กระต่ายฮาวานา (Havana rabbit) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีสีเข้ม น่าดึงดูดใจ แถมยังมีนิสัยที่ดีมากๆ อีกด้วย มาทำความรู้จักกับมันกันเถอะ
ข้อมูลทั่วไปของกระต่ายฮาวานา
- ขนาดตัว: ปานกลาง
- น้ำหนัก: 2 – 3 กก.
- อายุขัย: 7 – 10 ปี
- ความยาวขน: สั้น
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศเนเธอร์แลนด์
- ความต้องการการเอาใจใส่: ปานกลาง
- รูปแบบขน: Flyback (เมื่อลูบขนย้อนแนว ขนจะคืนสภาพเดิมอย่างรวดเร็ว)
- ลักษณะเฉพาะ: หูตั้งขนาดปานกลาง ดวงตาโตแชะสวยงาม สีขนจะเป็นสีเข้มและไม่มีลาย รูปร่างสมส่วน ดูมีกล้ามเนื้อ
ประวัติของกระต่ายฮาวานา
กระต่ายสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีการค้นพบกระต่ายตัวสีน้ำตาลเข้มในครอกของกระต่ายสายพันธุ์ Dutch ซึ่งการที่กระต่ายสายพันธุ์นี้เป็นสีน้ำตาลเข้มล้วนทั้งตัวเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก กระต่ายสีน้ำตาลเข้มเหล่านั้นได้ถูกนำไปปรับปรุงสายพันธุ์จนมันกลายออกมาเป็นกระต่ายพันธุ์ Havana ในบทความนี้ ซึ่งชื่อของมัน “Havana” ได้มาจากการที่มันมีสีตัวที่คล้ายกับสีของซิการ์ของเมืองฮาวานาในประเทศคิวบา
ในช่วงปี ค.ศ. 1916 กระต่ายพันธุ์ Havana ได้ถูกส่งตัวไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้นไม่นานนัก มันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Rabbit Breeder’s Association (ARBA) ในปัจจุบัน มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายทั่วไปที่ไม่ได้เป็นที่นิยมมากมายนัก แต่ก็มีผู้คนไม่น้อยในต่างประเทศที่เลี้ยงมันเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจในบ้าน
ลักษณะนิสัยและความเป็นมิตรของกระต่ายฮาวานา
มันเป็นกระต่ายที่มีความสุขุม ใจเย็น อ่อนโยน อ่อนหวาน ไม่ก้าวร้าว ไม่ดื้อ และเป็นมิตรมาก มันสามารถเข้ากันกับเพื่อนกระต่ายตัวอื่นและผู้คนได้ดี มันมีความผูกพันกับมนุษย์สูง ชอบอยู่ร่วมกับผู้คน มันจึงเป็นกระต่ายที่เหมาะสำหรับการนำมาเลี้ยงเป็นเพื่อนในบ้านเป็นอย่างมาก
มันยังเป็นกระต่ายที่มีความขี้เล่นอยู่ในระดับที่กำลังพอดี ไม่มากจนเกินไป แค่ปล่อยมันออกมานอกกรงให้มันวิ่งเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน มันก็สุขใจแล้ว
ความหลากหลายของสีกระต่าย
สีขน
จากที่องค์กร ARBA ระบุไว้ กระต่ายสายพันธุ์นี้สามารถมีสีขนเป็นสีน้ำตาลเข้ม, ดำ, น้ำเงิน, และลาเวนเดอร์ที่เป็นแบบไม่มีลาย และยังมีแบบลายสีเปรอะ (Broken) ที่มีสองสีในตัวอีกด้วย
การดูแลกระต่ายฮาวานา
การดูแลด้านอาหารการกิน
อาหารหลักของกระต่ายไม่ใช่แครอทอย่างที่หลายๆ ท่านคิด แต่เป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งกระต่ายควรมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดอัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, แอนเดอร์สัน, ทิมโมธี, หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ความเหมาะสมกับกระต่ายแต่ละตัวจึงแตกต่างกัน จึงควรเลือกหญ้าแห้งชนิดที่เหมาะกับกระต่ายของคุณมากที่สุด
อีก 20-30% ที่เหลือนั้นควรเป็นผักและผลไม้ที่มาเสริมสารอาหารที่กระต่ายต้องการให้ครบถ้วน สามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น แอปเปิ้ล, หน่อไม้ฝรั่ง, คะน้า, แครอท, ผักกวางตุ้ง, ผักชี, ผักบุ้ง, ผักปวยเล้ง, องุ่น, เมล่อน, สะระแหน่, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้กระต่ายทาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้กระต่ายทานอาหารเม็ดมากเท่าที่มันต้องการ เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้ และผู้เลี้ยงต้องมีน้ำสะอาดมากพอให้มันดื่มอยู่เสมอ
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
