นกแก้วหัวน้ำเงิน (Blue headed parrot) มันเป็นนกแก้วจากทวีปอเมริกาใต้ที่มีเอกลักษณ์ตรงหัวสีน้ำเงินสวยงาม มาพร้อมกับนิสัยที่น่ารักและเป็นมิตรเอามากๆ มาทำความรู้จักกับมันกันเถอะ
ข้อมูลทั่วไปของนกแก้วหัวน้ำเงิน
- น้ำหนัก: 200 – 280 กรัม
- อายุขัย: 15 – 25 ปี
- ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
- ความยาวตัว: 25 – 30 ซม.
- ถิ่นกำเนิด: ทวีปอเมริกากลางและใต้
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Pionus menstruus
- ชื่ออื่นๆ: Blue Headed Pionus
- ลักษณะเฉพาะ: ขนบริเวณหัวจะเป็นสีน้ำเงิน ปีกและลำตัวจะเป็นสีเขียว ดวงตากลมโต รูปร่างสมส่วน
ประวัติของนกแก้วหัวน้ำเงิน
นกแก้วสายพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในนกแก้วตระกูล Pionus มันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณป่าเขตร้อน ทุ่งหญ้า และภูเขาบริเวณทวีปอเมริกากลางและใต้ ในตอนแรกมันก็เป็นนกทั่วไปที่ออกหากินเป็นกลุ่มในพื้นที่เหล่านี้ แต่เนื่องจากสีสันที่สะดุดตาของมัน จึงได้มีการลองนำมันมาลองเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง และมันก็เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงในยุคปัจจุบัน แต่ว่ามันอาจจะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยมากนัก
ข้อควรระวัง
ก่อนเลี้ยงนกควรต้องศึกษาเรื่องกฎหมายก่อน ในปัจจุบันนกบางสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ใน CITES บัญชีหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งแต่ละบัญชีก็จะมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ซึ่งคุณต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าในปัจจุบันนกสายพันธุ์นี้อยู่ที่ CITES บัญชีไหนหรือไม่ มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อขายครอบครองนกสายพันธุ์นี้ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อนกที่ถูกดักจับจากป่าอย่างผิดกฎหมาย
ลักษณะนิสัยของนกแก้วหัวน้ำเงิน
มันเป็นนกที่ค่อนข้างสงบ สุขุม อ่อนโยน เชื่อง เป็นมิตร และมักจะเงียบกว่านกแก้วสายพันธุ์อื่นๆ มันไม่ใช่นกที่ขี้เล่นซุกซนมากนัก แต่มันก็มีความผูกพันกับเจ้าของของมัน แค่แวะมาพูดคุยกับมันบ้าง มามีปฏิสัมพันธ์กับมันบ้าง มันก็มีความสุขแล้ว เพราะเหตุนี้มันจึงเป็นนกแก้วที่ดูแลง่าย ซึ่งเหมาะสมกับคนเลี้ยงนกมือใหม่พอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ควรได้รับการฝึกให้เข้าสังคมกับคนในบ้านตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นกัน
การพูดคุยและส่งเสียง
มันมักจะเป็นนกแก้วที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ส่งเสียงดังมากนัก ดังนั้นจึงเหมาะกับคนที่มีปัญหากับเสียงร้องดังๆ ของนก ส่วนเรื่องการพูดคุย มันสามารถเลียนแบบเสียงของผู้คนและเสียงรอบข้างได้ดี เพราะเหตุนี้จึงสามารถนำมันมาฝึกพูดได้ ด้วยความฉลาดแสนรู้ของมัน มันจะจำคำศัพท์ที่คุณสอนได้ค่อนข้างรวดเร็ว
ลักษณะภายนอกและความหลากหลายของนก
สีและลักษณะภายนอก
สีขนบริเวณปีกและลำตัวของนกสายพันธุ์นี้จะเป็นสีเขียวสด ขนส่วนคอและหัวจะเป็นสีน้ำเงิน และจะมีขนสีแดงสดที่บางส่วนของหาง และมักจะมีจุดสีแดงบริเวณจะงอยปากส่วนบน
