ชิวาวา (Chihuahua) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสายพันธุ์สุนัขเล็กจิ๋ว

ชิวาวา
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง
ชิวาวา (Chihuahua) เป็นอีกสุนัขสายพันธุ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าโด่งดังมากๆ เนื่องจากขนาดตัวที่ปุ๊กปิ๊ก พกง่าย แถมยังมีหน้าตาที่น่ารัก ตากลมโต มีสิสัยที่ขี้อ้อน น่ารัก รักเจ้าของ แถมมาพร้อมกับเสียงเห่าสุดแสบแก้วหู ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักเจ้าสุนัขพันธุ์นี้ให้มากขึ้น เผื่อใครสนใจที่จะรับสุนัขพันธุ์นี้ไปเป็นสมาชิกครอบครัวคนใหม่

ข้อมูลทั่วไปของชิวาวา

  • ขนาดตัว:  เล็กมาก
  • ความสูง:  15-25 ซม.
  • น้ำหนัก:  1.5 – 2.8 กิโลกรัม
  • ลักษณะเฉพาะ:  ตัวเล็กจิ๋ว หัวทรงแอปเปิ้ล ตาโต 
  • ความยาวขน:  มีตั้งแต่สั้นจนถึงค่อนข้างยาว
  • อายุขัย:  12-18 ปี
  • ปริมาณการผลัดขน: น้อย
  • ความยาวขน: มีทั้งแบบขนสั้นและแบบขนยาวให้เลือก
  • ความฉลาด:  ค่อนข้างฉลาด
  • ถิ่นกำเนิด:  ประเทศแม็กซิโก (Mexico)

ประวัติของ Chihuahua

สุนัขสายพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยภูเขาในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแม็กซิโก (Mexico) แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งต่างๆที่พยามถกเถียงกันว่าชิวาวากำเนิดมาจากประเทศอื่นเช่นกัน หลายๆคนเชื่อว่าชิวาวานั้นสืบสายพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ Techichi ซึ่งเป็นสุนัขจากทะเลทรายที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากว่ายังมีรูปปั้นของสุนัขพันธุ์ Techichi ที่ชนเผ่ามายาสร้างขึ้นหลงเหลืออยู่ มันมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันชิวาวามาก ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาและรูปร่าง
 
มันถูกจดทะเบียนครั้งแรกโดย American Kennel Club (AKC) ในปี ค.ศ.1904  ในยุคปัจจุบัน ชิวาวาได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกไม่น้อย มันเป็นอีกหนึ่งสุนัขพันธุ์เล็กที่มีคนเลี้ยงมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง ผู้คนในประเทศไทยก็นิยมเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้เช่นกัน เนื่องจากความน่ารักและพกพาไปไหนง่ายของมัน

ลักษณะนิสัยของชิวาวา

ชิวาวาเป็นสายพันธุ์สุนัขตัวจิ๋วที่มีความจงรักภักดีสูง เป็นมิตรและรักผู้คนรอบข้างที่รู้จัก มีความขี้อ้อนอยู่บ้าง ในบางครั้งชิวาวาก็จะดูเป็นสุนัขเงียบๆ แต่ถ้าหากมันเจออะไรแปลกๆ ที่ทำให้มันตกใจ หรือรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคาม เช่น เวลาเจอคกแปลกหน้าหรือสุนัขที่ไม่รู้จักเข้าใกล้อาณาเขตของมัน มันก็จะส่งเสียงเห่าแหลมๆ ออกมาเพื่อสร้างอาณาเขต
 
นอกจากนี้ สุนัขสายพันธุ์นี้มีความกล้าหาญที่ค่อนข้างสูง ตัวเล็กแต่ใจใหญ่เกินตัว มันกล้าที่จะเผชิญหน้ากับสุนัขที่มีตัวใหญ่กว่ามันเยอะโดยที่ไม่สนใจความต่างของขนาดตัวเลย เราแนะนำว่าคุณควรจะระวังความปลอดภัยของมันสักนิดเวลามันไปเจอกับสุนัขตัวใหญ่ที่ไม่เป็นมิตรสักเท่าไหร่ เนื่องจากนิสัยที่กล้าหาญของมัน มันอาจจะโดนสุนัขตัวใหญ่ทำร้ายจนบาดเจ็บได้

