นกกระตั้ว (Cockatoo) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลนกใหญ่

Cockatoo
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

นกกระตั้ว (Cockatoo)  มันเป็นตระกูลนกที่มีมากถึง 21 สายพันธุ์ย่อย ด้วยความสวยงามและความน่ารักของน้อง จึงไม่แปลกใจเลยที่มันเป็นนกในฝันของใครหลายๆ คน มาทำความรู้จักน้องให้มากขึ้นกัน

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย

ข้อมูลทั่วไปของนกกระตั้ว

  • น้ำหนัก: ประมาณ 0.3 ถึง 1.2 กก.
  • อายุขัย: 20 – 40 ปี หรือมากกว่านี้
  • ความฉลาด: ฉลาดมาก
  • ความยาวตัว: ประมาณ 30 – 70 ซม.
  • ถิ่นกำเนิด: ทวีปโอเชียเนีย (Oceania)
  • ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Cacatuidae
  • ลักษณะเฉพาะ: ตัวใหญ่พอสมควร ส่วนมากจะมีหงอนอยู่บนหัว แต่บางพันธุ์ก็ไม่มีหงอน ดวงตากลมสีดำสวยงาม สีขนดูไม่สดใสเท่านกแก้วมาคอร์

ประวัติของนกกระตั้ว

นกตระกูลนี้ทุกสายพันธุ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปโอเชียเนีย (Oceania) ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และนิวซีแลนด์ โดยนกเหล่านี้ถูกค้นพบโดยนักเดินเรือชาวยุโรปครั้งแรกในปี ค.ศ. 1850 ซึ่งเขาก็ได้นำนกเหล่านี้ติดมือกลับมายังยุโรปด้วย ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่สิบปี ในช่วงศตวรรษที่ 20 นกตระกูลนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงของชนชั้นสูง รวมถึงชาวยุโรปทั่วไปอีกด้วย และยังมีการส่งนกสายพันธุ์นี้ไปยังประเทศต่างๆ นอกยุโรป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ได้มีการจัดตั้งโครงการเพาะพันธุ์นกเหล่านี้ที่ประเทศต่างๆ จึงทำให้มันเริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงอย่างกว้างขวางจนมาถึงในปัจจุบัน ซึ่งนกเหล่านี้ที่คนเลี้ยงจะมาจากการเพาะพันธุ์โดยมนุษย์เป็นหลัก

    ข้อควรระวัง

ก่อนเลี้ยงนกควรต้องศึกษาเรื่องกฎหมายก่อน ในปัจจุบันนกบางสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ใน CITES บัญชีหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งแต่ละบัญชีก็จะมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ซึ่งคุณต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าในปัจจุบันนกสายพันธุ์นี้อยู่ที่ CITES บัญชีไหนหรือไม่ มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อขายครอบครองนกสายพันธุ์นี้ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อนกที่ถูกดักจับจากป่าอย่างผิดกฎหมาย

ลักษณะนิสัยของนกกระตั้ว

ส่วนมากมันจะเป็นนกที่มีชีวิตชีวา ขี้เล่น ซุกซน น่ารัก และรักเจ้าของ มันเป็นนกที่มีความผูกพันกับเจ้าของเป็นอย่างมาก แต่มันเป็นนกที่ต้องการความสนใจและความรักจากเจ้าของอยู่เสมอ ถ้ามันไม่ได้รับความสนใจมากเพียงพอ นกจะแสดงอาการหดหู่ ส่งเสียงดัง ถอนขนตัวเอง และอาจจะมีปัญหาด้านพฤติกรรมได้ มันจึงเหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงนกมาบ้างแล้ว แต่ทั้งนี้ นกแต่ละตัวก็อาจจะมีนิสัยที่แตกต่างกัน บางตัวอาจจะเข้าสังคมได้ดี แต่บางตัวอาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนแปลกหน้าและเด็ก แถมมันยังมีจะงอยปากที่แข็งแรงและกรงเล็บที่แหลมคม ซึ่งอาจจะทำให้เด็กๆ บาดเจ็บ มันจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการเลี้ยงกับเด็กเล็กโดยไร้การป้องกันมากนัก
 

