ลาซา แอพโซ (Lhasa Apso) มันเป็นสุนัขตัวเล็กจิ๋วจากประเทศทิเบตที่มีขนยาวสลวยมาก ที่สามารถนำมามัดจุกหรือตัดแต่งขนให้สวยงามได้ตามใจชอบ แถมมันยังมีข้อดีอีกหลายอย่างมากๆ ที่คุณอาจจะยังไม่รู้ ดังนั้นมาทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้นในบทความนี้กันเถอะ
ข้อมูลทั่วไปของลาซา แอพโซ
- ขนาดตัว: เล็ก
- ความสูงจากไหล่: 24 – 28 ซม.
- น้ำหนัก: ตัวผู้: 6 – 8 กก. ตัวเมีย: 5 – 7 กก.
- อายุขัย: 12 – 15 ปี
- ความยาวขน: ยาว
- ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
- ถิ่นกำเนิด: ทิเบต
- ปริมาณการผลัดขน: น้อย
- ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
- ลักษณะเฉพาะ: ขนของมันมีความยาวสลวยมากๆ จนสามารถยาวได้ถึงพื้น ดวงตากลมโต หางม้วนขึ้นมาบนหลัง หูพับลงขนาดค่อนข้างใหญ่
ประวัติของลาซา แอพโซ
มันเป็นสุนัขสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีต้นกำเนิดที่เมืองลาซา (Lhasa) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของทิเบตเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว โดยที่ที่มันกำเนิดขึ้นมาจะมีอากาศที่หนาวเหน็บเป็นอย่างมาก มันจึงมีขนยาวยาวไว้เพื่อปกป้องตัวเองจากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ ในสมัยก่อนชาวทิเบตมักจะใช้สุนัขสายพันธุ์นี้สำหรับการเห่าเฝ้ายามเพื่อช่วยปกป้องวัดวาอาราม บ้านเมือง และพระราชวังให้ปลอดภัยจากผู้บุกรุก ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีมากๆ ถึงแม้ว่ามันจะมีขนาดตัวที่เล็กก็ตาม มันอยู่เคียงข้างคุณทิเบตมาช้านาน จนกระทั่งในช่วง ค.ศ. 1900 ท่านทะไลลามะที่ 14 (Dalai Lama) แห่งทิเบต ได้มอบสุนัขสายพันธุ์นี้เพื่อเป็นของขวัญให้กับนักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่ชื่อว่า คุณ Suydam Cutting ซึ่งเขาก็ได้นำสายพันธุ์นี้กลับไปยังอเมริกาบ้านเกิดของตน จึงทำให้มันเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันและถูกเพาะพันธุ์ในประเทศแห่งนี้จนมีจำนวนมากขึ้น
ในที่สุดในช่วงปีค.ศ. 1935 มันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Kennel Club (AKC) จึงทำให้มันเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก จนในปัจจุบันถึงแม้ว่ามันจะเป็นสายพันธุ์สุนัขที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่มันก็ยังคงเป็นเพื่อนคู่ใจที่ดีของหลายๆ ครอบครัว
ลักษณะนิสัยของลาซา แอพโซ
มันจะมีความอ่อนโยน ใจดี อ่อนหวาน รักใคร่ และเป็นมิตรกับคนในครอบครัวมาก มันชอบใช้เวลาไปกับการนั่งบนตักของคนที่มันรักและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันกับพวกเขา แถมมันยังมีความขี้เล่น ซุกซน และกระฉับกระเฉงในระดับที่กำลังพอดี มันจึงสามารถสร้างสีสันให้กับคุณและคนในครอบครัวได้ แต่เนื่องจากว่าในอดีตมันถูกใช้เป็นสุนัขสำหรับเฝ้ายามมาก่อน มันจึงมีนิสัยที่ระวัง ตีตัวออกห่างและอาจจะมีความก้าวร้าวกับคนแปลกหน้าได้ แถมมันยังมีเสียงเห่าที่แหลมและเสียงดังฟังชัด เพราะเหตุนี้มันจึงเป็นสุนัขตัวเล็กที่สามารถเฝ้าบ้านได้เป็นอย่างดี
ความหลากหลายของสีสุนัข
สีตา
มันเป็นสุนัขที่มีตาโทนสีน้ำตาลดำ
สีขนและสีตัว
มันเป็นสุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากมายนัก เช่น สีดำ, ครีม, ทอง, ขาว, แดง, ทอง, สีดำ-แทน, เงิน, เทา, น้ำเงิน, แดงอมเหลือง และอื่นๆ สุนัขบางตัวจะมีขนสีเดียวทั้งตัว บางตัวจะมี 2-3 สีในตัว
ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง
มันจะมีความเป็นมิตร อ่อนโยน ใจดีกับผู้คนภายในบ้าน รวมถึงเหล่าเด็กๆ ที่อยู่ร่วมกับมันมาตั้งแต่เป็นลูกสุนัขด้วย มันสามารถเป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับเด็กๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ได้ แต่ถ้าเด็กๆ เล่นกับมันแรงจนล้ำเส้นมันมากเกินไป มันก็สามารถป้องกันตัวเองโดยแสดงความก้าวร้าวได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีความเป็นมิตรกับสุนัขและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่มันคุ้นเคยด้วยแล้วเช่นกัน มันจะเป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับสุนัขตัวอื่นๆ และสามารถอยู่ร่วมกันกับพวกมันได้เป็นอย่างดี แต่ถ้ากับคนหรือสัตว์ตัวอื่นที่มันยังไม่คุ้นเคยด้วย มันก็จะคอยระวัง ขับไล่ และต่อต้าน ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลาสักพักในการทำความคุ้นเคยกับผู้นั้นก่อน ถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้
