กระต่ายพันธุ์ดัตช์ (Dutch rabbit) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล

กระต่ายพันธุ์ดัตช์
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

กระต่ายพันธุ์ดัตช์ (Dutch rabbit) มันเป็นสายพันธุ์กระต่ายตัวเล็กยอดนิยมจากอังกฤษ ที่มีลวดลายที่ดูมีระเบียบและดูสง่างาม มาศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกระต่ายตัวนี้กันเถอะ

ข้อมูลทั่วไปของกระต่ายพันธุ์ดัตช์

  • ขนาดตัว: ค่อนข้างเล็ก
  • น้ำหนัก: 1.5 – 2.5 กก.
  • อายุขัย: 6 – 10 ปี
  • ความยาวขน: สั้น
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศอังกฤษ 🇬🇧
  • ความต้องการการเอาใจใส่: ปานกลาง
  • รูปแบบขน: Flyback (เมื่อลูบย้อนแนวขน มันจะคืนสภาพเดิมอย่างรวดเร็ว)
  • ลักษณะเฉพาะ: ใบหูตั้งขึ้นขนาดปานกลาง ดวงตามักจะเป็นสีน้ำตาล มีตัวสีขาวผสมกับลวดลายสีอื่นที่มีการแบ่งเขตสีชัดเจนซึ่งดูเรียบง่าย ไม่รก และเป็นเอกลักษณ์

ประวัติของกระต่ายพันธุ์ดัตช์

กระต่ายดัตช์ หรือที่ผู้คนเรียกกันว่ากระต่าย Brabander หรือ Hollander นั้น มีการค้นพบมันครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษเมื่อศตวรรษที่ 19 และได้มีการเพาะพันธุ์และส่งออกมันไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยเป็นสายพันธุ์กระต่ายตัวเล็กที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ทว่าในปัจจุบัน มีสายพันธุ์กระต่ายตัวจิ๋วมากมายให้ผู้คนเลือก ความนิยมของกระต่ายดัตช์จึงลดน้อยลงไปบ้างเล็กน้อย แต่มันก็ยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 สายพันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในโลกอยู่ดี โดยมันได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากทางองค์กร British Rabbit Council และองค์กร American Rabbit Breeders Association (ARBA) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ลักษณะนิสัยและความเป็นมิตรของกระต่ายพันธุ์ดัตช์

มันเป็นกระต่ายที่มีความเป็นมิตร อ่อนโยน อ่อนหวาน อัธยาศัยดี สามารถตีสนิทกับคนแปลกหน้าและเพื่อนกระต่ายตัวอื่นได้ไว มันเป็นกระต่ายที่ชอบเข้าสังคม มันชอบใช้เวลาไปกับการอยู่กับเพื่อนๆ และเหล่าคนที่มันผูกพันด้วย มันยังเป็นกระต่ายที่ฉลาดพอสมควร จึงนำมันมาฝึกให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้รวดเร็ว นอกจากนี้ มันยังเป็นกระต่ายที่มีความขี้เล่น ซุกซน และพลังงานสูงพอสมควร มันชื่นชอบการที่ได้ออกมาวิ่งเล่นข้างนอกกรงเป็นอย่างมาก จึงไม่เหมาะที่จะขังมันให้อยู่ในที่แคบๆ ทั้งวัน เพราะมันอาจจะทำให้กระต่ายมีอาการเบื่อและหดหู่ได้ แต่ทั้งนี้ กระต่ายบางตัวอาจจะมีบุคลิกที่แตกต่างไปจากนี้ได้ 

ความหลากหลายของสีกระต่าย

สีขน

มันเป็นกระต่ายที่มักจะมีสองสีในตัว ซึ่งสีตัวมันจะประกอบด้วยสีขาวเสมอ ส่วนอีกสีที่เป็นลายบริเวณท่อนล่างของตัว หู และดวงตา ส่วนมากจะเป็นสีดำ และยังมีสีอื่นๆ อีก เช่น  น้ำตาล, เทา, น้ำเงิน, ทอง, สีชินชิล่า และอื่นๆ กระต่ายบางตัวจะมีถึง 3 สีในตัว
กระต่ายพันธุ์ดัตช์

การดูแลกระต่ายพันธุ์ดัตช์

การดูแลด้านอาหารการกิน

ผู้เลี้ยงกระต่ายมือใหม่บางท่านอาจจะคิดว่ากระต่ายทานแครอทเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน แต่ความจริงแล้วอาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้าแห้ง ซึ่งสัดส่วนการให้หญ้าแห้งกระต่ายควรอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของปริมาณอาหารทั้งหมด จะเป็นหญ้าแห้งชนิดทิมโมธี, อัลฟาฟ่า, แพงโกล่า, แอนเดอร์สัน หรืออื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้ หญ้าแต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันออกไป ผู้เลี้ยงจึงควรเลือกชนิดหญ้าที่เหมาะสมกับกระต่ายของคุณ การให้หญ้าเป็นอาหารหลักของกระต่ายจะดีกว่าฟาง เนื่องจากว่ามันมีปริมาณสารอาหารที่จำเป็นสูงกว่า
 
