คอเคเซียน เชพเพิร์ด (Caucasian Shepherd) นิสัยและการดูแลสุนัข

คอเคเซียน เชพเพิร์ด
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

คอเคเซียน เชพเพิร์ด (Caucasian Shepherd) เป็นสุนัขจากประเทศรัสเซียที่ทั้งตัวสูงใหญ่และหนัก มันจะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง มารับชมกันในบทความนี้เลย

ข้อมูลทั่วไปของคอเคเซียน เชพเพิร์ด

  • ขนาดตัว: ใหญ่มาก
  • ความสูง: ตัวผู้: 60 – 68 ซม.  ตัวเมีย: 45 – 65 ซม. วัดจากไหล่
  • น้ำหนัก: ตัวผู้: 50 – 98 กก.  ตัวเมีย: 45 – 65 กก.
  • อายุขัย: 10 – 12 ปี
  • ความยาวขน: ปานกลาง
  • ความฉลาด: ค่อนข้างฉลาด
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศรัสเซีย 🇷🇺
  • ปริมาณการผลัดขน: สูง
  • ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
  • ลักษณะเฉพาะ: ตัวสูงและใหญ่ เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ หัวกะโหลกและปากใหญ่มาก หางเต็มไปด้วยพวงขนฟูๆ 

ประวัติของคอเคเซียน เชพเพิร์ด

เจ้าคอเคเซียนเป็นหนึ่งในสุนัขสายพันธุ์โบราณที่เชื่อกันว่ากำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้นานกว่า 2,000 ปีที่แล้ว โดยมันจะอยู่บริเวณเทือกเขาคอเคซัส มีความเชื่อมากมายแตกต่างกันไปเกี่ยวกับมัน แต่ที่แน่ๆ ในอดีต ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นมักจะใช้ประโยชน์จากขนาดตัวของมัน โดยการนำมันมาเฝ้าบ้านและเฝ้าฝูงปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้ให้ปลอดภัยจากนักล่าทั้งหลาย
 
ในช่วงปี ศ.ศ. 1930 สุนัขสายพันธุ์นี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในยุโรป และได้มีการนำตัวมันไปแสดงโชว์ในงานแสดงสุนัขเป็นครั้งแรก จึงทำให้มันเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คน หลังจากนั้นไม่นานนัก มันก็เริ่มเป็นที่นิยม ผู้คนบางส่วนได้นำมันไปใช้เฝ้ายามในกองทัพ และใช้เป็นสุนัขลาดตระเวนตามของชายแดน ซึ่งมันก็สามารถทำหน้าที่ของมันได้ดีเยี่ยม แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงยุคปัจจุบัน สุนัขสายพันธุ์นี้ก็ยังคงได้รับความสนใจอยู่บ้าง แต่ฐานะของมันเปลี่ยนไปจากการเป็นสุนัขสำหรับใช้งาน กลายเป็นเพื่อนที่ดีของคนหลายๆ ครอบครัว มันยังไม่ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการจากองค์กร American Kennel Club แต่คาดว่ามันจะได้รับการจดทะเบียนในอนาคต

ลักษณะนิสัยของคอเคเซียน เชพเพิร์ด 

เนื่องจากว่าในอดีตมันเป็นสุนัขที่ใช้สำหรับเฝ้ายามและปกป้องฝูงสัตว์ มันจึงมีทักษะการปกป้องติดมากับตัว มันเป็นสุนัขที่มีความหวงอาณาเขตมาก มันจะคอยปกป้องไม่ให้คนแปลกหน้าหรือสัตว์ตัวอื่นก้าวเข้ามาในพื้นที่ของตน ถ้าเราเลี้ยงดูมันอย่างถูกต้อง มันจะมีความอ่อนโยน อ่อนหวาน และเป็นมิตรกับคนที่มันรัก แต่ถ้าเลี้ยงมันมาอย่างไม่ถูกต้อง มันก็สามารถเป็นสุนัขที่ก้าวร้าวได้เช่นกัน ส่วนในด้านอื่นๆ มันเป็นสุนัขที่พลังงานค่อนข้างต่ำ ไม่ค่อยซุกซน ไม่ค่อยเคลื่อนไหวไปมา มันจะชอบนอนพักผ่อนอยู่เฉยๆ มากกว่าการออกแรงเล่นทั้งวัน จะมันยังเป็นสุนัขที่ไม่เห่าพร่ำเพรื่อ จึงเหมาะกับผู้ที่ค่อนข้างมีปัญหากับเสียงเห่าของสุนัข