การดูแลลาซา แอพโซ
การดูแลด้านการออกกำลังกาย
ถึงแม้ว่าระดับพลังงานของมันจะไม่สูงมากนัก แต่มันก็ต้องการการออกกำลังกายเป็นครั้งคราว คุณควรจะแบ่งเวลามาพาเจ้าตูบไปเดินเล่นข้างนอก วิ่งเล่นออกกำลังกาย หรือจะให้มันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ออกแรงกับเด็กๆ ในครอบครัวก็ได้ เช่น การวิ่งไล่จับกับมัน เราแนะนำว่าระยะเวลาควรอยู่ที่ 30 – 50 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยให้มันปลดปล่อยพลังงานที่มีอยู่ในตัว ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้มันไม่เครียด ไม่เบื่อ ไม่เก็บกด ไม่หดหู่ และเพื่อให้เจ้าตูบมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์
การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน
เราจำเป็นต้องฝึกสุนัขให้เข้าสังคมตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข เราไม่ควรล่ามหรือขังมันในกรงแคบๆ ตัวเดียวทั้งวัน เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขเครียด เก็บกด อารมณ์แปรปรวน เข้ากันกับคนในครอบครัวไม่ค่อยได้ อาจจะมีความก้าวร้าวได้ คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันรู้สึกรักและผูกพันแน่นแฟ้นกับพวกเขา รวมถึงให้มันไปเข้าสังคมกับคนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขอยู่เสมอ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมให้มัน ซึ่งมีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจรับคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องการฝึกสอนสุนัข ถึงแม้ว่ามันเป็นสุนัขที่มีความฉลาดแต่ว่าในบางครั้งมันจะมีความดื้อรั้นและเอาแต่ใจอยู่บ้าง เราจึงเราจึงต้องใช้ความอดทนและเวลาในการฝึกสอนมันสักหน่อย การฝึกสอนโดยมีรางวัลตอบแทนอย่างเช่นขนมชิ้นโปรดให้มันจะทำให้การฝึกสอนมันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
ขนยาวสลวยของมันจะเป็นขนสองชั้น แต่ปริมาณการผลัดขนของมันจะไม่ค่อยเยอะมากนัก จึงไม่จำเป็นต้องกังวลว่าขนของมันจะร่วงเต็มพื้นบ้าน ขนยาวๆ ของมันจะสามารถยาวจนแตะพื้นได้ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรตัดแต่งขนส่วนเกินให้มันบ้าง ส่วนความสั้นยาวของขนก็แล้วแต่ความชอบของผู้เลี้ยงเลย คุณควรนำแปรงมาแปรงขนให้มันเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อให้ขนของมันไม่พันกันเป็นก้อน และเพื่อช่วยนำสิ่งสกปรกและขนตายที่ติดค้างอยู่ในตัวมันออกมา นอกจากนี้ คุณควรทำความสะอาดใบหน้า ใบหู บริเวณรอบดวงตา รวมถึงมีการตัดเล็บ แปรงฟัน และอาบน้ำให้มันบ้างเป็นครั้งคราว
การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม
อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอากาศในประเทศไทยร้อนมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เราจึงควรระวังเรื่องโรคลมแดดในสุนัขไว้บ้างก็ดี วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อน ไม่อบอ้าว มีอากาศถ่ายเท ไม่มีแดดส่องลงมาโดนสุนัขตรงๆ เป็นเวลานาน ไม่ให้สุนัขวิ่งเล่นและทำกิจกรรมหนักๆ ในช่วงกลางวัน มีน้ำสะอาดให้มันดื่มมากพอ และเลือกช่วงเวลาที่มีแดดอ่อนในการพาสุนัขไปออกกำลังกายนอกบ้าน
ผู้เลี้ยงควรคอยควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในระดับมาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับความอ้วนให้เจ้าตูบ ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่คุณสะดวกและเหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานอาหารปกติทั่วไป ทานอาหารแบบบาร์ฟ หรือจะเป็นอาหารแบบเม็ดหรือแบบเปียกสำหรับสุนัขก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือเรื่องปริมาณอาหาร เราไม่ควรให้มันทานอาหารมากเกินความจำเป็นจนทำให้มันอ้วน ถึงแม้ว่ามันจะส่งสายตาอ้อนวอนคุณมากแค่ไหนก็ตาม และควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มันทานขนมของมนุษย์ที่มีแคลอรี่และโซเดียมสูงมากเกินไป เราแนะนำว่าให้ใช้ขนมที่ผลิตมาสำหรับให้สุนัขทานโดยเฉพาะจะดีกว่า ขนมเหล่านี้ยังมีแบบที่สามารถช่วยขัดฟันสุนัขได้ด้วยนะ
