อิงลิช เซตเทอร์ (English setter) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข

English setter
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

อิงลิช เซตเทอร์ (English setter) มันเป็นสายพันธุ์สุนัขจากประเทศอังกฤษ ที่มีรูปร่างผอมเพรียวและมีขนยาวสลวยเงางามอยู่ทั่วร่างกาย มาพร้อมกับข้อดีหลายๆ ด้านที่จะทำให้คุณตกหลุมรักในตัวมัน มาทำความรู้จักกับมันให้มากกว่าเดิมในบทความนี้กัน

ข้อมูลทั่วไปของอิงลิช เซตเทอร์

  • ขนาดตัว: ปานกลางถึงใหญ่
  • ความสูงจากไหล่: ตัวเมีย 58 – 64 ซม.  ตัวผู้ 64 – 68 ซม.
  • น้ำหนัก: ตัวเมีย 20 – 27 กก.  ตัวผู้ 29 – 36 กก.
  • อายุขัย: 10 – 12 ปี
  • ความยาวขน: ยาว
  • ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร 
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศอังกฤษ
  • ปริมาณการผลัดขน: ปานกลาง
  • ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
  • ลักษณะเฉพาะ: ขนยาวสลวยปกคลุมอยู่ทั่วร่างกายที่มีความผอมบาง หูพับขนาดค่อนข้างใหญ่ มักจะมีลายสีเปรอะตามร่างกาย

ประวัติของอิงลิช เซตเทอร์

มันสุนัขสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีต้นกำเนิดในช่วงศตวรรษที่ 14 และ 15 มีการคาดว่ามันเกิดจากการที่ชาวอังกฤษบางท่านได้นำสุนัขพันธุ์ Spanish pointer, Water Spaniel, และ Springer Spanial มาผสมพันธุ์เข้าด้วยกัน จนกำเนิดมาเป็นสุนัขที่ซึ่งเป็นรากฐานของ English Setter ซึ่งผู้คนตั้งชื่อให้มันว่าเซตติ้ง สแปเนียล (Setting Spaniel) 
 
ด้วยความว่องไวปราดเปรียว ฉลาดหลักแหลม และความสามารถในการดมกลิ่นที่ดี ผู้คนจึงมักจะใช้เจ้า Setting Spaniel ในการช่วยล่าสัตว์ชนิดนก มันสามารถใช้จมูกติดตามที่อยู่ของนกและสามารถไล่จับมันได้เป็นอย่างดี ประกอบกับความนิยมการล่าสัตว์เริ่มเพิ่มมากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 จึงทำให้สุนัขสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมในประเทศอังกฤษอย่างรวดเร็ว
 
ในช่วงศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษท่านหนึ่งที่ชื่อว่า Edward Laverack เริ่มนำเจ้า Setting Spaniel มาพัฒนาสายพันธุ์ โดยการนำมันไปผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขในตระกูล Setter ของคุณ R. Purcell Llewellin จนมันกลายมาเป็นเจ้า English Setter ในบทความนี้นี่เอง ซึ่งก็ได้มีการส่งตัวมันไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมันก็ได้การยอมรับอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Canoe club (AKC) ในปี ค.ศ. 1878 ส่วนในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้รับความนิยมมากมายนัก แต่มันก็ยังเป็นสัตว์เลี้ยงสุดรักของผู้คนหลายๆ ครอบครัว

ลักษณะนิสัยของอิงลิช เซตเทอร์

มันเป็นสุนัขที่มีความใจดี อ่อนหวาน อ่อนโยน ชอบเข้าสังคม และอัธยาศัยดีมาก จึงทำให้มันสามารถผูกมิตรกับคนรอบข้างได้อย่างรวดเร็ว มันชอบการอยู่ร่วมกับผู้คนที่มันรักและทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาเป็นอย่างมาก แต่มันเกลียดกันถูกทิ้งไว้ตัวคนเดียวเป็นเวลานาน ถ้าคุณไม่มีเวลาให้กับสุนัขเลยมันอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับคุณ 
 
