หนูตะเภาหิมาลัย (Himalayan Guinea Pig) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล

Himalayan Guinea Pig
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

หนูตะเภาหิมาลัย (Himalayan Guinea Pig) มันเป็นหนูตะเภาสายพันธุ์หายากที่มีสีขนราวกับแมววิเชียรมาศ มาพร้อมกับหน้าตาน่ารักๆ มาทำความรู้จักกับมันกัน

ข้อมูลทั่วไปของหนูตะเภาหิมาลัย

  • น้ำหนัก: 0.7 – 1.2 กก.
  • อายุขัย: 5 – 8 ปี
  • ความยาวขน: สั้น
  • ถิ่นกำเนิด: ทวีปอเมริกาใต้
  • ลักษณะเฉพาะ: ตัวมีความกลมและยาวราวกับฝักข้าวโพดอวบๆ ตาสีแดง สีตัวคล้ายคลึงกับแมวพันธุ์วิเชียรมาศ

ประวัติของหนูตะเภาหิมาลัย

ถึงแม้ว่าชื่อของน้องจะดูเหมือนว่าน้องจะมีต้นกำเนิดที่เทือกเขาหิมาลัย แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ ต้นกำเนิดของน้องจะอยู่ในแถบภูเขาแอนดีส (Andes) ที่ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ส่วนเหตุที่น้องชื่อหิมาลายันนั้น น่าจะมาจากสีตัวของน้องที่คล้ายคลึงกับแมวพันธุ์หิมาลายันซึ่งมีเชื้อสายของแมววิเชียรมาศมาก ยับไม่มีข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับหนูตะเภาสายพันธุ์นี้มากนัก แต่ว่าน้องได้รับการยอมรับจากองค์กร American Cavy Breeders Association (ACBA) อย่างเป็นทางการแล้ว ในปัจจุบันน้องก็ยังหายากและไม่เป็นที่นิยมมากนัก

ลักษณะนิสัยของหนูตะเภาหิมาลัย

มันเป็นหนูตะเภาที่มีความอ่อนหวาน อ่อนโยน น่ารัก อัธยาศัยดี และมีความเป็นมิตรสูง น้องเป็นสัตว์ที่ต้องการการเข้าสังคม ชอบใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับเจ้าของ สามารถอยู่ร่วมกับผู้คนและหนูตะเภาตัวอื่นๆ ได้ดี แต่ถ้าหากเป็นหนูเพศเดียวกัน โดยเฉพาะเพศผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ก็อาจจะมีการแสดงความหวงถิ่นของตนบ้าง โดยทั่วๆ ไปน้องจะไม่ก้าวร้าว แต่ถ้าหากว่าเราไปคุกคามน้องจนตกใจหรือเจ็บตัว น้องก็สามารถกัดเพื่อป้องกันตัวได้เช่นกัน

ความหลากหลายของสีหนูตะเภา

สีขน

หนูแกสบี้สายพันธุ์นี้จะมีสีขนเป็นสีขาวนวล และจะมีจุดแต้มสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น ใบหู จมูก และปลายขาทั้งสี่

การดูแลหนูตะเภาหิมาลัย

การดูแลด้านอาหารการกิน

อาหารหลักของหนูตะเภาหิมาลัยควรเป็นหญ้าแห้งชนิดต่างๆ ซึ่งเราแนะนำให้เป็นหญ้าแห้งทิโมธี สัดส่วนของหญ้าแห้งจะอยู่ที่ 85 – 90% ของปริมาณอาหารทั้งหมด ส่วนอาหารเม็ดเราควรให้น้องทานในสัดส่วนที่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารให้น้องเท่านั้น และเราควรเสริมอาหารสดชนิดต่างๆ ให้มันบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อเสริมสารอาหารให้มันบ้างและทำให้มันไม่เบื่ออาหารมากจนเกินไป สามารถให้ผักผลไม้ชนิดต่างๆ ราวๆ 10% ของปริมาณอาหารทั้งหมด เพื่อเสริมวิตามิน เช่น แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), ส้ม, เบอร์รี่, เชอร์รี่, ผักโขม, บรอกโคลี, ผักชีฝรั่ง, แครอท, หน่อไม้ฝรั่ง, และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ผลไม้ควรให้แต่น้อยเนื่องจากว่ามีปริมาณน้ำตาลสูง ถ้าน้องทานอาหารสดไม่หมดภายใน 24 ชั่วโมงก็ควรนำออกมาเปลี่ยนได้แล้ว ไม่ควรให้น้องทานอาหารที่ค้างคืนเหล่านี้เพื่อสุขภาพของตัวน้องเอง แต่ทั้งนี้ มีผักผลไม้บางชนิดที่หนูตะเภาทานไม่ได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องศึกษาเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่วันแรกที่รับน้องเข้ามาเลี้ยง

