กระต่ายไลอ้อนเฮด (Lionhead rabbit) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายตัวเล็กจากประเทศเบลเยียมที่มีขนฟูๆ ที่หัวและบริเวณคอ ดูราวกับว่าเป็นสิงโตขนาดจิ๋ว มาทำความรู้จักกับมันให้มากกว่าเดิมกันเถอะ
ข้อมูลทั่วไปของกระต่ายไลอ้อนเฮด
- ขนาดตัว: เล็ก
- น้ำหนัก: 1.13 – 1.7 กก.
- อายุขัย: 7 -9 ปี
- ความยาวขน: ยาว
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศเบลเยียม 🇧🇪
- ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
- รูปแบบขน: Wool (ขนฟูๆ)
- ลักษณะเฉพาะ: หูตั้งขนาดปานกลาง ตัวเล็กจิ๋ว มักจะมีขนยาวฟูบริเวณหัวและแผงคอ จนดูราวกับว่าเป็นหัวสิงโต
ประวัติของกระต่ายไลอ้อนเฮด
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศเบลเยียม โดยเกิดจากการที่ผู้คนนำกระต่ายพันธุ์ Netherland Dwarf และ Swiss Fox มาผสมข้ามสายพันธุ์กัน จึงเกิดเป็นกระต่ายที่มีแผงคอที่ดูราวกับสิงโตตัวผู้ ซึ่งในภายหลังได้มีการนำเจ้ากระต่ายตัวนี้ไปเพาะพันธุ์ต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมันก็กลายเป็นเจ้ากระต่าย Lionhead นั่นเอง ซึ่งมันได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษในยุคสมัยนั้นมาก
ในช่วงปี ค.ศ. 1998 มันได้ถูกนำตัวไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวของมัน มันก็เริ่มเป็นที้รู้จักของชาวอเมริกันเช่นกัน จนในที่สุด มันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยองค์กร American Rabbit Breeders Association (ARBA) ในปี ค.ศ. 2014 ชื่อเสียงของมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน มันขึ้นแท่นเป็นกระต่ายอันดับต้นๆ ที่ผู้คนทั่วโลกนิยมเลี้ยงมากที่สุดอีกสายพันธุ์หนึ่ง
ลักษณะนิสัยและความเป็นมิตรของกระต่ายไลอ้อนเฮด
มันเป็นกระต่ายที่มีความร่าเริง ขี้เล่น มีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉง สอบใช้เวลาไปกับการกัดแทะของเล่นชิ้นโปรดและการออกมาวิ่งเล่นนอกกรง ด้วยความขี้เล่นและชอบผจญภัยของมัน มันจึงไม่ค่อยเหมาะกับกรงแคบๆ ผู้เลี้ยงจึงควรให้มันอาศัยในที่ที่มีพื้นที่ให้มันวิ่งเล่นบ้าง
มันยังเป็นการต่ายที่มีอัธยาศัยดี มีความเป็นมิตรสูง สามารถเข้ากันกับคนแปลกหน้าและกระต่ายตัวอื่นได้ไว แต่ก็ไม่ใช่ในทันทีตั้งแต่แรกพบ ถ้าหากมันรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามมากเกินไป มันก็สามารถถีบและกัดเพื่อปกป้องตัวเองได้เช่นกัน
ความหลากหลายของสีกระต่าย
สีขน
มันเป็นกระต่ายที่มีหลากหลายสีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสีขาว-ตาแดง, สีน้ำเงิน, สีดำ, สีแทน, สีชินชิล่า, สีลาเวนเดอร์, สีส้ม, สีช็อคโกแลต, สีทอง, และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนรูปแบบลวดลายสีจะมีหลายแบบให้เลือกเช่นกัน เช่น สีเรียบทั้งตัว (Self), ลายอกูติ (Agouti), ลายแต้มสี (Pointed), ลายสีเปรอะ (Broken), ลายไล่เฉดสี (Shaded) และลวดลายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ (Wide Band Group)
การดูแลกระต่ายไลอ้อนเฮด
การดูแลด้านอาหารการกิน
ผู้เลี้ยงกระต่ายมือใหม่บางท่านอาจจะคิดว่ากระต่ายต้องทานแครอทเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งกระต่ายควรอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดทิมโมธี, อัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, แอนเดอร์สัน หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกชนิดหญ้าที่เหมาะสมกับกระต่ายของคุณ การให้หญ้าเป็นอาหารหลักของกระต่ายจะดีกว่าฟางช เนื่องจากว่ามันมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นสูงกว่า
อีก 20-30% ที่เหลือนั้นควรเป็นผักและผลไม้ที่มาเสริมสารอาหารที่มีประโยชน์ให้กับกระต่ายเพิ่มเติม สามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น แอปเปิ้ล, หน่อไม้ฝรั่ง, พริกหวาน, แครอท, ผักกวางตุ้ง, ถั่วงอก, ผักบุ้ง, ผักปวยเล้ง, กล้วย, เมลอน, สตรอว์เบอร์รี่, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้กระต่ายทาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้มันทานมากเกินความจำเป็น เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้ และผู้เลี้ยงต้องหมั่นเช็คว่ามีน้ำสะอาดมากพอให้มันดื่มอยู่เสมอ