สายพันธุ์ย่อยของชิวาวาและความหลากหลายของสี

สายพันธุ์ย่อย

โดยหลักๆนั้นสามารถจำแนกชิวาวาได้เป็น 2 แบบ นั่นคือ
 
  • ชิวาวาแบบขนสั้น
  • ชิวาวาแบบขนยาว
แน่นอนชิวาวาแบบขนสั้นต้องการความดูแลเรื่องขนและการทำความสะอาดน้อยกว่าชิวาวาที่มีขนยาวอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลของแต่ละคน
 
 

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

ชิวาวาพันธุ์แท้จะมีตาโทนสีดำ หรือน้ำตาล

สีขน

สีโทนน้ำตาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สีครีม สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลช็อกโกแลต สีน้ำตาลปกติ นอกจากี้ยังมีสีขาวล้วน และสีเทาอีกด้วย ส่วนมาจะมีสีขาวแซมบริเวณลำคอและอก

ความเป็นมิตรของชิวาวาที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

ชิวาวานั้นมีความเป็นมิตรต่อมนุษย์ที่มันคุ้นเคยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ มันสามารถเข้ากับลูกๆที่บ้านคุณได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้มันยังสามารถเข้ากันได้กับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เช่น แมว กระต่าย แต่ควรต้องระวังเรื่องความตัวเล็กและบอบบางของมันสักนิดนึง หากว่าคุณมีสัตว์เลี้ยงอื่นที่ตัวใหญ่ หรือมีเด็กๆที่ยังอยู่ในวัยที่ยังไม่ค่อยรู้ความ เด็กๆ หรือสัตว์ตัวใหญ่อาจจะเล่นแรงกับเจ้าชิวาวาเกินไป และทำให้เจ้าชิวาวาเจ็บตัวได้ 
 
ถ้าเป็นเด็กๆ หรือสัตว์ตัวอื่นๆ ที่เช้าชิวาวาพึ่งเคยเจอ เราแนะนำว่าควรให้เวลามันเพื่อให้มันค่อยๆ ทำความคุ้นเคยและทำความรู้จักกันและกันสักระยะนึงก่อน จึงค่อยเอามาเล่นด้วยกัน และอยู่ด้วยกันจะดีกว่า
ชิวาวา

การดูแลชิวาวา

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

ชิวาวาเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่เลี้ยงค่อนข้างง่าย เพราะว่ามันไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เราควรมีเวลาสักนิดเพื่อพามันไปเดินเล่นออกกำลังกายสักหน่อย จะเป็นบริเวณหน้าบ้าน สวนสาธารณะหรือที่อื่นก็ได้ เป็นการพาเดินเบาๆหรือวิ่งจ๊อกกิ้งสัก 30-50 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว หรือจะเป็นการให้มันวิ่งเล่น ทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว เพื่อสุขภาพที่ดีของเจ้าตูบตัวน้อยและเพื่อลดความเครียดในตัวของสุนัข พยายามเล่นกับสุนัขเบาๆ อย่าหนักมือจนเกินไปกับสุนัขสายพันธุ์นี้ เพราะว่ามันตัวเล็กมาก จึงมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่ายมากๆ

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

ชิวาวาจำเป็นต้องได้รับการฝึกให้เข้าสังคมตั้งแต่เด็ก ไม่เช่นนั้นมันอาจจะมีความรักสันโดษ เข้ากันกับผู้อื่นไม่ค่อยได้ และอาจจะมีความก้าวร้าวกับผู้อื่นได้ เราจึงควรพามันไปเข้าสังคมกับคนแปลกหน้า และสุนัขตัวอื่นตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันเรียนรู้ที่จะทำความรู้จักกับผู้อื่น ซึ่งมีส่วนช่วยให้มันสามารถเป็นเพื่อนกับคนใหม่ๆ และสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และเราควรให้มันมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเป็นประจำ เพื่อให้มันรู้สึกรักและผูกพันธ์กับพวกเขา

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าชิวาวามีทั้งแบบขนสั้นและขนยาว ซึ่งแน่นอนว่าแบบขนสั้นจะดูแลความสะอาดได้ง่ายกว่า เราควรนำหวีขนาดเล็กมาแปรงขนให้มันประมาณสัปดาห์ละครั้ง ถ้าเป็นชิวาวาแบบขนยาวก็ควรแปรงขนมันให้บ่อยกว่านี้ เพื่อทำให้ขนของมันไม่พันกันและเพื่อช่วยกำจัดขนตายที่ยังคงติดค้างในตัวมัน ส่วนเรื่องความสะอาด คุณควรเช็ดรอบดวงตา ใบหน้า และหูของมันอย่างเบามือบ้าง รวมถึงมีการตัดเล็บและอาบน้ำให้มันบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อความสะอาดของตัวสุนัข

