นกแก้วอินเดียนริงเน็ค (Indian Ringneck Parakeet) นิสัยและการดูแล

นกแก้วอินเดียนริงเน็ค
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

นกแก้วอินเดียนริงเน็ค (Indian Ringneck Parakeet)  มันเป็นนกแก้วตัวเล็กจากศรีลังกาที่มีจุดเด่นตรงวงแหวนที่คอ มาพร้อมกับจะงอยปากสีแดงสดใส มาทำความรู้จักกับมันกัน

ข้อมูลทั่วไปของนกแก้วอินเดียนริงเน็ค

  • น้ำหนัก: 110 – 140 กรัม
  • อายุขัย: 20 – 30 ปี หรือมากกว่านี้
  • ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
  • ความยาวตัว: 36 – 43 ซม.
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศศรีลังกา
  • ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Psittacula krameri manillensis
  • ลักษณะเฉพาะ: หางยาว หัวโต จะงอยปากสีแดงสดที่งุ้มลงมากพอสมควร สีขนมักจะเป็นโทนสีเดียวแทบจะทั้งตัว จะมีวงแหวนรอบคอและแถบสีดำที่เชื่อมระหว่างดวงตาทั้งสอง

ประวัติของนกแก้วอินเดียนริงเน็ค

นกแก้วอินเดียนริงเน็ค หรือ นกแก้วคอแหวนสีกุหลาบของอินเดีย มันเป็นนกแก้วสายพันธุ์ย่อยของนกแก้วคอแหวนสีกุหลาบ (Rose-Ringed Parakeet) มันมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บริเวณประเทศศรีลังกา แต่มันได้ขยายถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของมันไปยังประเทศอินเดีย ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ มันมักจะอาศัยอยู่รวมกันไปฝูงใหญ่และออกหากินด้วยกัน ในอดีต คนอินเดียจะถือว่านกสายพันธุ์นี้เป็นนกศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่นิยมของชนชั้นสูงชาวอินเดีย แต่ในปัจจุบันมันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย

    ข้อควรระวัง

ก่อนเลี้ยงนกควรต้องศึกษาเรื่องกฎหมายก่อน ในปัจจุบันนกบางสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ใน CITES บัญชีหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งแต่ละบัญชีก็จะมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ซึ่งคุณต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าในปัจจุบันนกสายพันธุ์นี้อยู่ที่ CITES บัญชีไหนหรือไม่ มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อขายครอบครองนกสายพันธุ์นี้ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อนกที่ถูกดักจับจากป่าอย่างผิดกฎหมาย

ลักษณะนิสัยของนกแก้วอินเดียนริงเน็ค

ถ้ามันถูกฝึกให้เข้าสังคมมาเป็นอย่างดี มันจะเป็นนกที่มีความอ่อนหวาน อ่อนโยน ขี้เล่น และรักเจ้าของ มันต้องการการเข้าสังคมอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าหากว่ามันถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวนานมากจนเกินไปจนรู้สึกเบื่อ มันก็อาจจะมีพฤติกรรมทำลายข้าวของและก้าวร้าวได้ ถึงแม้มันจะฉลาด แต่ก็มีความสอนยาก เนื่องจากว่ามันดื้อและขี้เบื่อพอสมควร มันจะเป็นนกที่อารมณ์แปรปรวนในบางครั้ง โดยเฉพาะนกในวัยแรกรุ่น ที่อาจจะมีความก้าวร้าวอยู่บ้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกให้มันมีปฏิสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับผู้คนในบ้านตั้งแต่เด็ก
 

การพูดคุยและการส่งเสียง

มันเป็นนกที่ช่างพูดและชอบส่งเสียงร้องอยู่พอสมควร ซึ่งคุณควรแน่ใจว่าเสียงของมันจะไม่ไปรบกวนคนรอบข้างมากเกินไป ส่วนเรื่องการเลียนแบบเสียง มันสามารถเลียนแบบเสียงมนุษย์และเสียงสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ดี แถมยังสามารถเลียนเสียงสิ่งนั้นไปได้อีกหลายปี มันอาจจะเลียนเสียงคำที่คุณไม่อยากให้มันพูดได้อีกหลายปีเลยล่ะ