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Lhasa Apso
- โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): ถึงแม้ว่ามันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ โดยการคอยควบคุมน้ำหนักตัวของมันไม่ให้เกินมาตรฐานของสายพันธุ์ ด้วยการพามันออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน คอยควบคุมปริมาณและเลือกชนิดอาหารของมันให้ดี ปริมาณอาหารควรพอเหมาะกับขนาดตัว และถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรให้สุนัขไปวิ่งเล่นบนพื้นที่ลื่นและมีความมันวาวอย่างพื้นหินอ่อน เพราะเท้าสุนัขไม่ค่อยยึดเกาะกับพื้นประเภทนี้ ซึ่งอาจจะทำให้สุนัขลื่นล้มจนเป็นต้นตอของปัญหาสะโพก
- โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ ซึ่งจะส่งผลให้สุนัขมองเห็นได้ไม่ค่อยดีในที่มืด และทำให้มันมักจะเดินชนสิ่งต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง
- ตาแห้ง (Dry eyes): เกิดจากปริมาณน้ำตาในน้อยผิดปกติจนทำให้ตาของสุนัขแห้ง ซึ่งต้องได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์
นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเกิดโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น
- ต้อกระจก(Cataract)
- กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy)
- โรคลมแดด (Heatstroke)
- ฟันผุ (Tooth decay)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- ไตวาย (Kidney Failure)
- โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองในสุนัข (Pyoderma)
- โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Lhasa Apso
- มันมีความเป็นมิตรและอ่อนโยนกับคนในครอบครัวมาก
- มันจำเป็นต้องได้รับการฝึกให้เข้าสังคมตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัข
- ขนยาวๆ ของมันต้องการการตัดแต่งและการดูแลรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- มันเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยซุกซน ที่ต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยไม่มาก
- มันมีความระแวดระวังคนแปลกหน้าโดยธรรมชาติ และมีทักษะในการเฝ้าบ้านที่ดี
Lhasa Apso เหมาะกับผู้ที่
- ชอบสุนัขขนาดเล็ก พกพาง่าย
- มีเวลาดูแลขนมันเป็นประจำ และพามันไปออกกำลังกายบ้าง
- อยากเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน
- ผู้ที่มีพื้นที่ในการเลี้ยงสุนัขไม่มากนัก
- ชอบสุนัขที่ไม่ซนจนเกินไป
- ชอบสุนัขขนยาวสลวย ตัดแต่งได้ตามใจชอบ
คำถามที่พบบ่อย
- เลี้ยงในคอนโดได้ไหม: เหมาะกับการเลี้ยงในอพาร์ทเม้นท์และคอนโดเป็นอย่างมาก
- เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: เหมาะกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย
- เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่นได้ไหม: เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่นที่คุ้นเคยกันแล้วได้
- เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: เลี้ยงกับเด็กๆ ในครอบครัวได้ดีมาก
- เฝ้าบ้านได้ไหม: เห่าเฝ้าบ้านได้ดี
เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
วิธีสอนสุนัขฉี่ให้เป็นที่มากขึ้น ที่คุณก็สามารถทำได้
10 อาหารสุนัขลาบราดอร์ ยี่ห้อไหนดีและช่วยบำรุงข้อต่อ ปี 2023
เซนต์ เบอร์นาร์ด (Saint Bernard) ข้อมูล นิสัยและการดูแลสายพันธุ์สุนัขตัวโต
อิงลิช เซตเทอร์ (English setter) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
10 สายพันธุ์สุนัขจากจีน ที่น่ารักไม่แพ้สุนัขจากประเทศอื่น
8 ยาสีฟันสุนัข แบบไหนดีและคนชอบใช้บ้าง 2023
บิวเซรอน (Beauceron) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัขสายพันธุ์นี้
8 ปลอกคอแมว แบบไหนดีและคนชอบใช้บ้าง ปี 2023