การดูแลนกแก้วหัวน้ำเงิน
การดูแลด้านอาหารการกิน
เราสามารถซื้ออาหารเม็ดสำหรับนกให้น้องทานได้เลย แนะนำว่าให้เป็นสูตรที่มีส่วนผสมของธัญพืชและผลไม้อบแห้ง เพื่อสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเราสามารถให้มันทานควบคู่ไปกับอาหารสดชนิดต่างๆ เพื่อเสริมสารอาหาร สัดส่วนอาหารเม็ดกับอาหารสดก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสม อาหารสดดังกล่าวสามารถเป็นผัก ผลไม้ หรือธัญพืชชนิดต่างๆ ก็ได้ เช่น เมล็ดทานตะวัน, มะละกอ, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), คะน้า, ผักโขม, แครอท และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ อาหารที่มีไขมันสูงอย่างเมล็ดทานตะวัน ควรให้มันทานในปริมาณที่พอดี ถ้าหากว่ามันทานอาหารไขมันสูงเหล่านี้มากไป มันอาจจะทำให้นกน้ำหนักเกินได้ ถ้าน้องทานอาหารสดเหล่านี้ไม่หมดก็ควรเอาออกมาเปลี่ยน ไม่ควรให้น้องทานอาหารค้างคืนที่อาจจะบูดแล้ว ถ้าน้องทานอาหารบูดเหล่านั้นเข้าไป น้องอาจจะป่วยได้ (ถ้าเป็นลูกนกต้องให้อาหารชงสำหรับลูกป้อนโดยเฉพาะก่อน)
การดูแลขนและความสะอาด
โดยปกตินกจะเป็นสัตว์ที่คอยดูแลความสะอาดและจัดแต่งขนตัวเองเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลความสะอาดของน้องมากนัก แต่ถ้าหากว่าน้องเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น เราสามารถนำกะละมังขนาดใหญ่มากพอที่จะให้มันกระพือปีก ที่มีน้ำตื้นๆ ให้มันเล่นและอาบน้ำตัวเอง หรือจะเป็นการใช้กระบอกฉีดน้ำฟ๊อกกี้ (Foggy) แบบแรงดันฉีดไปที่ตัวให้มันอาบก็ได้
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
มันไม่ใช่นกขนาดเล็ก ดังนั้น กรงของมันจึงไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป กรงควรมีขนาดใหญ่มากพอที่จะให้มันสามารถกางปีกยืดเหยียดได้เต็มที่ ที่ที่ตั้งกรงของน้องควรไม่มีแดดแรงส่องถึง ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท และผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลความสะอาดของกรงนกอย่างสม่ำเสมอ ในกรงควรมีคอนให้นกเกาะ และควรนำของเล่นสำหรับนกชนิดต่างๆ เช่น ของเล่นที่ทำจากไม้ คอนที่ทำจากเชือก และอื่นๆ เข้าไปให้นกเล่นเพื่อคลายเหงา
การออกกำลังกายและอื่นๆ
เพื่อสุขภาพที่ดี นกก็ต้องการการออกกำลังกายเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่นกัน คุณสามารถนำน้องออกมาเล่นในห้องที่ปลอดภัยข้างนอกกรงบ้าง ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อให้มันได้ออกมาบินเล่นสำรวจโลกข้างนอกกรง และออกมาฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์กับคุณและผู้คนในบ้านบ้าง ซึ่งมีส่วนช่วยให้มันเชื่อง ไม่เหงา ไม่หดหู่ ไม่ก้าวร้าว และไม่เก็บกด หรืออาจจะพามันไปบินในที่ที่ปลอดภัยนอกบ้านบ้างก็ได้ แต่ทั้งนี้ ควรจะใส่เอี๊ยมหรือที่คล้องขานกเวลาพามันไปบินเพื่อป้องกันไม่ให้นกบินหายไป
ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Blue headed parrot
