แมวเบอร์มีส (Burmese) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลแมว

แมวเบอร์มีส
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง
แมวเบอร์มีส (Burmese) มันเป็นสายพันธุ์แมวที้ได้รับการพัฒนาขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนมักจะเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นแมวศุภลักษณ์ แต่ว่ามันมีเชื้อสายของแมววิเชียรมาศอยู่นะ แถมมันยังได้นิสัยบางอย่างจากแมวไทยไปเต็มเปี่ยม มาทำความรู้จักกับมันกัน

ข้อมูลทั่วไปของแมวเบอร์มีส

  • ขนาดตัว: ปานกลาง
  • ความสูง: 25 – 30 ซม. วัดจากไหล่
  • น้ำหนัก: 3.6 – 5.4 กก.
  • อายุขัย: 10 – 15 ปี หรือมากกว่านี้
  • ความยาวขน: สั้น
  • ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
  • ความต้องการการเอาใจใส่: ปานกลาง
  • ลักษณะเฉพาะ: ใบหูขนาดปานกลางทรงสามเหลี่ยม รูปร่างสมส่วน ดูมีกล้ามเนื้อ มักจะมีแต้มสีเข้มตามจุดต่างๆ ของร่างกาย หางสั้นกว่าแมววิเชียรมาศ

ประวัติของแมวเบอร์มีส

แมวเบอร์มีส หรือที่คนมักจะเข้าใจผิดว่ามันเป็นแมวพันธุ์ “ศุภลักษณ์”  แต่จากข้อมูลที่รวบรวมมาให้อ่าน มันไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกัน ถึงแม้ว่ามันจะมีลักษณะภายนอกเหมือนกันมากก็ตาม เพราะเหตุนี้มันจึงสร้างความสับสนให้กับคนรักแมวหลายท่านเป็นอย่างมาก (รวมถึงเราด้วย 😂) จุดสังเกตคือแมวเบอร์มีสบางตัวจะมีแต้มสีเข้มที่บางจุดของร่างกายเหมือนแมววิเชียรมาศ แต่ว่าศุภลักษณ์ไม่มีแต้มสีเข้มๆ เหล่านี้
 
ในช่วงปี ค.ศ. 1930 แมวจากประเทศพม่าตัวหนึ่งที่มีสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งไม่ทราบชัดเจนนักว่าเป็นแมวสายพันธุ์อะไร มันถูกชาวอเมริกันท่านหนึ่งที่มีชื่อว่าคุณ Joseph C. Thompson นำตัวจากประเทศพม่าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อให้กับแมวตัวนี้ว่าหว่องเมา “Wong Mau” ซึ่งเขาก็ได้นำแมวตัวนี้ไปเพาะพันธุ์กับแมววิเชียรมาศของเขาที่มีชื่อว่า “Taimau” จนได้ลูกแมวออกมาจำนวนหนึ่ง แล้วเขาก็ได้นำลูกแมวเหล่านั้นไปผสมพันธุ์กับเจ้า Wong Mau อีกครั้ง จนมันออกมาเป็นแมวพันธุ์ Burmese นั่นเอง ซึ่งมันมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนมันเริ่มมีชื่อเสียงในอเมริกา ในที่สุด มันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยองค์กร Cat Fanciers’ Association ในปี ค.ศ. 1953 และองค์กร The International Cat Association ในปี ค.ศ. 1979 ในปัจจุบัน มันยังเป็นแมวอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมอยู่พอสมควรในต่างประเทศ และมันก็ได้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ของแมวสายพันธุ์ใหม่บางพันธุ์อีกด้วย

ลักษณะนิสัยและความเป็นมิตรของแมวเบอร์มีส

แมวสายพันธุ์นี้ขึ้นชื่อเรื่องความซุกซน กระตือรือร้น ขี้เล่น กระฉับกระเฉง ขี้สงสัย และพลังงานสูงมาก มันชอบปีนป่ายสำรวจพื้นที่รอบๆ และชอบการวิ่งและกระโดดไปรอบๆ เพื่อปลดปล่อยพลังงานที่มากมายของมัน ถ้าคุณต้องการแมวสักสายพันธุ์ที่ชอบอยู่นิ่งๆ มันอาจจะไม่ค่อยเหมาะกับคุณสักเท่าไหร่
 