การดูแลขนและความสะอาด

ถึงแม้ว่าน้องจะเป็นหนูแกสบี้ที่มีขนสั้น แต่ก็ไม่ควรละเลยเรื่องการดูแลขน ผู้เลี้ยงควรนำแปรงมาหวีขนให้น้องอย่างเบามือ ประมาณสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง เพื่อกำจัดขนตาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวน้องออกมาให้หมด แถมการหวีขนยังมีส่วนช่วยในการลดโอกาสที่น้องจะเลียขนตายเหล่านี้เข้าไปจนอุดตันในทางเดินอาหารอีกด้วย
 
ถึงแม้ว่าน้องจะสามารถทำความสะอาดตัวเองได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหากน้องสกปรกมากจริงๆ เราก็ควรช่วยน้องทำความสะอาดตัวบ้าง ด้วยการนำผ้าขนหนูสะอาดมาชุบน้ำหมาดๆ แล้วนำมาเช็ดตัวให้น้องอย่างเบามือ รวมถึงมีการตัดเล็บให้น้องบ้าง อย่างน้อยเดือนนึงก็ควรตัดเล็บให้น้องสักครั้ง เพราะถ้าเราไม่ตัดเล็บให้น้อง น้องอาจจะมีปัญหาในการเดินเพราะเล็บที่ยาวเกินไปได้
 

การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

เราแนะนำว่ากรงที่จะให้หนูตะเภาอยู่ควรมีความยาวประมาณ 100 ซม. หรือมากกว่านี้ ยิ่งกรงใหญ่ยิ่งส่งผลดีต่อตัวน้อง ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกกรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พื้นที่ในบ้านรองรับได้ ที่ตั้งของกรงของน้องนั้นต้องมีอากาศถ่ายเท ไม่มีแดดแรงส่อง ไม่ร้อน ไม่อบอ้าว และไม่อับชื้น ผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดของกรงอยู่เสมอ เราควรมีที่แอบให้น้องอยู่อาศัย เช่น บ้านไม้ หรืออุโมงค์ เพื่อให้น้องรู้สึกปลอดภัย เราแนะนำให้ใช้ขวดน้ำสำหรับหนูแทนจานน้ำ มันจะช่วยให้น้ำไม่หกเลอะเทอะไปทั่วกรงจนทำให้กรงอับชื้น
 

การออกกำลังกาย

เช่นเดียวกับสัตว์หลายๆ ชนิด หนูตะเภาก็ต้องการการออกกำลังกายเหมือนกัน ถ้าหากว่าเจ้าหนูไม่ได้รับการออกกำลังกายมากพอ มันอาจจะทำให้หนูตะเภาน้ำหนักเกิน และอาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างตามมาในภายหลัง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของน้อง คุณจึงควรมีกรงขนาดใหญ่มากพอที่จะให้น้องวิ่งเล่นไปมา อาจจะมีถ้ำหนูให้น้องมุดสำรวจ และอาจจะเอาน้องออกมาเล่นในพื้นที่ปลอดภัยข้างนอกกรงบ้างก็ได้ และอย่าลืมที่จะนำของแทะเข้าไปข้างในให้น้อง เช่น ไม้แทะจากธรรมชาติชนิดต่างๆ ลูกวอลนัท และอื่นๆ เพื่อให้น้องแทะเล่นในกรง ซึ่งมีส่วนช่วยลดโอกาสที่ฟันของน้องจะเติบโตเรื่อยๆ จนยาวผิดปกติ ซึ่งจะเป็นปัญหาสุขภาพในภายหลัง

การฝึกสอน

การที่หนูตะเภาแสดงท่าทีที่ไม่ค่อยไว้ใจคุณเมื่อพบกันครั้งแรกนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เนื่องจากว่าน้องยังไม่คุ้นเคยกับคุณและสภาพแวดล้อมรอบตัวของมัน ผู้เลี้ยงจึงต้องให้น้องทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ของมันสักระยะ แล้วจึงค่อยทำให้น้องคุ้นเคยกับคุณ โดยการนำอาหารวางไว้บนฝ่ามือเพื่อให้น้องเป็นฝ่ายเข้าหาคุณและผูกพันกับคุณ การมาให้น้องพบเห็นหน้าบ่อยๆ ก็มีส่วนช่วยให้น้องคุ้นเคยกับคุณเร็วขึ้นเหมือนกันนะ
 

ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Himalayan Guinea Pig

  • ท้องเสีย (Diarrhea): ท้องเสียสามารถเกิดจากหลายๆ ปัจจัย เช่น สุขอนามัยที่ไม่ดี ความเครียด ติดเชื้อแบคทีเรีย และอื่นๆ สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากความไม่สมดุลของอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรตมากไป ไฟเบอร์ไม่เพียงพอ ปริมาณผลไม้มากไป และอื่นๆ จึงควรใส่ใจเรื่องการจัดความสมดุลให้เหมาะกับน้อง เพื่อลดโอกาสที่น้องจะท้องเสีย
  • ฟันยาวผิดปกติ (Overgrown Teeth): ฟันของหนูตะเภาหิมาลัยนั้นจะเติบโตขึ้นตลอด ถ้าหากว่ามันไม่ได้ใช้ฟันกัดแทะสิ่งต่างๆ มากพอ มันอาจจะส่งผลให้ฟันของมันยาวกว่าปกติจนเป็นปัญหาสุขภาพ เราจึงควรมีไม้แทะให้มันแทะเล่นในกรง
  • โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (Respiratory diseases): ปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ถ้าไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที มันอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ปวดบวม ปัจจัยที่ทำให้เจ้าหนูมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น คือความแออัดของที่ที่มันอยู่อาศัย ความเครียด อากาศไม่ถ่ายเท อุณหภูมิหนาวเย็นเกินไป และความอับชื้นสูง  อาการที่สามารถสังเกตได้คือ หนูจะมีน้ำตาและน้ำมูกไหล เซื่องซึม เบื่ออาหาร หายใจติดขัด และต่อมน้ำเหลืองโต
  • กลาก (Ringworm): เกิดจากการที่เจ้าหนูตะเภาติดเชื้อรา อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ หนูจะขนร่วงบางส่วน และมีสะเก็ดสีขาวแดงที่บริเวณนั้น ซึ่งมันสามารถแพร่เชื้อไปยังหนูตัวอื่นและมนุษย์ได้ จึงอย่าลืมที่จะแยกหนูออกจากกันและสวมถุงมือเวลาจับมันและพาไปพบสัตวแพทย์
  • โรคขาดวิตามิน C (Vitamin C deficiency): สาเหตุเกิดจากการที่หนูขาดวิตามินซี เนื่องจากว่าน้องไม่สามารถผลิตวิตามิน C จากร่างกายตัวเองได้เหมือนสัตว์หลายๆ ชนิด และถ้าหากน้องได้รับวิตามินซีจากอาหารไม่เพียงพอ มันอาจจะทำให้เกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน ผิวหนังและขนหยาบกร้าน อาหารไม่ย่อย และข้อบวม น้องต้องการปริมาณวิตามินซีราวๆ 10 – 50 มิลลิกรัมต่อวัน จึงนั้นจึงควรเสริมอาหารเม็ดและอาหารสดที่มีวิตามิน C ให้น้อง หรือจะให้อาหารเสริมวิตามิน C สำหรับหนูตะเภาโดยเฉพาะก็ได้

หนูตะเภาของคุณอาจจะพบเจอกับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องคอยดูแลเรื่องอาหารการกิน สภาพความเป็นอยู่ และความสะอาดให้มัน เพื่อลดโอกาสที่มันจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง รวมถึงคอยสังเกตและไม่ละเลยอาการผิดปกติต่างๆ ที่แสดงออกมา

Himalayan Guinea Pig เหมาะกับผู้ที่

  • ศึกษามาแล้วว่าหนูแกสบี้กินอะไรไม่ได้
  • มีเพื่อนหนูตะเภาอีกตัวมาอยู่ร่วมกับมัน
  • ชอบหนูตะเภาขนสั้น
  • มีเวลามาทำกิจกรรมร่วมกับน้องบ้าง
  • ผู้ที่มีความใจเย็นในการค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์กับน้อง
  • มีความเบามือ ไม่รุนแรงกับสัตว์เลี้ยง

คำถามที่พบบ่อย

  • มีขายในไทยไหม: ในปัจจุบันน่าจะยังไม่มีขายในไทย
  • น้องชอบให้อุ้ม และลูบจับไหม: แล้วแต่นิสัยของหนูแกสบี้แต่ละตัว บางตัวให้จับตามปกติ แต่บางตัวอาจจะไม่ค่อยชอบใหัจับตัวมันมากมายนัก
  • ต้องดูแลเยอะไหม: มีหลายปัจจัยที่ต้องคอยควบคุมดูแลอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องขน ที่ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ

Featured Image Source: Commons Wikimedia

เรื่องเพื่อนตัวจิ๋วที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image