ออสเตรเลียน แคทเทิล ด็อก (Australian Cattle Dog) เป็นสายพันธุ์สุนัขจากออสเตรเลีย ที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเลี้ยงสักเท่าไหร่ มีความซุกซน พลังงานสูงเป็นอย่างมาก สามารถทำให้คุณปวดหัวกับความซนมันได้ตลอดเวลา แต่มันก็มีข้อดีหลายอย่างเหมือนกัน มาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นในบทความนี้กัน
ข้อมูลทั่วไปของออสเตรเลียน แคทเทิล ด็อก
- ขนาดตัว: ปานกลาง
- ความสูง: เพศผู้: 46–51 ซม. เพศเมีย: 43–48 ซม.
- น้ำหนัก: 14-16 กิโลกรัม
- อายุขัย: 13 – 15 ปี
- ความยาวขน: ปานกลาง
- ความฉลาด: ฉลาดมาก
- ถิ่นกำเนิด: ประเทศออสเตรเลีย 🇦🇺
- การเอาใจใส่: ปานกลาง
- ปริมาณการผลัดขน: ปานกลาง
- ลักษณะเฉพาะ: ลักษณะภายนอกคล้ายๆ กับสุนัขจิ้งจอก หูตั้งปลายแหลม ใบหน้าทรงสามเหลี่ยม หางตก สีขนมักจะมีสีขาวเคลือบราวกับเกล็ดหิมะ
ประวัติของออสเตรเลียน แคทเทิล ด็อก
สุนัขสายพันธุ์นี้เกิดจากการที่เหล่าคนทำฟาร์มของประเทศออสเตรเลียต้องการสุนัขต้อนที่แข็งแรง ทนทาน ปราดเปรียว สามารถทนต่อทุกๆ สภาพอากาศในฟาร์มได้เป็นอย่างดี จึงเกิดการทดลองผสมสุนัขข้ามสายพันธุ์ระหว่างสุนัขจากประเทศอังกฤษ กับสุนัขท้องถิ่นของออสเตรเลียอย่าง Australian Dingo จนในที่สุดก็ออกมาเป็นสุนัขพันธุ์ Blue Heeler หรือที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ว่า Australian Cattle Dog นั่นเอง ในช่วงศตวรรษที่ 19 สุนัขสายพันธุ์นี้ถูกนำมาใช้งานในฟาร์มปศุสัตว์ โดยใช้มันมาต้อนวัวป่า มันเป็นที่นิยมใช้ในฟาร์มของรัฐควีนส์แลนด์ จนผู้คนในรัฐนั้นตั้งชื่อให้มันอีกชื่อว่า Queensland Heelers มันเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อวัวในประเทศออสเตรเลียเติบโตอย่างราบรื่น
ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1980 สุนัขสายพันธุ์นี้ได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการจาก American kennel Club ในปัจจุบัน สุนัขสายพันธุ์นี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในเหล่าคนชอบเลี้ยงสุนัข ถ้าหากว่าท่านใดสนใจสุนัขสายพันธุ์นี้ก็ต้องใช้ความพยายามในการหาซื้อหน่อย
ลักษณะนิสัยของออสเตรเลียน แคทเทิล ด็อก
มันเป็นสุนัขที่มีพลังงานในตัวสูง ชอบใช้กำลัง ขี้เล่น ซุกซน ชอบวิ่งเล่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องออกแรงพอสมควร ไม่เหมาะที่จะทิ้งมันไว้ในบ้านทั้งวัน เพราะมันจะระบายความเบื่อของมันโดยการกัด แทะ ทำลายข้าวของภายในบ้าน มันจึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีตารางเวลาแน่นเอี๊ยด ไม่มีเวลาพามันไปปลดปล่อยพลังงาน นอกจากนี้มันยังเป็นสุนัขที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี และรักเจ้าของ มันชอบที่จะอยู่กับเจ้าของตลอดเวลา ชอบเดินตามไปทุกๆ ที่ที่เจ้าของไป
มันเป็นสุนัขที่มีสัญชาตญาณการปกป้อง มีความหวงเขตแดนของตน และไม่ค่อยชอบคนแปลกหน้า หากมีคนแปลกหน้าหรือสัตว์ตัวอื่นพยายามที่จะบุกรุกอาณาเขตของมัน มันก็จะเห่าและแสดงความก้าวร้าวเพื่อไล่ผู้นั้นให้ออกไปจากพื้นที่ของมัน จึงเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดี
ความหลากหลายของสีสุนัข
สีตา
ออสเตรเลียน แคทเทิล ด็อก สายพันธุ์แท้จะมีสีตาหลากหลายสี เช่นโทนสีดำ โทนสีน้ำตาล สีฟ้า ในสุนัขบางตัวจะมีตาสีละข้าง เช่น ข้างนึงสีฟ้า ข้างนึงสีดำ
สีขน
มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีสีให้เลือกไม่มากนัก โดยหลักๆ จะแบ่งออกเป็นสองสี นั่นคือสีดำ-แทนแบบสีสุนัขร็อตไวเลอร์ และสีน้ำตาลอ่อน -น้ำตาลเข้ม เอกลักษณ์ของมันคือพวกมันมักจะมีลายหินอ่อน (Merle) แซมทั่วร่างกาย ราวกับว่าเป็นเกล็ดหิมะบนตัวมัน ส่วนลวดลายก็จะแตกต่างหลากหลายกันไป
ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ
