ฮอลแลนด์ลอป (Holland Lop) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายตัวเล็กจากเนเธอร์แลนด์ที่มีหูพับ มาพร้อมกับหน้าตาที่น่าเอ็นดู ไม่แปลกใจเลยที่มันเป็นกระต่ายที่สามารถครองใจคนเลี้ยงกระต่ายทั่วโลก มาทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้นกันเถอะ
ข้อมูลทั่วไปของฮอลแลนด์ลอป
- ขนาดตัว: เล็กมาก
- น้ำหนัก: 0.9 – 1.8 กก.
- อายุขัย: 7 – 10 ปี
- ความยาวขน: ปานกลาง
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ความต้องการการเอาใจใส่: ปานกลาง
- รูปแบบขน: Rollback (เมื่อลูบย้อนแนวขนจะค่อยๆ คืนสภาพเดิม)
- ลักษณะเฉพาะ: ใบหูพับขนาดปานกลาง ขนหนาแน่น ตัวเล็กจิ๋ว ดวงตามีความกลมโต
ประวัติของฮอลแลนด์ลอป
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือที่เรียกกันว่าฮอลแลนด์ (Holland) ในช่วงปี ค.ศ. 1949 มีนักเพาะพันธุ์กระต่ายชาวฮอลแลนด์ท่านหนึ่งที่มีชื่อว่าคุณ Adrian de Cock ได้นำกระต่ายพันธุ์ French Lop, Netherland Dwarf, และ English Lop มาผสมข้ามสายพันธุ์กัน การพยายามที่จะพัฒนากระต่ายพันธุ์ใหม่ครั้งนี้ดำเนินไปหลายปี จนในที่สุด เขาก็ได้กระต่ายสายพันธุ์ใหม่ที่มีชื่อว่า Holland Lop นั่นเอง ซึ่งมันกลายเป็นที่รู้จักของชาวฮอลแลนด์อย่างรวดเร็ว
ในปี ค.ศ. 1976 ได้มีการนำเข้ากระต่ายสายพันธุ์นี้ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Rabbit Breeders Association (ARBA) ในปี ค.ศ. 1979 หลังจากนั้นเป็นต้นมา กระต่ายสายพันธุ์นี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวอเมริกัน จนถึงในปัจจุบัน มันกลายเป็นสายพันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในโลก และมันยังเป็นพ่อแม่พันธุ์ของกระต่ายสายพันธุ์ใหม่ๆ บางตัวอีกด้วย
ลักษณะนิสัยและความเป็นมิตรของฮอลแลนด์ลอป
กระต่ายแต่ละตัวก็สามารถมีบุคลิกเฉพาะของตนเองที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากมันเป็นกระต่ายที่มีความอ่อนหวาน อ่อนโยน และเป็นมิตรพอสมควร มันสามารถเป็นเพื่อนกับกระต่ายตัวอื่นและคนแปลกหน้าได้ค่อนข้างรวดเร็ว มันชอบเข้าสังคม ชอบที่จะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนที่มันรักและชอบถูกพวกเขาลูบคลำด้วยความรัก มันจึงเหมาะกับผู้ที่สามารถสละเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับมันบ้าง หรือมีเพื่อนกระต่ายอีกสักตัวมาอยู่เป็นเพื่อนมันเพื่อคลายเหงา
นอกจากนี้มันยังมีความขี้เล่น ร่าเริง และกระฉับกระเฉง มันชอบการออกมาวิ่งเล่นนอกกรงของมัน และชอบการใช้เวลาไปกับการกัดและเล่นของเล่นชิ้นโปรดของมัน ดังนั้น ระวังแกนทิชชู่และลังกระดาษของคุณไว้ให้ดี
ความหลากหลายของสีกระต่าย
สีขน
มันเป็นกระต่ายที่มีขนหลากหลายสีให้เลือกมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาล, ดำ, ลาเวนเดอร์, ช็อคโกแลต, ส้ม, ครีม, น้ำตาลแกมเหลือง, ขาว, และอื่นๆ กระต่ายบางตัวมีสีเดียวในตัว บางตัวจะมี 2-3 สีในตัว ส่วนลวดลายจะมีหลายแบบให้เลือกเช่นกัน เช่น สีเรียบ (Self), ลายอกูติ (Agouti), ลายแต้มสี (Pointed), ลายสีเปรอะ (Broken), ลายไล่เฉดสี (Shaded) และลวดลายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากนี้ (Wide Band Group)

การดูแลฮอลแลนด์ลอป
การดูแลด้านอาหารการกิน
ผู้เลี้ยงกระต่ายมือใหม่อาจจะคิดว่ากระต่ายต้องทานแครอทเป็นอาหารหลักเท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งกระต่ายควรอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดทิมโมธี, อัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, แอนเดอร์สัน หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกชนิดหญ้าที่เหมาะสมกับกระต่ายของคุณ การให้หญ้าเป็นอาหารหลักของกระต่ายจะดีกว่าฟางมาก เนื่องจากว่ามันมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นสูงกว่า
อีกราวๆ 20% ที่เหลือนั้นควรเป็นผักและผลไม้ที่มาเสริมสารอาหารและวิตามินต่างๆ ให้กับกระต่ายเพิ่มเติม สามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น แอปเปิ้ล, หน่อไม้ฝรั่ง, พริกหวาน, แครอท, ผักชี, ถั่วงอก, คะน้า, ผักปวยเล้ง, กล้วย, เมลอน, แตงโม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้กระต่ายทาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อร่างกายกระต่าย