ลักษณะภายนอกและความหลากหลายของนก

สีและลักษณะภายนอก

ส่วนมากสีขนของมันจะเป็นสีเขียวสดใสแทบจะตลอดทั้งตัว มีจะงอยปากสีแดง จะมีเส้นวงแหวนที่คอ และจะมีเส้นสีดำที่เชื่อมระหว่างดวงตาทั้งสอง แต่มันก็ยังมีสีขนแบบอื่นๆ อีก เช่น สีเหลือง, ฟ้า, น้ำเงิน, เทา, เขียวมิ้นท์, และอื่นๆ เราสามารถแยกเพศนกได้จากการดูลักษณะภายนอก ตัวผู้จะมีวงแหวนรอบคอที่เป็นสีดำและมีความชมพูตรงขอบ ส่วนตัวเมียจะไม่มีสีดำรอบคอ แต่ก็ยังเห็นเป็นลายวงแหวนอยู่
นกแก้วอินเดียนริงเน็ค

การดูแลนกแก้วอินเดียนริงเน็ค

การดูแลด้านอาหารการกิน

เราสามารถซื้ออาหารสำหรับนกโดยเฉพาะที่มีขายทั่วไปให้น้องทานได้เลย แนะนำว่าให้เป็นสูตรที่มีส่วนผสมของธัญพืชและผลไม้อบแห้ง เพื่อให้นกได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน โดยเราสามารถให้มันทานควบคู่ไปกับอาหารสดชนิดต่างๆ เพื่อเสริมสารอาหาร สัดส่วนอาหารเม็ดกับอาหารสดก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสม อาหารสดดังกล่าวสามารถเป็นผัก ผลไม้ หรือธัญพืชชนิดต่างๆ ก็ได้ เช่น เมล็ดทานตะวัน, มะละกอ, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), คะน้า, ผักโขม, สตรอว์เบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ มันมีพืชผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้นกทานเช่นกัน ซึ่งมันอาจจะเป็นอันตรายกับนก ถ้าน้องทานอาหารสดเหล่านี้ไม่หมดก็ควรเอาออกมาเปลี่ยน ไม่ควรให้น้องทานอาหารค้างคืนเพราะอาหารเหล่านี้อาจจะบูดแล้ว ถ้าน้องทานอาหารบูดเหล่านั้นเข้าไป น้องอาจจะป่วยได้ (ถ้าเป็นลูกนกต้องให้อาหารชงสำหรับลูกป้อนโดยเฉพาะก่อน)

การดูแลขนและความสะอาด

โดยปกตินกจะเป็นสัตว์ที่คอยดูแลความสะอาดและจัดแต่งขนตัวเองเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปดูแลเรื่องความสะอาดของตัวนกมากนัก แต่ถ้าหากว่าน้องเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น เราสามารถนำกะละมังหรือถาดน้ำที่มีน้ำตื้นๆ ให้มันเล่นและอาบน้ำตัวเอง หรือจะเป็นการเปิดก๊อกน้ำเบาๆ ให้น้องเข้าไปอาบน้ำทำความสะอาดตัวเองก็ได้
 

การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

กรงที่อยู่ของมันนั้นไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป กรงควรมีขนาดใหญ่มากพอที่จะมีพื้นที่ให้มันเล่นบ้าง ที่ที่ตั้งกรงของมันควรไม่มีแดดแรงๆ ส่องมาโดนนกโดยตรง ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลความสะอาดของกรงนกอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพของนก ในกรงควรมีคอนให้นกยืนเกาะ และเนื่องจากว่ามันเป็นนกที่ขี้เล่น เราจึงควรนำของเล่นสำหรับนกชนิดต่างๆ เช่น คอนที่ทำจากเชือก ของเล่นที่ทำจากไม้ และอื่นๆ เข้าไปในกรงให้นกกัดเคี้ยวเล่นในยามว่าง

