับความตัวเล็กปุ๊กปิ๊กน่ารัก มาทำความรู้จักกับมันกัน

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย

ข้อมูลทั่วไปของมินิลอป

  • ขนาดตัว: ค่อนข้างเล็กถึงปานกลาง
  • น้ำหนัก: 1.4 – 2.7 กก.
  • อายุขัย: 8 – 10 ปี
  • ความยาวขน: ปานกลาง
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศเยอรมนี 🇩🇪
  • ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
  • ลักษณะเฉพาะ: หูตกขนาดปานกลาง คอสั้น ใบหน้าค่อนข้างกว้าง หูมีความโค้งมน ดูอ้วนกลมน่ารัก มันตัวใหญ่กับกระต่ายพันธุ์ Holland Lop

ประวัติของมินิลอป

กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศเยอรมนี ในช่วงปี ค.ศ. 1950 ได้มีนักเพาะพันธุ์กระต่ายท่านหนึ่งที่มีชื่อว่าคุณ Adrian de Cock เขาได้ทำการทดลองพัฒนากระต่ายสายพันธุ์ใหม่ โดยการนำกระต่ายพันธุ์ French Lop, English Lop, Chinchilla, และกระต่ายพันธุ์อื่นๆ จนมันกลายเป็นกระต่ายหูพับที่มีขนาดตัวที่เล็กปุ๊กปิ๊ก ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Mini Lop นั่นเอง 
 
มันได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Breeder’s Association (ARBA) ในปี ค.ศ. 1980 และองค์กร British Rabbit Council (BRC) ในปี ค.ศ. 1994 จนมาถึงในยุคปัจจุบัน มันกลายเป็นสายพันธุ์กระต่ายที่ได้รับความนิยมมากๆ ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มันเป็นถึง 1 ใน 10 สายพันธุ์กระต่ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก แถมยังได้รับความสนใจจากชาวไทยไม่น้อย

ลักษณะนิสัยและความเป็นมิตรของมินิลอป

มันเป็นกระต่ายที่มีความร่าเริง ขี้เล่น อ่อนหวาน และสบายๆ มันชอบการอยู่ร่วมกับเจ้าของและสมาชิกคนอื่นในบ้าน ส่วนมากมันจะชอบให้เจ้าของลูบไล้ด้วยความรัก เราจึงควรปล่อยมันออกมาจากที่อยู่ของมันบ้างเพื่อที่จะให้มันได้วิ่งเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ กับผู้คนรอบข้างเพื่อสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้ กระต่ายแต่ละตัวก็สามารถมีบุคลิกเฉพาะของตัวเอง

ความหลากหลายของสีกระต่าย

สีขน

กระต่ายสายพันธุ์นี้มีสีขนหลากหลายสีให้เลือก เช่น สีดำ, สีขาว, สีลาเวนเดอร์, สีน้ำเงิน, สีน้ำตาลแดง, สีครีม, สีส้ม, และสีอื่นๆ อีกมากมาย กระต่ายบางตัวมีสีเดียว บางตัวจะมีถึง 2-3 สีในตัว  สามารถจำแนกกลุ่มสีและลายของมันออกเป็นหลายแบบ เช่น สีเรียบ (Self), ลายอกูติ (Agouti), ลายโบรคเค่น (Broken), ลายสีขาวที่มีแต้มสีเข้ม (Pointed White), ลายไล่เฉดสี (Shaded),  และอื่นๆ
มินิลอป

การดูแลมินิลอป

การดูแลด้านอาหารการกิน

หลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นตัวการ์ตูนกระต่ายที่มักจะมีแครอทอยู่เคียงข้าง จึงทำให้ผู้คนเข้าใจผิดคิดว่าอาหารหลักของกระต่ายคือแครอท แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งควรอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดทิมโมธี, อัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, แอนเดอร์สัน หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกหญ้าที่เหมาะกับกระต่ายของคุณ การให้หญ้าเป็นอาหารหลักของกระต่ายจะดีกว่าฟางมาก เนื่องจากว่ามันมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นสูงกว่า
 
