ออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด (Australian Shepherd) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล

ออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง
ออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด (Australian Shepherd) เป็นสายพันธุ์สุนัขจากสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาดใหญ่โต แข็งแรง ที่มีขนยาว หูพับที่มาพร้อมกับสีตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของมัน เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเจ้าออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ดให้มากขึ้นในบทความนี้กัน

ข้อมูลทั่วไปของออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด 

  • ขนาดตัว:  ปานกลาง
  • ความสูง:  ตัวผู้: 51–59 ซม.  ตัวเมีย: 47–54 ซม.
  • น้ำหนัก:  ตัวผู้: 26–32 กก.  ตัวเมีย: 17–25 กก.
  • อายุขัย:  13 – 15 ปี
  • ความยาวขน: ยาว
  • ความฉลาด:  ค่อนข้างฉลาด
  • ถิ่นกำเนิด:  แคลิฟอเนียร์, สหรัฐอเมริกา
  • การเอาใจใส่: ปานกลาง
  • ปริมาณการผลัดขน: ปานกลาง
  • ลักษณะเฉพาะ:  ขนยาว จมูกค่อนข้างยาว หูพับ ตัวมีหลากหลายสี บางตัวจะมีลายจุดแซมอยู่ด้วย

ประวัติของ Australian Shepherd

ถึงแม้ชื่อของมันจะมีคำว่าออสเตรเลียน แต่ว่าถิ่นกำเนิดของมันไม่ใช่ออสเตรเลีย แต่เป็นอเมริกาต่างหาก มันเป็นสุนัขที่สืบสายพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ Pyrenean Shepherd ของชาวบากส์ (Basque) ที่ใช้สำหรับต้อนปศุสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาพิเรนีส (Pyrenees) ประเทศสเปน ในภายหลัง ชาวบากส์บางคนได้ทำการอพยพย้ายถิ่นฐานไปที่ออสเตรเลียเพื่อที่จะหาพื้นที่ในการทำฟาร์มปศุสัตว์เพิ่มเติม และก็ได้นำสุนัขพื้นเมืองของตนติดมือไปด้วย ในช่วงเวลาที่อยู่ในออสเตรเลีย คนเลี้ยงแกะชาวบากส์ได้ทำการผสมพันธุ์สุนัขพื้นเมืองของตนกับสุนัขพันธุ์ Collie และ Border Collies แล้วก็ได้ทำการออกเดินทางอีกครั้งไปที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับสุนัขเหล่านี้ด้วย เพื่อไปหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำฟาร์มปศุสัตว์นั่นเอง และเมื่อผู้คนในแคลิฟอร์เนียได้เห็นสุนัขที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ของสุนัขพวกเขา ก็ได้ตั้งชื่อให้สุนัขพันธุ์นี้ว่า Australian Shepherd หรือมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า ออสซี่ (Aussie) นั่นเอง ในเวลาต่อมา มันเป็นสุนัขที่ได้รับความนิยมในแถบอเมริกาตะวันตก โดยผู้คนมักจะใช้มันเป็นสุนัขสำหรับต้อนฝูงปศุสัตว์ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1993 มันก็ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจาก American Kennel Club
 
ในปัจจุบัน มันก็ยังเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ผู้คนหลายๆ ประเทศนิยมเลี้ยงกันอยู่ มันเป็นสุนัขอันดับที่ 12 ที่มีผู้คนเลี้ยงมากที่สุดในปี 2021 ที่จัดอันดับโดย American Kennel Club คงจะเป็นเพราะสีสันและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์บนตัวของมัน

ลักษณะนิสัยของ ออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด 

มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีนิสัยร่าเริง กระตือรือร้น พลังงานสูง ชอบการวิ่งเล่นออกกำลังกายเป็นอย่างมาก เป็นสุนัขที่ไม่เหมาะกับการทิ้งมันไว้ในบ้านเฉยๆ ทั้งวัน มันเป็นสุนัขที่ฉลาดเฉลียว สามารถจดจำสิ่งที่คุณสอนมาได้อย่างรวดเร็ว คุณควรมีเวลาให้มันบ้างเพื่อพามันไปออกแรงเล่นทำกิจกรรมนอกบ้าน นอกจากนี้มันยังมีความเป็นมิตร สามารถเข้ากันกับผู้คนและสุนัขตัวอื่นๆ ได้ดี 
 