การออกกำลังกายและอื่นๆ

นกก็ต้องการการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่นกัน คุณสามารถนำน้องออกมาเล่นในห้องที่ปลอดภัยข้างนอกกรงบ้าง ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อให้มันได้ออกมาสำรวจโลกข้างนอกกรง ยืดเหยียดเส้นสาย เดินเล่นบินเล่น และออกมาฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์กับคุณและผู้คนในบ้านบ้าง ซึ่งมีส่วนช่วยให้มันเชื่อง ไม่เหงา และไม่เก็บกด ถ้าคุณมีพื้นที่ที่ปลอดภัยนอกบ้านให้นกบิน คุณสามารถพามันออกไปบินเล่นเพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี โดยการใส่เอี้ยมนกให้มันแล้วพามันไปบินได้เลย
 

ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Indian Ringneck Parakeet

  • โรคจะงอยปากและขน (Psittacine beak and feather disease): เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ อาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ นกขนร่วงเยอะ จะงอยปากผิดรูปและแตก เซื่องซึม บินไม่ค่อยได้ ซึ่งมันอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ถ้านกคุณมีอาการเหล่านี้ ให้นำน้องไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับแยกนกตัวที่แข็งแรงออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
  • ไรในนก (Bird Mites): ไรในนกนั้นร้ายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้นกของคุณเสียชีวิตได้ และยังสามารถสร้างความรำคาญให้กับมนุษย์อีกด้วย อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ นกจะน้ำหนักตัวลดลง ขนยุ่ง และน้องจะกัดขนและตกแต่งขนบ่อยผิดปกติ ขนร่วง และผิวหนังเป็นแผล วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หมั่นรักษาความสะอาดกรงของน้อง ไม่ให้กรงของน้องมีความอับชื้น และไม่ให้น้องเข้าใกล้นกจากธรรมชาติตัวอื่น โดยเฉพาะนกพิราบ ที่อาจจะมีไรนกติดมาด้วย
  • โรคซิตาโคซิส (Psittacosis): หรือที่เรียกกันว่า “โรคไข้นกแก้ว” มันเป็นโรคที่สามารถติดจากนกและสัตว์ปีกอื่นๆ สู่คนผ่านการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ นกที่อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเซื่องซึม ถ่ายบ่อย ไม่ค่อยทานอาหาร และมูลนกจะมีสีแปลกไปจากปกติ
  • โรคกระเพาะขยาย (Proventricular Dilatation Disease): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ นกจะตัวผอมลง น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง เซื่องซึม และอาเจียน แต่นกบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกระทั่งเริ่มอาการหนักแล้ว
 

ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตนกของท่าน ว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอาการผิดปกติเล็กๆ นั้นอาจจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคภัยบางอย่าง และผู้เลี้ยงก็ไม่ควรมองข้ามสัญญาณที่อาจจะบ่งบอกโรคเหล่านั้น เผื่อน้องมีปัญหาสุขภาพจะได้รักษาได้ทันท่วงที

Indian Ringneck Parakeet เหมาะกับผู้ที่

  • มีเวลาอยู่ร่วมกัน ให้ความสนใจ และดูแลมันเป็นประจำ
  • ไม่มีปัญหากับความชอบส่งเสียงของมัน
  • มีประสบการณ์ในการเลี้ยงนกพอสมควร
  • ชอบนกตัวค่อนข้างเล็ก

คำถามที่พบบ่อย

  • มันเข้ากันกับเด็กได้ไหม: มันเข้ากันได้กับเด็กที่เล่นกับนกอย่างเบามือ ไม่ล้ำเส้นมันมากเกินไป
  • มีน้องขายในไทยไหม: น่าจะยังไม่มีขายในประเทศไทยนะ
  • น้องชอบให้ลูบจับไหม: ขึ้นอยู่กับนกแต่ละตัว นกส่วนมากจะให้คนที่มันรักมาลูบจับตามปกติ แต่บางตัวก็จะมีความหวงตัว ไม่ค่อยอยากให้จับ
  • มันใช่นกแก้วโม่งที่เป็นสัตว์คุ้มครองของไทยไหม: ไม่ใช่ มันแค่มีลักษณะที่คล้ายกัน

เรื่องนกๆ ที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image