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
มันเป็นกระต่ายที่ขนยาวที่ต้องการการดูแลเรื่องขน คุณจึงควรใช้ที่แปรงขนมาหวีขนให้กับกระต่ายอย่างเบามือ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้ขนของมันไม่พันกันเป็นก้อน และเพื่อกำจัดขนตาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวมันออกมาให้หมด นอกจากนี้ การหวีขนให้มันยังช่วยลดโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายเหล่านี้ที่ติดอยู่ในตัวมันเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหารจนเกิดเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดรอบดวงตาและใบหูให้มันบ้าง ด้วยการนำผ้าสะอาดที่ชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดให้มันอย่างเบามือ
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
เราไม่แนะนำให้เลี้ยงกระต่ายแบบปล่อยนอกบ้าน เพราะว่ามันดูแลยากและไม่ค่อยปลอดภัย เราควรเลี้ยงมันอยู่ในกรงที่มีความสูงมากพอที่จะให้มันยืน 2 ขาโดยหัวไม่ชนกับเพดานกรง หรือจะเป็นการล้อมรั้วให้มันอยู่ก็ดีเหมือนกัน ทั้งนี้ ที่อยู่ของมันต้องสะอาด ไม่อับชื้น และที่สำคัญ ต้องไม่ร้อนและไม่มีแดดแรงๆ มาโดนกระต่ายโดยตรง เพราะถ้าหากที่อยู่ของมันร้อนมากจนเกินไปอาจจะทำให้กระต่ายเป็นลมแดดได้ ถ้าคุณมีของเล่นสักชิ้นสองชิ้นไว้ให้มันเล่นในกรงจะดีมาก
การดูแลเรื่องการเข้าสังคม
มันเป็นกระต่ายที่ชอบเข้าสังคมมาก ไม่ชอบอยู่ตัวเดียวนานๆ จึงควรให้กระต่ายมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ้าง เจ้าของควรแวะมาเยี่ยม มาเล่นด้วย และมาดูแลมันบ้าง เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน ไม่กัด ถีบ และหนีผู้คน มีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันเพื่อไม่ให้มันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากจนเกินไป และปล่อยให้มันออกมาวิ่งเล่นข้างนอกบ้างเพื่อออกกำลังกาย แต่อย่าลืมที่จะเก็บสายไฟต่างๆ ให้มิดชิด ประกอบกับการคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้กระต่ายจอมซนเหล่านี้ไปกัดแทะสายไฟ
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Lionhead rabbit
- ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
- โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
- โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
- โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)
- โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
- ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
- ไรในหู (Ear mites)
- โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)
- โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
- ฟันยาว (Overgrown Teeth)
- มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
- อาการหัวเอียง (Head Tilt)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
Lionhead rabbit เหมาะกับผู้ที่
- ชอบกระต่ายตัวเล็ก
- ชอบกระต่ายที่ขนฟูๆ
- ชอบกระต่ายที่ขี้เล่น ซุกซน
- ชอบกระต่ายที่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ค่อนข้างดี
- มีเวลามาอยู่ร่วมกับมัน ดูแลขน และทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง
คำถามที่พบบ่อย
- ตัวเล็กแค่ไหน: ตัวเล็กพอๆ กับ Holland lop เลย
- บอบบางไหม: ค่อนข้างบอบบางเนื่องจากขนาดตัวที่เล็กของมัน ดังนั้น เบามือสักนิดเวลาเล่นหยอกล้อกับมัน
เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
แมวกินไข่ต้มได้ไหม มาหาคำตอบกัน
เคน คอร์โซ่ (Cane corso) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัขสายพันธุ์นี้
โดโก อาร์เจนติโน (Dogo Argentino) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
สุนัขพันธุ์วิปเพ็ท (Whippet) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
นกซีบร้าฟินช์ (Zebra Finch) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
10 กระเป๋าใส่สุนัข กระเป๋าใส่แมว แบบไหนดีที่พาน้องไปได้ทุกที่ ปี 2023
วิเชียรมาศ (Siamese) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมว
ขาวมณี (Khao Manee) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมวสายพันธุ์ไทย