มันเป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีความรักเจ้าของและครอบครัว ชอบอยู่ใกล้ๆ กับผู้คนที่มันรัก มันจึงเป็นสุนัขที่สามารถเลี้ยงให้อยู่ร่วมกับเด็กๆ ภายในครอบครัวได้ เนื่องจากว่ามันขี้เล่น ซุกซน พลังงานเยอะ มันจึงเป็นเพื่อนเล่นที่ดีให้กับเด็กๆ ในช่วงวันที่ว่างๆ ได้ไม่รู้จักเบื่อ แต่ว่ามันเป็นสุนัขที่ค่อนข้างระแวงคนแปลกหน้า ถ้าเป็นเด็กๆ ที่พึ่งจะเข้ามาอยู่ในบ้านทีหลัง มันอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะในการทำความรู้จัก ทำความคุ้นชินกับเด็กใหม่ ถึงจะลองนำพวกเขามาอยู่ร่วมกันกับสุนัขได้
มันเป็นสุนัขที่สามารถเข้ากันกับสุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่เด็กได้เช่นกัน มันสามารถเล่นและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อตัวอื่น สามารถอยู่ด้วยกัน กิน นอนด้วยกันเป็นปกติ แต่ถ้าเป็นสัตว์ตัวใหม่ที่พึ่งเข้ามาในครอบครัว เราต้องให้เวลามันค่อยๆ ทำความรู้จัก ทำคงามคุ้นเคย และเปิดใจยอมรับกันสักระยะ แล้วค่อยลองนำมันมาใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนตัวอื่นๆ
การดูแลออสเตรเลียน แคทเทิล ด็อก
การดูแลด้านการออกกำลังกาย
มันเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีพลังงานสูง มีความแอคทีพสูง ต้องการการออกกำลังกายสม่ำเสมอ คุณควรจะมีเวลาในการพาเจ้าตูบไปเดินเล่น วิ่งเล่นนอกบ้าน หรือไม่ก็ให้มันเล่น ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ออกแรงร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น การวิ่งแข่งกับมัน สัก 40-50 นาทีต่อวันกำลังดี เพื่อช่วยปลดปล่อยพลังงานที่มีในตัวสุนัข ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดความเครียด ลดความก้าวร้าวให้สุนัข และเพื่อให้สุนัขมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพ ช่วยให้มันอยู่กับเราไปนานๆ
การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน
โดยธรรมชาติมันเป็นสุนัขที่ไม่ค่อยเข้ากับคนและสัตว์แปลกหน้าสักเท่าไหร่ เราจึงควรต้องฝึกการเข้าสังคมให้มัน ไม่ควรขังมันไว้ในที่แคบๆ ทั้งวันโดยไม่สนใจมันเลย คุณควรพามันไปทำความรู้จัก และทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อให้มันคุ้นเคยและรักผู้คนในครอบครัว รวมถึงให้มันไปพบปะกับผู้คนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ เพื่อฝึกทักษะในการเข้าสังคมกับผู้อื่น มีส่วนช่วยให้มันสามารถเปิดใจรับคนใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นในตอนโตเต็มวัย ไม่ก้าวร้าวมากเกินไปเวลาเจอกับผู้คนตอนมันโต สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ตัวอื่นได้ในตอนโต ส่วนเรื่องการฝึกสอน เราควรฝึกสอนสิ่งต่างๆ ให้มันตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข เพื่อความง่ายและความรวดเร็วในการฝึกสอน
เรื่องการดูแลขนและความสะอาด
มันเป็นสุนัขมีขนสองชั้น ดังนั้นเราควรจะดูแลเรื่องขนให้มันสักหน่อย ด้วยการแปรงขนให้มันสักสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็ยังดี เพื่อทำให้ขนของมันไม่พันกันเป็นกระจุก และเพื่อเอาขนตายที่ค้างอยู่ในตัวมันออกมา มันจะผลัดขน ปีละ 1-2 ครั้ง ช่วงที่มันผลัดขนก็ควรจะแปรงขนให้บ่อยกว่าเดิม และควรมีการอาบน้ำ ตัดเล็บ ทำความสะอาดมันบ้างหากว่าเจ้าตูบเริ่มสกปรกมอมแมม
การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม
พวกเราอยู่ในประเทศไทยเมืองร้อน เราก็ควรจะระวังเรื่องฮีทสโตรกในสุนัขบ้าง เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดส่องลงมาตรงๆ มีน้ำดื่มมากพอ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สุนัขทำกิจกรรม ออกแรงเยอะเกินไปในช่วงกลางวัน
พยายามควบคุมรูปร่าง และน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน (Obesity) ด้วยการพาเจ้าตูบไปทำกิจกรรมและออกกำลังกายเป็นประจำ อีกส่วนนึงคือการควบคุม เอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมกับตัวสุนัข จะเป็นการทานบาร์ฟ อาหารปกติทั่วไป หรือจะเป็นอาหารสำหรับสุนัขโดยเฉพาะก็แล้วแต่คุณเลย ถ้าเป็นอาหารทั่วไปก็ควรเป็นอาหารที่ดี มีประโยชน์ เช่น เนื้อไก่ ไข่ไก่ ตับ ข้าว มาคลุกรวมกันโดยไม่ปรุงแต่งรสชาติใดๆ เพิ่มเติม สามารถให้ผลไม่ชนิดที่สุนัขทานได้ในปริมาณที่พอเหมาะ ถ้าเป็นอาหารสำหรับสุนัขก็สามารถเลือกสูตรที่เหมาะสมกับสุนัขของคุณได้เลย เช่น สูตรแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น
โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Australian Cattle Dog
- ข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): เป็นโรคภัยที่สุนัขสายพันธุ์นี้ และสุนัขสายพันธุ์ขนาดกลางตัวอื่นๆ มักจะเจอ วิธีการช่วยลดโอกาสการเกิดโรคนี้ในสุนัขก็คือเราต้องควบคุมน้ำหนักตัวของมันให้เหมาะสม ด้วยการพามันไปออกกำลังกาย วิ่งเล่นนอกบ้าน ทำกิจกรรมที่ใช้แรงนอกบ้านอย่างสม่ำเสมอ และอีกส่วนนึงคือการเอาใจใส่เรื่องโภชนาการของสุนัขให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะกับสายพันธุ์
- โรคจอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy): เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาที่สามารถสืบทอดทางกรรมพันธุ์ได้ อาการคือ สุนัขดูมองเห็นได้ไม่ค่อยดีในที่มืด และมักจะเดินชนสิ่งต่างๆ อยู่บ่อยๆ
- หูหนวก (Deafness): อาการที่สามารถสังเกตได้ว่าสุนัขอาจจะหูหนวก คือ มันไม่ตอบสนองต่อการเรียกของเราหรือเสียงใดๆ
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเจอโรคภัยอื่นๆ อีก เช่น
- ต้อกระจก(Cataract): สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ
- กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy): วิธีสังเกตก็คือ มันจะมีจุดเล็กๆ สีขาว ในกระจกตา พบได้บ่อยในสุนัขวัยชรา
- โรคลมแดด (Heatstroke): เกิดจากร่างกายของสุนัขระบายความร้อนที่สูงไม่ได้
- กลากเกลื้อน (Ringworm)
- โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
- โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia)
- โรคหัดสุนัข (Canine Distemper)
- โรคอ้วน (Obesity)
- โรคลำไส้อักเสบ (Canine Parvo Virus)
- โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- ไตวาย (Kidney Failure)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Australian Cattle Dog
- เป็นสุนัขที่รักเจ้าของ เด็กๆ และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น
- เป็นสุนัขที่ระแวงคนแปลกหน้า
- เป็นสุนัขขนสองชั้น
- ไม่เหมาะกับการถูกทิ้งอยู่ในที่แคบๆ ทั้งวัน
- เป็นสุนัขที่พลังงานเยอะ ซุกซน ขี้เล่น
- มันชอบตามติดเจ้าของไปทุกที่
Australian Cattle Dog เหมาะกับผู้ที่
- ชอบสุนัขขนาดกลาง
- ชอบสุนัขที่รักเจ้าของ
- มีเวลาอยู่ร่วมกัน พามันไปออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกันเป็นประจำ
- ชอบสุนัขขนไม่ยาวมาก
- ชอบสุนัขขนาดกลางที่เฝ้าบ้านได้
- สามารถรับมือกับความแอคทีพของมันได้
คำถามที่พบบ่อย
- เลี้ยงในหอพักได้ไหม: ไม่แนะนำ
- ดุไหม: ไม่ค่อยดุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีเลี้ยง
- เลี้ยงกับแมวได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับแมวได้
- เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: สามารถเลี้ยงกับเด็กได้
- เฝ้าบ้านได้ไหม: เหมาะกับการเฝ้าบ้าน
- เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: มันไม่ใช่สุนัขที่เหมาะกับคนเป็นภูมิแพ้มากนัก
เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
ผ้าเช็ดตัวสุนัขและแมว แบบไหนดี ซึมซับน้ำเยอะ และแห้งไว ปี 2023
เกรย์ฮาวด์ (Greyhound) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลเจ้าตูบ
8 ที่แปรงขนแมว แบบไหนดีและรีวิวปัง ปี 2023
สุนัขกินกระดูกได้ไหม และจำเป็นต้องกินไหม มาหาคำตอบกัน
อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
13 สายพันธุ์สุนัขที่เหมาะกับการเลี้ยงในคอนโด แถมยังน่ารักมากด้วย
แมวกินไข่ต้มได้ไหม มาหาคำตอบกัน
บูลเทอเรีย (Bull Terrier) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัขสายพันธุ์นี้