ส่วนอีกราวๆ 20% ที่เหลือนั้นสามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น แอปเปิ้ล, แตงกวา, พริกหวาน, แครอท, ผักชี, ถั่วงอก, แพงพวย, กล้วย, เมลอน, แตงโม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ไม่ควรให้กระต่ายทานเช่นพืชตระกูลถั่วทั้งหลาย ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาเรื่องนี้ให้ดี
 
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้มันทานมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้น้องน้ำหนักเกินได้ และต้องมีน้ำสะอาดให้เจ้ากระต่ายมากพอเสมอ เนื่องจากว่ากระต่ายต้องการกินน้ำมากพอสมควร

การดูแลขนและความสะอาด

การดูแลขนให้กระต่ายก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เราควรจะใช้แปรงมาหวีขนให้กับกระต่ายอย่างเบามือบ้าง สักสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดขนตายที่ติดค้างอยู่ในตัวมันออกมาให้หมด ไม่เช่นนั้นมันก็มีโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายเหล่านั้นเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหารจนเกิดเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งสามารถส่งผลเสียร้ายแรงกับกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดส่วนที่น้องทำความสะอาดเองไม่ได้บ้าง เช่น บริเวณใบหูและรอบดวงตา
 

การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

เพื่อความปลอดภัย เราไม่ควรเลี้ยงกระต่ายแบบปล่อยนอกบ้าน เราควรเลี้ยงมันอยู่ในกรงที่สะอาดฃ ไม่อับชื้นและไม่ร้อน กรงควรมีความสูงมากพอที่จะให้มันยืน 2 ขาโดยไม่ชนกับเพดานกรง หรือจะเป็นการล้อมรั้วในบ้านก็ได้ เราควรปล่อยให้กระต่ายออกมาวิ่งเล่นนอกที่อยู่บ้างเพื่อให้มันปลดปล่อยพลังงานและออกกำลังกาย ทั้งนี้ควรระวังสายไฟต่างๆ ให้ดี เพราะมันเป็นสัตว์ที่ชอบเคี้ยวและแทะพอสมควร คุณจึงควรคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อพามันออกมาเดินเล่น รวมถึงไม่ให้มันอยู่ในที่ที่สามารถเจอกับเสียงที่ดังมากๆ เพราะกระต่ายอาจจะตกใจจนถึงขั้นช็อกได้

การดูแลเรื่องการเข้าสังคม

กระต่ายเป็นสัตว์สังคม โดยเฉพาะกระต่ายสายพันธุ์นี้ จึงควรให้มันมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ้าง เจ้าของควรแวะมาเยี่ยม มาเล่นด้วย และมาดูแลมันบ้าง เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน ไม่กัด ถีบ และหนีผู้คน รวมถึงควรมีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันเพื่อไม่ให้มันเหงามากจนเกินไป

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบในกระต่าย Mini Lop

  • โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
  • ฟันยาว (Overgrown Teeth)
  • มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
  • อาการหัวเอียง (Head Tilt)
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
  • ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
  • โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
  • โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
  • โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)
  • โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
  • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
  • ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
  • ไรในหู (Ear mites)
  • โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)

Mini Lop เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบกระต่ายที่ตัวค่อนข้างเล็ก (แต่ใหญ่กว่า Holland lop)
  • ชอบกระต่ายที่ขนไม่ยาวมากนัก
  • สามารถสละเวลาอยู่ร่วมกับมันบ้าง
  • ชอบกระต่ายที่มีสีและลวดลายหลากหลายให้เลือก
  • ชอบกระต่ายหูตก

คำถามที่พบบ่อย

  • มันต่างกับกระต่ายพันธุ์ Holland lop ยังไง: ต่างกันเรื่องขนาดตัวเป็นหลัก กระต่ายพันธุ์นี้หนักได้มากถึง 2.7 กก. แต่เจ้า Holland lop หนักได้ถึงราวๆ 1.8 กก.

เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image