ส่วนมากมันเป็นแมวที่ชอบเข้าสังคม มีความเป็นมิตรกับคนแปลกหน้าและสัตว์ตัวอื่น มันสามารถเป็นเพื่อนผู้อื่นได้ค่อนข้างรวดเร็ว มันยังมีความผูกพันกับเจ้าของและคนในครอบครัว มันมีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่มันรัก แต่มันไม่ชอบการถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวเป็นระยะเวลานาน คุณจึงควรมีเวลาอยู่ร่วมกับมันบ้าง
 
* ทั้งนี้ แมวแต่ละตัวก็สามารถมีบุคลิกเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากนี้ได้ แมวบางตัวอาจจะมีความรักอิสระมากกว่าปกติ 

ความหลากหลายของสีแมว

สีตา

สีตาของแมวสายพันธุ์นี้จะเป็นสีเหลืองทองเท่านั้น
 

สีขน

แมวสายพันธุ์นี้มีสีขนให้เลือกไม่มากนัก โดยสีมาตรฐานที่จัดโดยองค์กร CFA จะมีหลักๆ 4 สี คือ สีตาลเข้ม (Sable), สีแชมเปญ (Champagne), สีน้ำเงิน (Blue), และสีทองคำขาว (Platinum) และยังมีสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีมาตรฐานอีกด้วย
แมวเบอร์มีส

การดูแลแมวเบอร์มีส

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

ถึงแม้ว่าแมวไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายมากมายเหมือนสุนัข แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านแนะนำว่าแมวควรได้รับการออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีต่อวัน แถมมันยังเป็นแมวที่พลังงานสูงพอสมควร ผู้เลี้ยงจึงควรกระตุ้นให้มันได้ออกแรงปลดปล่อยพลังงานบ้าง จะเป็นการซื้อเสาฝนเล็บมาให้มันได้ออกแรงขีดข่วนฝนเล็บ เพื่อช่วยให้แมวรู้สึกผ่อนคลาย ได้ยืดเหยียด ได้ออกกำลังกาย และลดโอกาสที่แมวจะไปขีดข่วนเฟอร์นิเจอร์และข้าวของในบ้านของคุณ 
 
จะเป็นการซื้อคอนโดแมวไว้ให้มันปีนป่ายเล่น หรือจะเป็นการใช้ไม้ตกแมว ของเล่นแบบติดพื้น หรือจะเป็นขนไก่ไปเล่นหยอกล้อกับเจ้าเหมียวก็ได้ เพื่อให้มันได้วิ่งออกแรง กระโดด และไล่ตะครุบสิ่งเหล่านั้น มันมีส่วนช่วยให้แมวมีกล้ามเนื้อแข็งแรง มีสุขภาพดี ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง 
 

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

การดูแลขนให้กับแมวขนสั้นอย่างเจ้าเบอร์มีสเป็นเรื่องที่ง่ายดายมาก แค่นำแปรงมีหวีขนให้มันบ้าง ประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว เพื่อกำจัดขนตายและสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในตัวแมวออกมาให้หมด และถึงแม้ว่าส่วนมากแมวจะใช้เวลาในการทำความสะอาดตัวเองได้มากถึง 50% ของเวลาตอนมันตื่นทุกวันอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็ควรช่วยมันทำความสะอาดร่างกายในจุดที่มันทำความสะอาดเองไม่ได้บ้าง เช่น บริเวณใบหู ใบหน้า และรอบดวงตาด้วยสำลีหรือผ้าสะอาดอย่างเบามือ รวมถึงมีการตัดเล็บ แปรงฟัน และอาจจะมีการอาบน้ำให้มันบ้างหากว่าตัวมันเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น และไม่ควรให้มันไปคลุกคลีกับแมวตัวอื่นที่ไม่รู้จัก เพราะมันเสี่ยงต่อการติดหมัดแมวจากแมวตัวอื่น
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