การพูดคุยและส่งเสียง

ในบางครั้งนกสายพันธุ์นี้อาจจะส่งเสียงร้องเสียงดัง โดยเฉพาะในเวลาที่มันรู้สึกไม่ได้รับความสนใจมากพอ จึงอาจจะรบกวนเพื่อนบ้านได้ และด้วยความที่ว่านกตระกูลนี้เป็นนกที่ฉลาดพอสมควร มันจึงสามารถเลียนแบบเสียงพูดและเสียงที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้อย่าบรวดเร็ว จะสังเกตได้ว่านกบางตัวจะเลียนแบบเสียงแมวในบ้าน เพราะเหตุนี้ จึงสามารถนำมันมาสอนให้พูดสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แถมยังสามารถนำมันมาฝึกให้ปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ อีกด้วย

ลักษณะภายนอกและความหลากหลายของนก

สีและลักษณะภายนอก

ส่วนมากมันจะเป็นนกที่มีสีสันไม่ฉูดฉาดมากนัก เช่น สีขาว, ดำ, เทา, ชมพูอ่อน และอื่นๆ และบางสายพันธุ์อาจจะมีสีฉูดฉาด เช่น สีแดง และสีเหลืองที่บางจุดของร่างกาย นกในตระกูลนี้หลายๆ พันธุ์จะมีหงอนบนหัวที่เป็นลักษณะเฉพาะ แต่บางพันธุ์ก็ไม่มีหงอนเหล่านี้ สิ่งที่มีเหมือนกันคือจะจอยปากอันแข็งแรง นกกระตั้วตัวเมียและตัวผู้มีความเหมือนมากกันพอสมควร วิธีการแยกแยะนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ และสามารถตรวจ DNA เพื่อบ่งบอกเพศได้เช่นกัน
 

ความหลากหลายของสายพันธุ์

นกตระกูลนี้จะมีสายพันธุ์ย่อยมากถึง 21 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีรูปร่าง ลักษณะ และสีสันของขนที่แตกต่างกันไป
Cockatoo

การดูแลนกกระตั้ว

การดูแลด้านอาหารการกิน

เราสามารถซื้ออาหารเม็ดสำหรับนกใหญ่ให้น้องทานได้เลย โดยอาหารเม็ดสำหรับนกควรจะอยู่ที่สัดส่วนประมาณ 75% ของปริมาณอาหารทั้งหมด และอีกราวๆ 25% สามารถเป็นอาหารสดชนิดต่างๆ ให้น้องทานเพื่อเสริมสารอาหาร อาหารสดดังกล่าวสามารถเป็นผัก ผลไม้ หรือธัญพืชชนิดต่างๆ ก็ได้ เช่น เมล็ดทานตะวัน, กล้วย, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), คะน้า, ถั่วฝักยาว, แครอท และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ อาหารที่ไขมันสูงอย่างเมล็ดทานตะวัน ควรให้น้องในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น ถ้าน้องทานอาหารสดเหล่านี้ไม่หมดก็ควรเอาออกมาเปลี่ยน ไม่ควรให้น้องทานอาหารค้างคืนที่อาจจะบูดแล้ว เพราะมันอาจจะส่งผลให้น้องป่วยได้ (ถ้าเป็นลูกนกต้องให้อาหารชงสำหรับลูกป้อนก่อน)

การดูแลขนและความสะอาด

นกเป็นสัตว์ที่จะคอยจัดแต่งขนและทำความสะอาดตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลความสะอาดของน้องมากนัก แต่ถ้าหากว่าน้องเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น เราสามารถนำกะละมังขนาดใหญ่มากพอให้น้องกระพือปีกได้ ที่มีน้ำตื้นๆ ให้น้องเล่นและอาบน้ำตัวเอง หรือจะใช้กระบอกน้ำฟอกกี้ (Foggy) แบบแรงดันฉีดน้ำไปที่ลำตัวและปีกให้น้องอาบก็ได้ จะได้ไม่ต้องกดฟอกกี้บ่อยๆ จนปวดแขน
 

การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย

เนื่องจากว่าน้องเป็นนกที่ตัวใหญ่ กรงของน้องจึงต้องเป็นกรงนกขนาดใหญ่มากพอที่จะให้นกกางปีกได้บ้าง และกรงต้องทำมาจากวัสดุที่มีความแข็งแรงมากพอที่จะรับมือกับจะงอยปากที่แข็งแรงของนก ที่ตั้งของกรงน้องนั้นควรจะอยู่ในที่ที่มีคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันเป็นประจำ เช่น ห้องนั่งเล่น เพื่อให้น้องไม่รู้สึกเหงาจนเกินไป และที่ตั้งกรงของน้องควรไม่มีแดดแรงส่องถึง ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท และผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลความสะอาดของกรงนกอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะนำของเล่นสำหรับนกเข้าไปให้น้องเคี้ยวเล่นแก้เบื่อ 

การออกกำลังกายและอื่นๆ

นกควรได้รับการออกกำลังกายบ้างเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวมันเอง คุณสามารถนำน้องออกมาเล่นในห้องข้างนอกกรงบ้าง ประมาณวันละ 2-3 ชั่วโมงหรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อให้น้องได้ยืดสยายปีกได้เต็มที่ และต้องมีเวลามาให้ความสนใจกับมันบ้าง เล่นกับมันบ้าง และอาจจะสอนมันพูดคุยบ้าง เพื่อให้มันไม่เหงา ไม่หดหู่ และไม่เก็บกด
 

ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Cockatoo

  • โรคจะงอยปากและขน (Psittacine beak and feather disease): เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ อาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ นกขนร่วงผิดปกติ จะงอยปากผิดรูปและแตก เซื่องซึม บินได้ไม่ดีเหมือนเก่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ถ้านกคุณมีอาการเหล่านี้ ให้นำน้องไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับแยกนกตัวที่แข็งแรงออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
  • โรคกระเพาะขยาย (Proventricular Dilatation Disease): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ นกจะตัวผอมลง น้ำหนักลดเรื่อย เซื่องซึม และอาเจียน แต่นกบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกระทั่งเริ่มอาการหนักแล้ว
  • ไรในนก (Bird Mites): ไรในนกนั้นร้ายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้นกของคุณเสียชีวิตได้ และยังสามารถสร้างความรำคาญให้กับมนุษย์อีกด้วย อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ นกจะน้ำหนักตัวลดลง ขนยุ่ง และน้องจะกัดขนและตกแต่งขนบ่อยผิดปกติ ขนร่วง และผิวหนังเป็นแผล วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หมั่นรักษาความสะอาดกรงของน้อง ไม่ให้กรงของน้องมีความอับชื้น และไม่ให้น้องเข้าใกล้นกจากธรรมชาติตัวอื่น โดยเฉพาะนกพิราบ ที่อาจจะมีไรนกติดมาด้วย
  • โรคซิตาโคซิส (Psittacosis): หรือที่เรียกกันว่า “โรคไข้นกแก้ว” มันเป็นโรคที่สามารถติดจากนกและสัตว์ปีกอื่นๆ สู่คนผ่านการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ นกที่อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเซื่องซึม ถ่ายบ่อย ไม่ค่อยทานอาหาร และมูลนกจะมีสีแปลกไปจากปกติ

Cockatoo เหมาะกับผู้ที่

  • ผู้ที่เคยเลี้ยงนกมาก่อนแล้ว
  • ชอบสอนนกให้พูด
  • ชอบนกที่ฉลาด สามารถฝึกสอนได้
  • มั่นใจว่าเสียงนกของคุณจะไม่ไปรบกวนเพื่อนบ้าน
  • ไม่มีเด็กเล็กในบ้าน
  • มีเวลาดูแลมัน ให้ความสนใจ และอยู่ร่วมกันมากพอสมควร
  • มีพื้นที่ในการเลี้ยงนกมากพอสมควร

คำถามที่พบบ่อย

  • น้องชอบให้ลูบจับไหม: แล้วแต่นิสัยของนกแต่ละตัว บางตัวให้จับตามปกติ แต่บางตัวไม่ชอบให้จับมากนัก
  • น้องเสียงดังไหม: เสียงดังมากพอสมควร
  • มีน้องขายในไทยไหม: บางสายพันธุ์มีขายในไทย สามารถหาซื้อได้เลย

เรื่องนกๆ ที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image