ขนสั้นๆ ของมันนั้นดูแลง่ายมาก เพียงแค่นำที่แปรงขนมาหวีขนให้กับกระต่าย หรือจะใช้ถุงมือสำหรับหวีขนสัตว์เลี้ยงก็สะดวกดีเหมือนกัน ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว เพื่อกำจัดขนตาย รวมถึงสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวน้องออกมาให้หมด ผู้เลี้ยงไม่ควรมองข้ามเรื่องการหวีขนให้มัน เพราะการหวีขนให้มันสามารถช่วยลดโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายเหล่านี้ที่ติดอยู่ในตัวมันเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหารจนเกิดเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดรอบดวงตาและใบหูให้มันบ้าง ด้วยการนำผ้าขนหนูสะอาดที่ชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดทำความสะอาดให้มันอย่างเบามือ
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
เพื่อความปลอดภัยของตัวกระต่าย เราแนะนำให้เลี้ยงมันในกรงหรือในพื้นที่ที่กั้นไว้ให้มันอยู่โดยเฉพาะ เราควรเลี้ยงน้องอยู่ในกรงที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่พอที่จะให้มันเดินเล่นได้บ้าง หรือจะเป็นการล้อมรั้วให้มันอยู่ก็ดีเหมือนกัน ทั้งนี้ ที่อยู่ของมันต้องสะอาด ไม่อับชื้น ผู้เลี้ยงต้องคอยทำความสะอาดที่ที่มันอยู่อาศัยอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญ ที่ที่มันอยู่ต้องไม่ร้อนและไม่มีแดดแรงๆ มาโดนกระต่ายโดยตรง เพราะถ้าหากที่อยู่ของมันร้อนมากจนเกินไปอาจจะทำให้กระต่ายเป็นลมแดดได้ และอย่าลืมที่จะนำของเล่นสักชิ้นสองชิ้นเข้าไปให้น้องนั่งแทะเล่นเพื่อแก้เบื่อ
การดูแลเรื่องการเข้าสังคม
กระต่ายเป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ ผู้เลี้ยงควรแวะมาเยี่ยม ดูแลมัน เล่นกับมัน และทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน และลดโอกาสที่มันจะกัด ถีบ และหนีคุณ ควรมีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันเพื่อไม่ให้มันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากจนเกินไป แต่ถ้าเป็นเพื่อนกระต่ายคนละเพศกัน ก็ควรทำหมันไว้ถ้าหากว่าคุณไม่อยากได้ลูกกระต่ายตัวน้อยเพิ่ม นอกจากนี้ ควรปล่อยมันออกมาวิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง เพื่อให้กระต่ายมีสุขภาพแข็งแรงและช่วยปลดปล่อยความเครียดให้มัน
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Havana rabbit
- โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
- ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
- โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
- โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
- โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)
- โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
- ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
- ไรในหู (Ear mites)
- โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)
- ฟันยาว (Overgrown Teeth)
- มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
- อาการหัวเอียง (Head Tilt)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
Havana rabbit เหมาะกับผู้ที่
- ชอบกระต่ายขนาดกลาง
- ผู้เลี้ยงกระต่ายมือใหม่
- ผู้ที่อยู่หอหรืออพาร์ตเมนต์
- ชอบกระต่ายที่ขนสั้น ดูแลง่าย
- มีสมาชิกในครอบครัวคนอื่น เด็กๆ และกระต่ายตัวอื่นในบ้าน
- มีเวลามาอยู่ร่วมกับมัน ปล่อยมันออกมาเดินเล่น และทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง
คำถามที่พบบ่อย
- ปัญหาสุขภาพเยอะไหม: ส่วนมากมันเป็นกระต่ายที่สุขภาพดี ปัญหาสุขภาพไม่มากนัก แต่มันก็ขึ้นอยู่กับกระต่ายแต่ละตัวด้วย
- มีขายในประเทศไทยไหม: ในปี 2022 ไม่น่าจะมีขายในไทย อาจจะต้องนำเข้าจากต่าบประเทศ
เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
10 อาหารสุนัขสูตรปลา ยี่ห้อไหนดีและเหมาะกับน้องที่แพ้ไก่ ปี 2023
ซามอยด์ (Samoyed) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัขขนฟู
10 อาหารสุนัขชิสุ ยี่ห้อไหนดีและช่วยบำรุงขนให้นุ่มสวย ปี 2023
100+ ชื่อแมวลายเสือ ที่ฟังดูดีและมีความเข้ากันกับลายพร้อยของน้อง
10 อาหารสุนัขป่วย ยี่ห้อไหนดีและช่วยน้องพักฟื้นร่างกาย ปี 2023
ไฮยาซิน มาคอว์ (Hyacinth Macaw) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลนก
นกซีบร้าฟินช์ (Zebra Finch) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
10 สัญญาณที่บอกว่าแมวของคุณอาจจะไม่สบาย