ถึงแม้แมวจะมีโอกาสเป็นโรคลมแดดน้อยกว่าสุนัขพอสมควร แต่อากาศในประเทศไทยนั้นร้อนมากๆ ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาวิธีป้องกันไว้บ้าง วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราต้องจัดพื้นที่ที่ไม่ร้อนและไม่อบอ้าวให้แมวอยู่ ไม่มีแดดแรงส่องมากระทบตัวมันตรงๆ เป็นเวลานาน มีน้ำสะอาดให้มันดื่มมากพอ และควรเช็คให้แน่ใจเสมอว่าคุณไม่ได้ลืมมันทิ้งไว้บนรถยนต์ร้อนๆ ที่ดับเครื่องแล้ว ถ้าหากคุณชอบพาแมวออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ก็ควรพามันออกข้างนอกในช่วงที่แดดไม่แรง เช่น ตอนเช้า
คอยควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของแมวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสายพันธุ์อยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับน้ำหนักตัว เช่น โรคอ้วน (Obesity) ด้วยการกระตุ้นให้เจ้าเหมียวได้ออกแรงทำกิจกรรมบ้างเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน อีกส่วนนึงคือการควบคุมและเอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของแมว เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมกับตัวแมว จะเป็นการทานอาหารแบบบาร์ฟที่มีข้อดีหลายอย่าง เป็นอาหารปกติทั่วไป เป็นอาหารแมวแบบเม็ดที่เก็บได้นาน หรือจะเป็นอาหารแมวแบบเปียกที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของแมวก็แล้วแต่ความสะดวกและเหมาะสม ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เครื่องในไก่ เนื้อปลาทู ไข่ไก่ ข้าวเปล่า ผักและผลไม้ที่แมวทานได้มาคลุกให้เข้ากัน โดยไม่ใส่เกลือหรือเครื่องปรุงรสใดๆ ลงไปเพิ่มเติม ถ้าเป็นอาหารสำหรับแมวโดยเฉพาะก็ให้เลือกสูตรที่เหมาะสมกับแมวของคุณ ในปริมาณที่เหมาะสมกับขนาดของตัวแมว  หากแมวของคุณแพ้อาหารชนิดนั้นก็ให้ลองเปลี่ยนยี่ห้อหรือประเภทอาหาร
 

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบในแมว Burmese

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Feline Hypokalemic Polymyopathy): มันเป็นภาวะที่เกิดจากการทีแมวมีโพแทสเซียมในเลือดต่ำซึ่งทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมันเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันมาทางกรรมพันธุ์ เราจึงควรตรวจเช็คสุขภาพของพ่อแม่แมวให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจรับมันมาเป็นสมาชิกในครอบครัว
  • เบาหวาน (Diabetes): มันเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของฮอร์โมนในแมว แต่การที่น้องแมวมีน้ำหนักตัวที่เยอะเกินไปมันก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานด้วย วิธีช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ นั่นคือการควบคุมน้ำหนักตัวแมวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสายพันธุ์
 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสเจอโรคภัยอื่นๆ ดังนี้

  • โรคเชื้อราแมว (Ringworm)
  • โรคพิษสุนัขบ้าในแมว (Rabies)
  • การบาดเจ็บจากการตกจากที่สูง (High-rise syndrome)
  • โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus)
  • โรคไตในแมว (Kidney Disease)
  • ฟันผุ (Tooth Decay)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคไข้หัดแมว (Panleukopenia)
  • โรคต้อหินในแมว (Glaucoma)
  • โรคไทรอยด์เป็นพิษในแมว (Hyperthyroidism)
  • โรคจอประสาทตาเสื่อมในแมว (Progressive Retinal Atrophy)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ Burmese

  • เป็นแมวที่มีความรักให้กับผู้คนในครอบครัว
  • มันไม่ใช่แมวที่ชอบอยู่นิ่งๆ ทั้งวัน
  • มันไม่ใช่แมวศุภลักษณ์
  • มันมีความเป็นมิตรกับคนแปลกหน้าและสัตว์ตัวอื่น
  • มันเป็นแมวที่มีความขี้เล่น ซุกซน พลังงานสูงมาก

Burmese เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบแมวที่ซุกซน แอคทีพ
  • ชอบแมวที่ดูรูปร่างดี สง่างาม
  • ชอบแมวขนสั้น ดูแลง่าย
  • มีเวลาอยู่ร่วมกับแมว และทำกิจกรรมกับมันบ้าง
  • มีเด็กๆ สุนัข และแมวตัวอื่นอยู่ภายในบ้าน

คำถามที่พบบ่อย

  • มันใช่แมวศุภลักษณ์ไหม: ไม่ใช่ แค่เบอร์มีสบางตัวมีลักษณะภายนอกที่เหมือนกับแมวศุภลักษณ์มากๆ จบแยกแทบไม่ออก แต่ที่แน่ๆ มันมีเชื้อสายของแมววิเชียรมาศของไทยอยู่ จะเรียกว่ามันเป็นแมวไทยก็ได้ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ที่ประเทศอเมริกาก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ “ประวัติ”)
  • ปัญหาสุขภาพเยอะไหม: ปกติมันเป็นแมวที่แข็งแรง ไม่ค่อยมีปัญหาสุขภาพ แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคที่ติดต่อมาทางกรรมพันธุ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
 Banner Image