เนื่องจากว่ามันเคยเป็นสุนัขต้อนสัตว์ในฟาร์ม มันจึงมีทักษะการเฝ้าบ้านที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มันจะเห่าไล่ผู้คนหรือสัตว์ตัวอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคยให้ออกจากอาณาเขตของมัน จึงเหมาะสำหรับคนที่อยากได้สุนัขขนาดกลางสักตัวไว้เฝ้าบ้าน

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

ออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ดจะมีสีตาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตาโทนสีดำ, โทนสีน้ำตาล, สีฟ้า และบางตัวอาจจะมีตาข้างละสี

สีขน

มันเป็นสุนัขอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีหลากหลายสีให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาล-ขาว, ดำขาว, เทา-ขาว และอื่นๆ อีกมายมาย และมันมักจะมีจุดเด่นตรงลายหินอ่อน (Merle) ที่แซมเข้ามาในบริเวณใบหน้า หลัง และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

ความเป็นมิตรของออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ดที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ

มันเป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตรต่อผู้คนและเด็กๆ มันเป็นสุนัขที่เข้ากันกับเด็กๆ ภายในบ้านได้ดี เนื่องจากว่ามันเป็นสุนัขที่ค่อนข้างขี้เล่นและพลังงานเยอะ มันสามารถเล่นกับเด็กได้อย่างไม่รู้จักเบื่อ เป็นเพื่อนซี้ที่ดีของเด็กๆ ภายในบ้านในช่วงวันหยุดที่แสนจะน่าเบื่อ แล้วมันก็เป็นสุนัขขนาดกลางที่แข็งแรง สามารถทนไม้ทนมือกับการละเล่นของเด็กๆ ได้พอสมควร ถึงแม้ว่ามันจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่ไม่ดุ แต่ก็ควรกำชับเด็กๆไว้บ้างว่าอย่าเล่นอะไรที่รุนแรงกับมันเกินไป เพราะว่ามันก็มีสัญชาตญาณการป้องกันตัวเหมือนกันถ้ามันรู้สึกว่าถูกคุกคาม
 
มันยังเป็นสายพันธุ์สุนัขที่สามารถเลี้ยงกับสุนัขและสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เช่น แมว ได้ดีเช่นกัน มันสามารถใช้ชีวิตร่วมกับสุนัข และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ได้อย่างสบายๆ ด้วยความที่ค่อนข้างขี้เล่นและชอบใช้แรงของมัน มันสามารถเป็นเพื่อนเล่นกับสุนัขและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ได้ดี แต่ทั้งนี้ ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสุนัขที่พึ่งจะเคยพบกันเป็นครั้งแรก มันก็ไม่ได้เปิดใจรับในทันที ต้องมีเวลาสักระยะให้มันทำการปรับตัวและคุ้นชินกันและกันเสียก่อน ถึงจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

การดูแลออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด 

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

มันเป็นสุนัขพันธุ์ที่พลังงานเยอะมาก ชอบใช้แรง ต้องการการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มันชอบออกไปเล่นนอกบ้าน คุณควรพามันออกมาเดินเล่น จะเป็นการพามันออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายนอกบ้าน หรือจะเป็นทำกิจกรรมต่างๆ กับสมาชิกครอบครัวภายในบ้าน เช่น เล่นปาลูกบอล เล่นชักเย่อกับมัน  สัก 30-40 ก็เพียงพอแล้วสำหรับสุนัขสายพันธุ์นี้ เพื่อเป็นการปลดปล่อยพลังงานที่มากมายในตัวสุนัข ซึ่งมันมีส่วนช่วยในการลดความเครียดในตัวสุนัข และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ไปนานๆ
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