- โรคจะงอยปากและขน (Psittacine beak and feather disease): เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ อาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ นกขนร่วงเยอะ จะงอยปากผิดรูปและแตก เซื่องซึม บินไม่ค่อยได้ ซึ่งมันอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ถ้านกคุณมีอาการเหล่านี้ ให้นำน้องไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับแยกนกตัวที่แข็งแรงออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
- ไรในนก (Bird Mites): ไรในนกนั้นร้ายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้นกของคุณเสียชีวิตได้ และยังสามารถสร้างความรำคาญให้กับมนุษย์อีกด้วย อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ นกจะน้ำหนักตัวลดลง ขนยุ่ง และน้องจะกัดขนและตกแต่งขนบ่อยผิดปกติ ขนร่วง และผิวหนังเป็นแผล วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หมั่นรักษาความสะอาดกรงของน้อง ไม่ให้กรงของน้องมีความอับชื้น และไม่ให้น้องเข้าใกล้นกจากธรรมชาติตัวอื่น โดยเฉพาะนกพิราบ ที่อาจจะมีไรนกติดมาด้วย
- โรคซิตาโคซิส (Psittacosis): หรือที่เรียกกันว่า “โรคไข้นกแก้ว” มันเป็นโรคที่สามารถติดจากนกและสัตว์ปีกอื่นๆ สู่คนผ่านการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ นกที่อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเซื่องซึม ถ่ายบ่อย ไม่ค่อยทานอาหาร และมูลนกจะมีสีแปลกไปจากปกติ
- โรคกระเพาะขยาย (Proventricular Dilatation Disease): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ นกจะตัวผอมลง น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง เซื่องซึม และอาเจียน แต่นกบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกระทั่งเริ่มอาการหนักแล้ว
Blue headed parrot เหมาะกับผู้ที่
- ชอบนกที่ไม่เสียงดังมากนัก
- ชอบนกสีเขียวสวยงาม
- ชอบนกที่มีความเชื่อง สงบ เลี้ยงง่าย
- ยังมีประสบการณ์ในการเลี้ยงนกไม่มากนัก
- มีเวลาอยู่ร่วมกัน ให้ความสนใจ และดูแลมัน
คำถามที่พบบ่อย
- ฝึกน้องให้เชื่องยังไง: หมั่นให้น้องเข้าสังคมกับคนในบ้าน คอยเรียกชื่อน้อง พูดคุยกับน้องตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้น้องจำคุณได้ และอาจจะใช้อาหารมาเป็นตัวล่อให้นกมาทานอาหารบนฝ่ามือของคุณเพื่อสร้างความคุ้นเคย
- มีน้องขายในไทยไหม: น่าจะยังไม่มีขายในไทย ยังไงก็ลองค้นหาดูก่อนนะ
- น้องชอบให้ลูบจับไหม: ขึ้นอยู่กับนกแต่ละตัว นกบางตัวจะชอบให้คนที่มันรักมาลูบจับ แต่บางตัวก็จะมีความหวงตัว
เรื่องนกๆ ที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
10 อาหารสุนัขไซบีเรียน ยี่ห้อไหนดีและช่วยให้ขนนุ่มสวยเงางาม ปี 2023
10 อาหารสุนัข Holistic ยี่ห้อไหนดีและมีประโยชน์กับร่างกายสุนัข ปี 2023
เยอรมันเชพเพิร์ด (German Shepherd) ข้อมูล นิสัยและการดูแลสุนัขสายพันธุ์นี้
แมวกลบอาหารตัวเองเพราะอะไร มาดูกันเลย
10 อาหารสุนัขชิสุ ยี่ห้อไหนดีและช่วยบำรุงขนให้นุ่มสวย ปี 2023
นกคีรีบูน (Canary) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลนก
มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ (Miniature Schnauzers) ข้อมูล นิสัยและการดูแลสุนัข
แมวกินข้าวโพดได้ไหม และควรให้น้องกินเท่าไหร่