อีกราวๆ 20% ที่เหลือนั้นควรเป็นผักและผลไม้ที่มาเสริมสารอาหารที่มีประโยชน์ให้กับกระต่ายเพิ่มเติม สามารถเป็นผักใบเขียวและผลไม้ชนิดที่กระต่ายสามารถทานได้ เช่น แอปเปิ้ล, หน่อไม้ฝรั่ง, พริกหวาน, แครอท, ผักกวางตุ้ง, ถั่วงอก, คะน้า, ผักปวยเล้ง, กล้วย, เมลอน, สตรอว์เบอร์รี่, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และอื่นๆ แต่ก็มีผักผลไม้บางชนิดที่ห้ามให้กระต่ายทาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย
 
อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายนั้นควรให้แต่น้อยเพื่อเสริมสารอาหารที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรให้มันทานมากเกินความจำเป็น เพราะอาจจะทำให้เจ้ากระต่ายน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนได้ และผู้เลี้ยงต้องหมั่นเช็คว่ามีน้ำสะอาดมากพอให้มันดื่มอยู่เสมอ

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

มันเป็นกระต่ายที่ขนสั้นนักซึ่งดูแลง่าย แค่ใช้ที่แปรงขนมาหวีขนให้กับกระต่ายอย่างเบามือสักนิด สักสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เพื่อกำจัดขนตายและสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวมันออกมาให้หมด ไม่เช่นนั้นมันก็มีโอกาสที่เจ้ากระต่ายจะเลียขนทำความสะอาดตัวเอง จนขนตายที่ติดอยู่ในตัวมันเข้าไปอุดตันสะสมที่ทางเดินอาหารจนเกิดเป็นโรคแฮร์บอล (Hairball) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกระต่าย รวมถึงมีการตัดเล็บ และดูแลความสะอาดรอบดวงตาและใบหูให้มันบ้าง ด้วยการนำผ้าสะอาดที่ชุบน้ำหมาดๆ มาเช็ดให้มันอย่างเบามือ
 

การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

เราไม่ควรเลี้ยงกระต่ายแบบปล่อยนอกบ้าน เพราะว่ามันดูแลยากและไม่ปลอดภัย เราควรเลี้ยงมันอยู่ในกรงที่สะอาด ไม่อับชื้นและไม่ร้อน กรงควรมีความสูงมากพอที่จะให้มันยืน 2 ขาโดยหัวไม่ชนกับเพดานกรง หรือจะเป็นการล้อมรั้วให้มันอยู่ก็ดีเหมือนกัน แต่เราควรปล่อยให้กระต่ายออกมาวิ่งเล่นนอกที่อยู่บ้างเพื่อให้มันออกกำลังกายและได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทั้งนี้เก็บสายไฟต่างๆ ให้มิดชิด เพราะมันเป็นสัตว์ที่ชอบหาอะไรมาแทะมาก คุณจึงควรคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อพามันออกมาเดินเล่น รวมถึงไม่ให้มันอยู่ในที่ที่สามารถเจอกับเสียงที่ดังมากๆ เพราะกระต่ายอาจจะตกใจจนถึงขั้นช็อกได้
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคม

มันเป็นกระต่ายที่ชอบเข้าสังคมมาก ไม่ชอบอยู่ตัวเดียวนานๆ จึงควรให้กระต่ายมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนบ้าง เจ้าของควรแวะมาเยี่ยม มาเล่นด้วย และมาดูแลมันบ้าง เพื่อให้มันคุ้นเคยกับผู้คน ไม่กัด ถีบ และหนีผู้คน รวมถึงควรมีเพื่อนกระต่ายตัวอื่นมาอยู่ร่วมกันกับมันเพื่อไม่ให้มันรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากจนเกินไป
 

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Dutch rabbit

  • โรคในระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal)
  • ฟันยาว (Overgrown Teeth)
  • มะเร็งมดลูกในกระต่าย (Uterine Adenocarcinoma in Rabbits)
  • อาการหัวเอียง (Head Tilt)
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract Infection)
  • โรคพาสเจอร์เรลโลซิส (Pasteurellosis)
  • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • ติดเชื้อสแตฟฟิลโลคอคโคซีส (Staphylococcus aureus)
  • ไรที่ผิวหนัง (Sarcoptic Mange in rabbits)
  • ไรในหู (Ear mites)
  • โรคฝีในกระต่าย (Rabbit Abscesses)
  • ก้อนขนอุดตันในทางเดินอาหาร (Hairballs, Trichobezoars)
  • โรคติดไวรัสไมโซมาโตซิส (Myxomatosis)
  • โรคเลือดออกในกระต่าย (Rabbit Haemorrhagic Disease, RHD)
  • โรคไข้สมองอักเสบในกระต่าย (Encephalitozoon Cuniculi, E.cuniculi)

Dutch rabbit เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบกระต่ายที่ขนสั้น
  • ชอบกระต่ายที่ขี้เล่น ซุกซน
  • ชอบกระต่ายที่ตัวค่อนข้างเล็ก
  • มีเวลาพามันออกมาเปิดโลกนอกกรง และอยู่ร่วมกับมันบ้าง
  • ชอบกระต่ายที่เป็นมิตร เข้ากับคนและเพื่อนตัวอื่นได้ดี

คำถามที่พบบ่อย

  • ตัวเล็กแค่ไหน: ไม่เล็กมาก (ตัวใหญ่กว่ากระต่ายยอดฮิตอย่างเจ้า Holland lop)
  • หาซื้อได้ที่ไหน: มีฟาร์มกระต่ายดัตช์มากมายในประเทศไทย 

เรื่องกระต่ายที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image