เราควรที่จะให้สุนัขสายพันธุ์นี้ฝึกเข้าสังคมตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข ให้มันได้ลองพบปะผู้คนใหม่ๆ เด็กๆ สุนัขตัวอื่นๆ และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ เพื่อให้มันเติบโตมาเป็นสุนัขที่สามารถเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และสามารถเปิดใจรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงแปลกหน้าได้อย่างดี
 

การดูแลด้านการดูแลขน

เนื่องจากว่ามันเป็นสุนัขที่ขนค่อนข้างยาว และเป็นขนสองชั้น เราก็ควรหวีขนให้มันบ้าง อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ขนมันไม่กระจุกเป็นก้อนและพันกัน ในช่วงที่มันผลัดขนคุณอาจจะต้องหวีบ่อยหน่อย เพื่อให้ขนที่ค้างอยู่ในตัวมันหลุดออกมา และหมั่นทำความสะอาดขนที่ร่วงออกมาบ่อยนิดนึง
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

พวกเราอยู่ในประเทศไทยเมืองร้อน แถมมันก็เป็นสุนัขที่ขนยาวหนา เราก็ควรจะระวังเรื่องฮีทสโตรกในสุนัขบ้าง เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป มีอากาศถ่ายเท ไม่มีแดดส่องลงมาตรงๆ มีน้ำดื่มมากพอ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขทำกิจกรรม ออกแรงเยอะเกินไปในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนจัด
พยายามควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อช่วยลดโอกาส
การเกิดโรคต่างๆ เช่น  โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) ด้วยการพาเจ้าออสเตรเลี่ยน เชพเพิร์ด ไปทำกิจกรรมและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี ถ้าเป็นอาหารทั่วไป ก็ควรให้อาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวเปล่า ผัก ไข่ ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติใดๆ  และผลไม้ชนิดที่สุนัขสามารถทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม  ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับสุนัขของคุณได้เลย

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน  Australian Shepherd

  • ต้อกระจก (Cataract): เป็นปัญหาเกี่ยวกับดวงตาที่มักจะพบในสุนัขที่เริ่มมีอายุแล้ว ซึ่งสามารถเกิดจากกรรมพันธุ์หรือการได้รับอาการบาดเจ็บที่ดวงตา
  • โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): วิธีการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ในสุนัขก็คือการควบคุมน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสายพันธุ์ โดยการควบคุมคุณภาพและปริมาณของอาหารให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ และการพาสุนัขออกไปวิ่งออกกำลังกายหรือเล่นกิจกรรมต่างๆ กับมัน ที่ใช้แรงอย่างพอเหมาะ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ อาการคือ สุนัขดูมองเห็นได้ไม่ค่อยดีในที่มืด และมักจะเดินชนสิ่งต่างๆ อยู่บ่อยๆ
 

นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น

  • กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
  • โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
  • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroidism)
  • กลากเกลื้อน (Ringworm)
  • โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
  • โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
  • โรคอ้วน (Obesity)
  • โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)
  • โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)
  • ฟันผุ (Tooth decay)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า  Australian Shepherd

  • เป็นสุนัขที่รักเจ้าของ สามารถปกป้องเจ้าของ
  • ต้องการการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ชอบการออกไปเล่นนอกบ้าน
  • ขี้เล่น 
  • พลังงานในตัวเยอะมาก
  • เป็นสุนัขที่มีความหวงเขตแดนของตน
  • มีความเป็นมิตรต่อผู้คน และสัตว์ตัวอื่นๆ

Australian Shepherd เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบสุนัขที่รักเจ้าของ
  • ชอบเลี้ยงสุนัขขนาดกลาง
  • เลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน
  • ชอบสุนัขที่ไม่ค่อยดุ
  • ชอบสุนัขที่ขนปุกปุย
  • ผู้ที่มีเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่นภายในบ้าน
  • ผู้ที่มีเวลาพามันไปออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

คำถามที่พบบ่อย

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image