บรัสเซิลส์ กริฟฟัน (Brussels Griffon) เป็นสายพันธุ์สุนัขตัวเล็กจากประเทศเบลเยียมที่มีเอกลักษณ์ตรงหน้าบึ้งๆ ของมัน แถมบางตัวยังมีหนวดเฟิ้มบริเวณปาก แล้วนิสัยของมันจะบึ้งตึงเหมือนหน้าตาของมันไหมนะ? มาหาคำตอบในบทความนี้กัน
ข้อมูลทั่วไปของบรัสเซิลส์ กริฟฟัน
- ขนาดตัว: ปานกลาง
- ความสูง: 17.8 – 25.4 ซม. วัดจากหัวไหล่
- น้ำหนัก: 3.6 – 5.4 กิโลกรัม
- อายุขัย: 10 – 15 ปี
- ความยาวขน: มีหลายแบบให้เลือก
- ความฉลาด: ปานกลาง
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศเบลเยียม 🇧🇪
- การเอาใจใส่ตัวสุนัข: สูง
- ปริมาณการผลัดขน: น้อย
- ลักษณะเฉพาะ: ตัวเล็กกะทัดรัด ดวงตากลมโต ใบหน้าดูบึ้งตึง บางตัวมีขนยาวบริเวณปาก ราวกับว่าเป็นผู้ชายที่มีหนวดเครายาวๆ
ประวัติของบรัสเซิลส์ กริฟฟัน
สุนัขสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดที่เมืองบรัซเซิลส์ ประเทศเบลเยียม มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง Affenpinscher และ English Toy Spaniel จนกลางมาเป็นเจ้า Brussels Griffon ที่เรารู้จักกัน ในช่วงศตวรรษที่ 19 ผู้คนใช้มันเป็นสุนัขสำหรับล่าหนูที่มักจะมาอยู่ในคอกม้า สุนัขสายพันธุ์นี้มีรูปแบบขนสองแบบ นั่นคือแบบขนเรียบ (Smooth coat) และแบบขนหยาบ (Wiry coat) โดยมีความเชื่อว่าเจ้าบรัสเซิลส์แบบดั้งเดิมที่มีขนหยาบนั้นไปผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขพันธุ์ปั๊ก (Pug) จนได้บรัสเซิลส์แบบขนเรียบมา ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
ในช่วงปี ค.ศ.1900 ท่าน Marie Henriette ซึ่งเป็นราชินีแห่งเบลเยียมในยุคสมัยนั้นได้ลองเลี้ยงมันและทรงโปรดปรานในตัวมัน จึงส่งผลให้สุนัขสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมากขึ้น มันได้ถูกส่งตัวไปหลายๆ ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา แล้วมันก็ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการโดยสโมสร American Kennel Club ในปี ค.ศ.1899 แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนประชากรของสุนัขสายพันธุ์นี้ลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบจะสูญพันธุ์ แต่เพราะมีคนที่รักมันและพยายามที่จะฟื้นฟูสายพันธุ์นี้ มันก็เลยอยู่รอดมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน
ลักษณะนิสัยของบรัสเซิลส์ กริฟฟัน
มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีความเป็นมิตร รักเจ้าของและผู้คนในครอบครัว ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในครอบครัว ชอบใช้เวลากับผู้คนในครอบครัวและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับพวกเขา ไม่ชอบการถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน มันมีความมั่นใจในตัวเองและมีความดื้อดึง เวลาที่เราจะฝึกสอนสิ่งต่างๆ ให้มันจึงต้องใช้เวลาและความอดทนสักนิดนึง
มันเป็นสุนัขที่ระแวงคนและสุนัขที่มันไม่รู้จักมาก่อน มันจะเห่าเมื่อพบเจอคนแปลกหน้าหรือสุนัขที่มันไม่รู้จัก ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในอาณาเขตของมัน และหากว่าคนแปลกหน้าเหล่านี้เข้าใกล้มันมากเกินไป มันก็อาจจะแสดงความก้าวร้าวใส่ผู้นั้นได้
ความหลากหลายของสีและรูปแบบขน
รูปแบบขน
โดยหลักๆ เราสามารถแบ่งรูปแบบขนของมันออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- Smooth Coat: ขนจะเรียบ และสั้น และบริเวณปากสุนัขจะเป็นสีดำ
- Rough Coat: จะมีขนที่หยัก หัก และยาวกว่าแบบเรียบ และบริเวณปากจะมีขนยาวๆ ราวกับหนวดเครายาวๆ ของคนไว้หนวด
ความหลากหลายของสีสุนัข
สีตา
สุนัขสายพันธุ์แท้ส่วนมากจะมีตาโทนสีดำ
สีขน
มันเป็นสุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากนัก จะมีสีน้ำตาล, น้ำตาลแดง, สีแทน, สีดำ-แทน, น้ำเงิน, สีดำล้วน และอื่นๆ
ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง
มันอาจจะเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับเด็กๆ มากนัก โดยเฉพาะเด็กเล็ก บางทีมันอาจจะไม่ชอบให้เล็กๆ มาจับตัวมันตามใจชอบ มากอดมัน หรือเล่นกับมันแรงๆ มันอาจจะป้องกันตัวโดยการแสดงความก้าวร้าวใส่ แต่นิสัยนี้ก็สามารถทุเลาลงได้ โดยการให้มันอยู่กับเด็กๆ ในครอบครัวตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข และฝึกการเข้าสังคมให้มันเป็นประจำ แต่ทั้งนี้ก็ควรกำชับให้เด็กๆ เล่นกับมันให้อยู่ในขอบเขตที่พอดี ไม่ล้ำเส้นมันมากจนเกินไป
มันเป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตรกับสุนัข และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เช่น แมว อีกด้วย มันสามารถกิน นอน เล่นหยอกล้อ และใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ตัวอื่นที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ ถ้าเป็นเด็กๆ สุนัข และสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ที่พึ่งจะเข้ามาในครอบครัว เราก็ต้องให้เวลามันสักระยะในการทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยกับสมาชิกใหม่ แล้วค่อยลองนำมันไปใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกใหม่
การดูแลบรัสเซิลส์ กริฟฟัน
การดูแลด้านการออกกำลังกาย
มันเป็นสุนัขที่ต้องการการออกกำลังกายเป็นครั้งคราว คุณควรจะมีเวลาในการพาเจ้าตูบไปเดินเล่น วิ่งเล่นบ้าง หรือไม่ก็ให้มันเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้พลังงานพอสมควร ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น การเล่นจานร่อนกับมัน สัก 20-30 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียดให้สุนัข และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพต่างๆ อยู่เคียงข้างคุณไปได้นานๆ
การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน
คุณควรฝึกการเข้าสังคมให้มันบ้าง ไม่ควรขังหรือทิ้งมันไว้ในที่แคบๆ ทั้งวันโดยไม่สนใจมันเลยเด็ดขาด เพราะมันอาจจะทำให้สุนัขเครียด เก็บกด และมีความก้าวร้าวได้ คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันกับคนในครอบครัว รวมถึงให้มันไปพบปะกับผู้คนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัขอยู่เสมอ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมให้เจ้าตูบ มีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจรับเพื่อนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นในตอนโตเต็มวัย ลดความระแวงคนแปลกหน้าให้ลดลง และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเด็กๆ และสัตว์ตัวอื่นได้ดีขึ้นในอนาคต ส่วนเรื่องการฝึกสอนนั้นก็ควรฝึกสอนสิ่งต่างๆ ให้เจ้าตูบตั้งแต่มันยังเป็นลูกสุนัข เพราะว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ฝึกสอนสุนัขให้เรียนรู้ได้ง่ายที่สุด แต่ว่าบางตัวอาจจะสอนยากเพราะความดื้อดึงของมัน ต้องใช้เวลาและความพยายามสักนิดนึง
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
คุณควรใช้แปรงมาหวีขนให้มันเพื่อให้ขนของมันไม่พันกันเป็นก้อน เพื่อเอาสิ่งสกปรกในขนมันออกมา และเพื่อหวีเอาขนตายที่อยู่ในตัวมันออกมาให้หมด สักสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว หมั่นทำความสะอาดรอบดวงตาของมันโดยการนำสำลีชุบกับน้ำสะอาดหรือน้ำตาเช็ดตาสำหรับสุนัข แล้วก็นำไปเช็ดรอบๆ ดวงตาสุนัขด้วยความเบามือ รวมถึงมีการอาบน้ำ ตัดเล็บ ตัดขน ทำความสะอาดใบหูให้มันบ้าง โดยเฉพาะเจ้าตูบแบบขนยาว ความถี่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสกปรกมอมแมมของตัวสุนัข
การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม
อย่างที่รู้กันดีว่าอากาศบ้านเราในหน้าร้อนมันร้อนแรงแผดเผาขนาดไหน เราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องฮีทสโตรกในสุนัขเด็ดขาด วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาตรงๆ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขใช้พลังงานเยอะเกินไปในช่วงกลางวัน มีน้ำดื่มให้มันมากพอ ไม่ทิ้งสุนัขไว้บนรถยนต์ร้อนๆ และเลือกเวลาในการพาสุนัขไปทำกิจกรรมนอกบ้านให้ดี ให้เลือกช่วงเช้าหรือช่วงเย็นแทนตอนกลางวัน
คุณควรควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes in dogs) ด้วยการพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานแบบบาร์ฟ (Barf) อาหารปกติทั่วไป หรือจะเป็นอาหารสำหรับสุนัขโดยเฉพาะก็แล้วแต่ความสะดวกและความเหมาะสม ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อไก่ ปลาทู ไข่ไก่ ตับ ข้าว โดยไม่ปรุงแต่งเครื่องปรุงใดๆ เพิ่มลงไป สามารถให้ผลไม้ชนิดที่สุนัขทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับสุนัขของคุณได้เลย เช่น สูตรบำรุงกระดูก เป็นต้น ขนมที่เราทานกันควรให้มันทานแต่น้อย หรือเปลี่ยนเป็นขนมสำหรับสุนัขโดยเฉพาะจะดีกว่า
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Brussels Griffon
- โรคสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation): มันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ในตัวสุนัขได้ โดยการควบคุมน้ำหนักตัวของมันให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสายพันธุ์ ด้วยการเอาใจใส่เรื่องโภชนาการของสุนัขให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดตัว ไม่ให้มันทานอาหารมากเกินไป ไม่ให้มันทานอาหารและขนมสำหรับมนุษย์ที่มีแคลรอลี่สูง รวมถึงคอยระวังไม่ให้สุนัขได้รับแรงกระแทกแรงๆ ที่ข้อเข้า เช่น การกระโดดลงจากที่สูง
- โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่พบเจอได้ในสุนัขหลายสายพันธุ์ อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ สุนัขดูมองเห็นได้ไม่ค่อยดีในที่มืด และมักจะเดินชนสิ่งต่างๆ อยู่บ่อยๆ
- โรคระบบทางเดินหายใจผิดปกติ (Brachycephalic airway syndrome): เป็นปัญหาสุขภาพที่มักจะพบเจอในสุนัขที่มีใบหน้าสั้น อาการที่สามารถบ่งบอกว่าสุนัขอาจจะเป็นโรคนี้ คือ สุนัขหายใจเข้าออกเสียงดังผิดปกติ สุนัขดูเหนื่อยง่าย นอนกรนเสียงดัง และดูมีความลำบากในการหายใจ
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น
- กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
- โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
- กลากเกลื้อน (Ringworm)
- ไตวาย (Kidney Failure)
- โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
- โรคผิวหนังอักเสบเป็นหนองในสุนัข (Pyoderma)
- โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
- โรคอ้วน (Obesity)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Brussels Griffon
- เป็นสุนัขที่รักผู้คนในครอบครัว
- มีรูปแบบขนให้เลือก 2 แบบ
- ไม่ค่อยเข้ากันกับเด็กเล็ก
- ตัวเล็ก กะทัดรัด พกพาง่าย
- มีความขี้เล่น
- เป็นสุนัขที่ระแวงคนแปลกหน้า
Brussels Griffon เหมาะกับผู้ที่
- มีสัตว์เลี้ยงตัวอื่นภายในบ้าน
- มีพื้นที่ในการเลี้ยงสุนัขจำกัด
- ชอบสุนัขขนาดเล็ก
- ไม่มีเด็กเล็กภายในบ้าน
- มีเวลาพามันไปวิ่งเล่นออกกำลังกาย อยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันบ้าง
คำถามที่พบบ่อย
- เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: ค่อนข้างเหมาะกับผู้ที่เป็นภูมิแพ้เพียงเล็กน้อย
- เลี้ยงในหอพักได้ไหม: เลี้ยงได้สบายๆ
- ดุไหม: ไม่ค่อยดุ
- เลี้ยงกับแมวได้ไหม: เลี้ยงกับแมวได้ดี
- เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: ไม่ค่อยเหมาะกับเด็กเล็ก
- เฝ้าบ้านได้ไหม: เห่าเฝ้าบ้านได้
เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
กล่องใส่แมว กรงเดินทางสุนัขและแมว แบบไหนดีและใหญ่จุใจ ปี 2023
อาหารสุนัขเลี้ยงในบ้าน ยี่ห้อไหนดีและเหมาะกับน้องบ้าง ปี 2023
หนูแฮมสเตอร์ห้ามกินอะไรบ้าง – 13 ต้องห้ามสำหรับหนูแฮมสเตอร์
12 สายพันธุ์สุนัขสีแดง ที่ดูสง่างามและน่าเลี้ยง
อาหารแมวท้องผูก & ท้องเสีย ยี่ห้อไหนดีและช่วยดูแลทางเดินอาหาร ปี 2023
อาหารที่หมาห้ามกิน – 11 อาหารต้องห้ามสำหรับน้องหมาที่ไม่ควรให้กินเด็ดขาด
เวสต์ ไฮแลนด์ ไวท์ เทอร์เรียร์ (West Highland White Terrier) นิสัยและการดูแล
10 อาหารแมว Whiskas แบบไหนดีและเหมาะกับแมวของคุณ ปี 2023