นอกจากนี้ มันยังมีความขี้เล่น ซุกซน ร่าเริง และกระฉับกระเฉง มันจึงเป็นเพื่อนเล่นให้กับคนในครอบครัวและสร้างความสนุกสนานให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี แต่นั่นก็หมายความว่ามันต้องการการออกกำลังกายและวิ่งเล่นเพื่อปลดปล่อยพลังงานบ้างเป็นครั้งคราว แถมมันยังมีความฉลาดเฉลียว เชื่อฟัง และไม่เห่าพร่ำเพรื่ออีกด้วย

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

มันเป็นสุนัขที่มีตาโทนสีน้ำตาล
 

สีขนและสีตัว

สีขนของมันจะเป็นสีขาว และมักจะมีลายจุดสีที่ดูมีความเปรอะกระจายอยู่ทั่วตัว ซึ่งในต่างประเทศจะเรียกกันว่าเบลตัน (Belton) ซึ่งทำให้สีขนของสุนัขสามารถเป็นสีขาว-ลายน้ำตาลส้ม, สีขาว-ลายแดงเลือดหมู, สีขาว-ลายสีบลู, สีขาว-ลายสีบลูและแทน เป็นต้น แต่สีขาวแทบจะตลอดทั้งตัวก็มีให้เลือกเช่นกัน

ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง

โดยทั่วไปมันเป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตรสูงมาก มันจึงเข้ากันได้ดีมากกับเด็กๆ ภายในบ้าน รวมถึงสุนัขตัวอื่นและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้านอีกด้วย ด้วยความชอบเข้าสังคมและความขี้เล่นซุกซนของมัน มันจึงสามารถเป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับเด็กๆ ในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงตัวอื่น มันสามารถวิ่งเล่นกับเด็กๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์โดยไม่รู้จักเบื่อเลยล่ะ แต่ถึงแม้ว่ามันจะมีความเป็นมิตรสูงมาก แต่มันก็ต้องใช้เวลาสักนิดในการทำความคุ้นเคยกับเด็กคนใหม่หรือสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในครอบครัว แต่หลังจากที่สนิทกันแล้ว มันจะเป็นเพื่อนที่ดีให้กับพวกเขาแน่นอน
English setter

การดูแลอิงลิช เซตเทอร์

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

มันเป็นสุนัขที่มีระดับพลังงานที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้มันต้องการการออกกำลังกายเพื่อปลดปล่อยพลังงานอย่างสม่ำเสมอ คุณจึงควรจะแบ่งเวลามาพาเจ้าตูบไปเดินเล่นข้างนอก วิ่งเล่นออกกำลังกาย ว่ายน้ำ หรือจะให้มันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ออกแรงกับคนในครอบครัวก็ได้ เช่น การวิ่งไล่จับกับมัน เราแนะนำว่าระยะเวลาควรจะอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สุนัขปลดปล่อยพลังงานในตัว ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้เจ้าตูบไม่เครียด ไม่เบื่อ และเพื่อให้เจ้าตูบมีสุขภาพร่างกายที่ดี หากมันไม่ได้รับการปลดปล่อยพลังงานมากพอ อาจจะมีปัญหาเรื่องการชอบขุดและการกัดเคี้ยวข้าวของภายในบ้าน
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

ถึงแม้ว่ามันจะเข้าสังคมได้เก่งมากพอสมควรอยู่แล้ว แต่คุณควรพามันไปทำความคุ้นเคยและทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข  เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันแน่นแฟ้นกับพวกเขา รวมถึงให้มันไปพบเจอกับคนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นด้วย เพื่อให้มันสามารถเปิดใจรับผู้อื่นได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องการฝึกสอนสุนัข มันเป็นสุนัขที่มีความฉลาด เชื่อฟัง และมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว การสอนมันอย่างใจเย็นและมีขนมเป็นรางวัลตอบแทนจะทำให้การสอนเจ้าตูบเป็นไปอย่างราบรื่น
 