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้มันทานมากเกินความจำเป็น เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายน้ำหนักเกินได้ และผู้เลี้ยงต้องหมั่นเช็คว่ามีน้ำสะอาดมากพอให้มันดื่มอยู่เสมอ
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
มันเป็นกระต่ายที่ขนไม่ยาวมากนักซึ่งดูแลขนได้ง่าย แค่ใช้แปรงมาหวีขนให้กับกระต่ายอย่างเบามือบ้าง สักสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้ขนของมันไม่พันกัน และเพื่อกำจัดขนตายและสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวมันออกมาให้หมด ไม่เช่นนั้นมันก็มีโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายที่ติดอยู่ในตัวมันเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหารจนเกิดเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งสามารถส่งผลเสียร้ายแรงกับกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดส่วนที่น้องทำความสะอาดเองไม่ได้บ้าง เช่น บริเวณใบหูและรอบดวงตา
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
เพื่อความปลอดภัย เราไม่ควรเลี้ยงกระต่ายแบบปล่อยนอกบ้าน เราควรเลี้ยงมันอยู่ในกรงที่สะอาด ไม่อับชื้น และไม่ร้อน กรงควรมีความสูงมากพอที่จะให้มันยืน 2 ขาโดยหัวไม่ชนกับเพดานกรง หรือจะเป็นการล้อมคอกให้มันอยู่ก็ดีเหมือนกัน แต่เราควรปล่อยให้กระต่ายออกมาวิ่งเล่นนอกที่อยู่บ้างเพื่อให้มันออกกำลังกาย ทั้งนี้เก็บสายไฟต่างๆ ให้มิดชิด เพราะมันเป็นสัตว์ที่ชอบเคี้ยวและแทะมาก คุณจึงควรคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อพามันออกมาเดินเล่น รวมถึงไม่ให้มันอยู่ในที่ที่สามารถเจอกับเสียงที่ดังมากๆ เพราะกระต่ายอาจจะตกใจจนถึงขั้นช็อกได้
การดูแลเรื่องการเข้าสังคม
กระต่ายเป็นสัตว์สังคม จึงควรให้กระต่ายมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ้าง เจ้าของควรแวะมาเยี่ยม มาเล่นด้วย และมาดูแลมันบ้าง เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน ไม่กัด ถีบ และหนีผู้คน หรือจะมีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันก็ดี เพื่อไม่ให้มันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Holland Lop
- โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
- ฟันยาว (Overgrown Teeth)
- ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
- โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
- โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
- โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)
- โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
- อาการหัวเอียง (Head Tilt)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
- ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
- ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
- ไรในหู (Ear mites)
- โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)
Holland Lop เหมาะกับผู้ที่
- ชอบกระต่ายที่ตัวเล็ก
- ชอบกระต่ายหูพับ
- ชอบกระต่ายที่ขนไม่ยาวมากนัก ดูแลไม่ยาก
- ชอบกระต่ายที่เป็นมิตร อ่อนหวาน เข้ากับคนได้ดี
- มีเวลาอยู่ร่วมกับมัน พามันออกมาเดินเล่น และทำกิจกรรมร่วมกับมันบ้าง
คำถามที่พบบ่อย
- มีขายในไทยไหม: มีขายทั่วไปในไทย สามารถหาตามเพจ Facebook หรือตามเว็บไซต์ได้เลย
- น้องบอบบางไหม: เมื่อเทียบกับขนาดตัว มันเป็นกระต่ายไม่ค่อยบอบบาง ร่างกายแข็งแรง แต่เนื่องจากน้องตัวเล็กมาก เวลาเล่นกับมันจึงต้องเบามือสักนิดนึงเพื่อป้องกันไม่ให้น้องบาดเจ็บ
เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
9 อาหารเม็ดสุนัข ยี่ห้อไหนดี มีคุณภาพ และคนชอบใช้กันบ้าง ปี 2023
ทิเบตัน สแปเนียล (Tibetan Spaniel) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
ไฮยาซิน มาคอว์ (Hyacinth Macaw) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลนก
ปริมาณการให้อาหารแมวต่อน้ำหนักตัว และจำนวนมื้อที่เหมาะสม
9 เตียงสุนัข ที่นอนสุนัข แบบไหนดีและคนชอบใช้บ้าง ปี 2023
นกแก้วไคท์ (Caique Parrot) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลนก
บอสตัน เทอร์เรีย (Boston Terrier) ข้อมูล นิสัยและการดูแลสายพันธุ์สุนัขหูโต
แมวกินมะพร้าวได้ไหม มาหาคำตอบกัน