การดูแลสุขภาพโดยรวม

พยายามควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อป้องกันโอกาศการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน (Obesity) เป็นต้น ด้วยการพาสุนัขไปเดินออกกำลังกายนอกบ้านเบาๆ อย่างพอเหมาะเป็นประจำ อีกส่วนนึงคือการควบคุมและเอาใจใส่คุณภาพประปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี สามารถให้อาหารคนแก่สุนัขได้ แต่ว่าควรจะเป็นอาหารที่ค่อนข้างคลีนและไม่เค็ม เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา ปลาที่ไม่ผ่านการปรุงรส ไข่ไก่ และผักผลไม้บางชนิดในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดตัวของมัน ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็ควรเลือกสูตรที่เข้ากับสุนัขของคุณ เช่น อาหารสูตรสุนัขเล็ก เป็นต้น

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบในชิวาวา

  • โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation): คือปัญหาสุขภาพที่ชิวาวา และสุนัขสายพันธุ์เล็กอื่นมักจะเจอบ่อยๆ โรคนี้สามารถถ่ายทอดจากพันธุกรรม แต่เราก็สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ โดยการควบคุมน้ำหนักตัวสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยการควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะกับขนาดตัว และหมั่นพามันไปวิ่งเล่นออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงาน รวมถึงคอยระวังไม่ให้สุนัขได้รับแรงกระแทกแรงๆ ข้อเข่า เช่น การกระโดดตกจากที่สูง การวิ่งเล่นที่หนักเกินไป
  • โรคช่องปาก (Periodontal disease): มักจะพบในสุนัขตัวเล็กมากกว่าตัวใหญ่ อาการคือ สุนัขจะมีกลิ่นปากแรง เหงือกบวมแดง เหงือกมีเลือดออก การช่วยมันทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอจะข่วยลดโอกาศในการเกิดโรคนี้ได้
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia): มักเกิดกับลูกสุนัขที่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งจะส่งผลให้สุนัขมีอาการเซื่องซึม อ่อนแรง ร่างกายสั่น และอาจจะทำให้สุนัขมีอาการช็อคจนถึงขึ้นเสียชีวิตได้
 

นอกจากนี้ยังมีโอกาศที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น

  • ต้อกระจก(Cataract): สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ
  • กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตุก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
  • โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
  • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)
  • โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)
  • โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้าชิวาวา

  • เป็นสุนัขที่กล้าหาญเกินขนาดตัว
  • ตัวเล็ก บอบบาง
  • เป็นสุนัขที่มีความจงรักภักดีสูง
  • ขี้อ้อน
  • ต้องการการออกกำลังกายบ้างนิดหน่อย
  • ค่อนข้างฉลาด
  • เห่าเสียงแหลม ดัง และชอบเห่า

ชิวาวา เหมาะกับผู้ที่

  • ไม่ชอบเลี้ยงหมาดุ
  • ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงอื่นด้วย เช่น แมว
  • ผู้มีมีเด็กอยู่ในบ้าน
  • ผู้ที่ชอบสุนัขตัวเล็กๆ ปุ๊กปิ๊ก ที่เฝ้าบ้านได้
  • คนมีเวลาให้กับสุนัขบ้าง
  • คนที่มีพื้นที่หรือบริเวณให้สุนัขได้วิ่งเล่นบ้าง

FAQ

  • เลี้ยงในหอพักได้ไหม: ได้สบายๆ เนื่องจากขนาดตัวที่กะทัดรัดของมัน แต่สุนัขบางตัวจะชอบเห่าพร่ำเพรื่อ ต้องสอนมันนิดนึง จะได้ไม่รบกวนคนอื่นมากเกินไป
  • ดุไหม: ไม่ค่อยดุ
  • เลี้ยงกับแมวได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับแมวได้ปกติ
  • เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับเด็กๆ ได้สบายๆ
  • เฝ้าบ้านได้ไหม: เนื่องจากชอบเห่าคนแปลกหน้าจึงสามารถเฝ้าบ้านได้
  • เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: มันไม่ใช่สุนัขที่เหมาะกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้มากนัก

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image