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

มันเป็นสุนัขที่มีขนยาว แต่ปริมาณการผลัดขนของมันจะไม่มากนัก การดูแลขนให้มันจึงไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น แค่เรานำหวีมาแปรงขนให้มันเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อให้ขนของมันไม่พันกันเป็นก้อนก็เพียงพอแล้ว และอาจจะมีการตัดเล็มขนส่วนเกินให้มันบ้าง ส่วนเรื่องความสะอาด เราควรคอยตัดเล็บ ทำความสะอาดใบหน้าใบหู และอาบน้ำให้มันบ้างหากสุนัขเริ่มสกปรก
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอากาศในประเทศไทยร้อนมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เราจึงควรระวังเรื่องโรคลมแดดในสุนัขไว้บ้างก็ดี วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อน มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดแรงส่องลงมาโดนสุนัขตรงๆ ไม่ให้สุนัขวิ่งเล่นและทำกิจกรรมหนักๆ ในช่วงกลางวัน หมั่นเช็คว่าเรามีน้ำดื่มให้มันมากพอ และเลือกช่วงเวลาในการพาสุนัขออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านให้ดี

ผู้เลี้ยงควรควบคุมรูปร่างและน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในระดับมาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับความอ้วนให้เจ้าตูบ ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุมเอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่คุณสะดวกและเหมาะสมกับสุนัขของคุณ จะเป็นการทานอาหารปกติทั่วไป ทานอาหารแบบบาร์ฟ หรือจะเป็นอาหารที่ทำมาเพื่อสุนัขโดยเฉพาะเลยก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอาหารแบบใด เราก็ต้องให้มันทานในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดตัว และอย่าลืมที่จะศึกษาว่าอาหารชนิดใดบ้างที่สุนัขทานไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตูบเอง

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน English setter

  • โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ สุนัขไม่ค่อยอยากเคลื่อนไหว ดูมีความเจ็บปวดและไม่มีแรงที่ขาหลัง เดินกะเผลก และกล้ามเนื้อขาหลังลีบลง ถึงแม้ว่ามันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ โดยการคอยควบคุมน้ำหนักตัวของมันไม่ให้ตัวหนักเกินมาตรฐาน
  • หูหนวก (Deafness): อาการที่สามารถสังเกตได้ว่าสุนัขอาจจะหูหนวก คือ มันไม่ตอบสนองต่อการเรียกของเราหรือเสียงใดๆ
  • ภาวะไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism): เกิดจากการที่สุนัขมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าระดับทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย
 

โรคภัยอื่นๆ ที่สามารถพบเจอในสุนัข

  • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • ต้อกระจก(Cataract)
  • โรคลมแดด (Heatstroke)
  • โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
  • โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
  • ไตวาย (Kidney Failure)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
  • โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
  • กลากเกลื้อน (Ringworm)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า English setter

  • มันมีความขี้เล่น ซุกซน และกระฉับกระเฉง
  • มีความใจดี อ่อนโยน และรักผู้คนในครอบครัว
  • มันชอบเข้าสังคม แต่เกลียดการอยู่ตัวเดียวนานๆ
  • ขนของมันต้องการการดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ขนไม่ติดพันกัน

English setter เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบสุนัขขนาดกลางถึงใหญ่
  • มีเวลาอยู่ร่วมกับมัน ดูแลขน และมีปฏิสัมพันธ์กับมันเป็นประจำ
  • ชอบสุนัขที่มีความขี้เล่น มีชีวิตชีวา
  • ชอบสุนัขที่ฉลาด เชื่อฟัง ฝึกสอนง่าย
  • ชอบสุนัขที่มีความเป็นมิตรสูง

คำถามที่พบบ่อย

  • เหมาะกับผู้เลี้ยงมือใหม่ไหม: ค่อนข้างเหมาะกับผู้เลี้ยงสุนัขมือใหม่
  • เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่นได้ไหม: เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่น และแมวตัวอื่นได้ดี
  • เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: เลี้ยงกับเด็กๆ ในครอบครัวได้ดีมาก
  • เฝ้าบ้านได้ไหม: พอเห่าเฝ้าบ้านได้บ้าง แต่ไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่
  • เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: ไม่ได้เป็นสุนัขที่เหมาะกับคนเป็นภูมิแพ้มากนัก

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image