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

มันเป็นสุนัขที่มีตาโทนสีน้ำตาล
 

สีขนและสีตัว

มันเป็นสุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากมายนัก เช่น สีอะกูติ (Agouti) – ขาว, ดำ – เทา, ครีม, เทา, น้ำตาลแดง, ขาว, น้ำตาลแกมเหลือง, น้ำตาลเข้ม เป็นต้น
 

ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ถ้ามันเชื่องแล้ว มันจะมีความอ่อนโยน ใจดี และรักเจ้าของและสมาชิกในครอบครัว รวมถึงเหล่าเด็กๆ ในบ้านด้วย ถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับเด็กๆ มากนัก แต่มันก็สามารถปกป้องเด็กๆ ภายในบ้านได้ปลอดภัยอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและฝึกสอนสุนัขด้วย หากเราฝึกสอนและเลี้ยงดูมันมาแบบผิดๆ มันจะเป็นสุนัขที่มีความก้าวร้าวพอสมควร
 
มันเป็นสุนัขที่เข้ากับได้ไม่ค่อยดีกับสุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นสักเท่าไหร่ แต่มันก็พออยู่ด้วยกันได้กับสุนัขและสัตว์เลี้ยงที่อยู่ร่วมกับมันมาตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข แต่ถ้าเป็นเด็กๆ หรือสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ที่พึ่งจะเข้ามาในครอบครัว มันไม่สามารถเข้ากับผู้นั้นได้ในทันที มันต้องใช้เวลามากพอสมควรในการค่อยๆ ทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยผู้นั้น
คอเคเซียน เชพเพิร์ด

การดูแลคอเคเซียน เชพเพิร์ด  

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

ถึงแม้ว่ามันจะพลังงานค่อนข้างต่ำ แต่มันก็ต้องการการออกกำลังกายบ้างเล็กน้อย คุณควรจะมีเวลาในการพาเจ้าตูบไปเดินเล่น วิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง หรือจะให้มันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ออกแรงกับสมาชิกในครอบครัวก็ได้ ประมาณ 30 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานที่มีในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียดให้เจ้าตูบ และเพื่อให้เจ้าตูบมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และห่างไกลจากปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่าง และอยู่เคียงข้างเราไปนานๆ
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

เราควรฝึกการเข้าสังคมให้มันเป็นประจำ ไม่ควรล่ามหรือกักบริเวณมันให้อยู่ในที่แคบๆ ตัวเดียวทั้งวัน เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขเครียด เก็บกด เข้ากับผู้อื่นได้ไม่ดี อาจจะมีความก้าวร้าวได้ คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข  เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและรักพวกเขา รวมถึงให้มันไปเข้าสังคมกับคนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขอยู่เสมอ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมให้มัน มีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้นในอนาคต ส่วนเรื่องการฝึกสอนสุนัข ถึงแม้ว่ามันจะฉลาด แต่มันก็มีความดื้อดึงอยู่บ้าง การสอนให้มันปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ อาจจะมีความท้าทายสักนิดนึง ต้องใช้เวลาและความพยายามในระดับนึงในการสอนมัน
 

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

มันเป็นสุนัขที่มีขนค่อนข้างยาว ผู้เลี้ยงจึงต้องใส่ใจเรื่องการดูแลขนให้มัน เราควรนำแปรงมาหวีขนให้มัน 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านี้ เพื่อกำจัดขนตายและสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ในตัวมันให้หมด รวมถึงมีการทำความสะอาดใบหน้า บริเวณรอบดวงตา ใบหู มีการตัดเล็บ แปรงฟัน และอาบน้ำให้สุนัขบ้าง ความถี่ก็ขึ้นอยู่กับความสกปรกมอมแมมของสุนัข ถ้ามันชอบไปนอนขลุกกับสิ่งสกปรกก็ควรทำความสะอาดมันบ่อยกว่าปกติ และควรคอยเช็ดน้ำลายให้มัน เนื่องจากมันมีปริมาณน้ำลายที่ไหลออกมาจากปากค่อนข้างเยอะ
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอากาศในประเทศไทยร้อนมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เราจึงควรระวังเรื่องโรคลมแดดในสุนัขไว้บ้างก็ดี วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อน มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาโดนสุนัขตรงๆ ไม่ให้สุนัขวิ่งเล่นเยอะเกินไปในช่วงกลางวัน มีน้ำดื่มให้มันมากพอ และเลือกช่วงเวลาที่มีแดดอ่อนในการพาสุนัขออกไปเล่นนอกบ้าน

คอยควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน (Obesity) ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นออกกำลังกายเป็นครั้งคราว อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานอาหารแบบบาร์ฟ อาหารปกติทั่วไป หรือจะเป็นอาหารแบบเม็ดหรือแบบเปียกสำหรับสุนัขก็ได้ ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อไก่สุก เครื่องใน ข้าวเปล่า ผักและผลไม้ที่สุนัขทานได้ โดยไม่ใส่เกลือหรือเครื่องปรุงใดๆ เพิ่มเติม ในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดตัวของมัน ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็ให้ลองเลือกสูตรและยี่ห้อที่เหมาะกับสุนัขของคุณ เช่น สูตรสุนัขใหญ่

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Caucasian Shepherd

  • โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): ถึงแม้ว่าปัญหาสุขภาพนี้จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ โดยการคอยควบคุมน้ำหนักตัวของมันให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสายพันธุ์ ด้วยการพามันออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน เราควรคอยควบคุมปริมาณและคุณภาพอาหารของมันให้ดี ปริมาณอาหารควรพอเหมาะกับขนาดตัว ไม่ให้มันทานมากเกินไปและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินไป และถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรให้สุนัขไปวิ่งเล่นบนพื้นที่ลื่นและมีความมันวาวอย่างพื้นกระเบื้องและพื้นหินอ่อน เพราะมันอาจจะลื่นล้มจนเป็นต้นตอของปัญหาสะโพก
  • ต้อกระจก (Cataract): เป็นปัญหาเกี่ยวกับดวงตาที่มักจะพบในสุนัขที่เริ่มมีอายุแล้ว ซึ่งสามารถเกิดจากการได้รับอาการบาดเจ็บที่ดวงตาหรือกรรมพันธุ์
  • โรคอ้วน (Obesity): วิธีการช่วยลดโอกาสที่สุนัขจะเป็นโรคอ้วน คือ เราควรให้มันทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ให้มันออกกำลังกายเพื่อใช้พลังงานส่วนเกินเป็นครั้งคราว
 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเกิดโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น

  • ต้อกระจก(Cataract): สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ
  • กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
  • โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
  • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • ไตวาย (Kidney Failure)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
  • กลากเกลื้อน (Ringworm)
  • โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
  • โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
  • โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Caucasian Shepherd

  • ตัวใหญ่ น้ำหนักตัวเยอะ
  • มีความใจดีกับเด็กๆ ภายในบ้าน
  • มันต้องการการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง
  • มันไม่เหมาะกับผู้เลี้ยงสุนัขมือใหม่
  • มันมีความหวงอาณาเขตสูง

Caucasian Shepherd เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบสุนัขขนาดใหญ่
  • มีเวลาอยู่ร่วมกับมัน ดูแลขน และพามันไปออกกำลังกายบ้าง
  • เลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน
  • มีพื้นที่ในการเลี้ยงสุนัขมากพอ
  • มีงบประมาณในการเลี้ยงสุนัขมากพอสมควร
  • มีความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงสุนัข

คำถามที่พบบ่อย

  • เลี้ยงในหอพักได้ไหม: ไม่เหมาะอย่างยิ่ง
  • เฝ้าบ้านได้ไหม: เฝ้าบ้านได้ดีมาก
  • ดุไหม: ดุกับคนแปลกหน้าและสุนัขตัวอื่นที่ไม่รู้จัก
  • เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: เลี้ยงกับเด็กๆ ในครอบครัวได้
  • เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: ไม่ค่อยเหมาะกับคนเป็นภูมิแพ้

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image