นกแก้วอเมซอน (Amazon Parrot) มันเป็นตระกูลนกตัวใหญ่จากอเมริกาใต้ ที่มักจะมีขนสีเขียวสดราวกับใบไม้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ไม่แปลกใจเลยที่หลายๆ ท่านอยากจะลองเลี้ยงมันสักครั้ง มาทำความรู้จักกับมันกันเถอะ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย
ข้อมูลทั่วไปของนกแก้วอเมซอน
- น้ำหนัก: 200 – 700 กรัม แล้วแต่สายพันธุ์
- อายุขัย: 30- 60 ปี
- ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร
- ความยาวตัว: 25 – 50 ซม. แล้วแต่สายพันธุ์
- ถิ่นกำเนิด: แม็กซิโก, อเมริกาใต้, หมู่เกาะเวสต์อินดีส
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Amazona
- ลักษณะเฉพาะ: ตัวมักจะมีสีเขียวราวกับสีใบไม้สด และมีสีอื่นแซมที่บริเวณใบหน้า ปีก และส่วนอื่นๆ แล้วแต่สายพันธุ์
ประวัติของนกแก้วอเมซอน
นกแก้วตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดในป่าบริเวณลุ่มน้ำอเมซอนที่ทวีปอเมริกาใต้ และยังค้นพบมันในป่าของประเทศเม็กซิโกและหมู่เกาะเวสต์อินดีสอีกด้วย นกแก้วตระกูลนี้มีสายพันธุ์ย่อยออกไปราวๆ 30 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีสีสันและรูปร่างที่ต่างกันไม่มากนัก และความหายากก็แตกต่างกันเช่นกัน นกเหล่านี้ได้ถูกนำมาลองเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง และกลายเป็นตระกูลนกที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศ
ข้อควรระวัง
ก่อนเลี้ยงนกควรต้องศึกษาเรื่องกฎหมายก่อน ในปัจจุบันนกบางสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ใน CITES บัญชีหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งแต่ละบัญชีก็จะมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ซึ่งคุณต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าในปัจจุบันนกสายพันธุ์นี้อยู่ที่ CITES บัญชีไหนหรือไม่ มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อขายครอบครองนกสายพันธุ์นี้ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อนกที่ถูกดักจับจากป่าอย่างผิดกฎหมาย
ลักษณะนิสัยของนกแก้วอเมซอน
มันเป็นนกแก้วที่ฉลาด ขี้เล่น ซุกซน และอยากรู้อยากเห็น มันชอบใช้เวลาไปกันการกัดเคี้ยวของเล่นชิ้นโปรด ชอบการสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยรอบและชอบการอยู่ท่ามกลางความสนใจของเจ้าของ แต่ถ้าหากว่ามันไม่ได้รับการฝึกฝนให้เข้าสังคมกับมนุษย์มากเพียงพอ มันก็อาจจะเป็นนกที่ไม่เชื่องและมีความก้าวร้าวได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการฝึกมันให้เข้าสังคมกับคนในบ้านตั้งแต่เด็ก
การพูดคุยและส่งเสียง
นกแก้วตระกูลนี้มักจะมีเสียงร้องที่ดังมากๆ ซึ่งมันอาจจะรบกวนคนรอบข้างได้ คุณจึงควรใส่ใจว่าเสียงร้องของมันจะไปรบกวนคนรอบข้างหรือไม่ ส่วนเรื่องทักษะการเลียนแบบเสียง มันสามารถเลียนแบบเสียงมนุษย์และเสียงจะสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้ดีพอสมควร มันสามารถเลียนแบบได้กระทั่งสำเนียงเฉพาะของคนคนนั้น จึงสามารถนำมันมาสอนพูดคำต่างๆ ที่คุณต้องการได้
ลักษณะภายนอกและความหลากหลายของนก
สีและลักษณะภายนอก
สีขนของนกตระกูลนี้มักจะเป็นสีเขียวสด และจะมีสีอื่นๆ แซมเล็กน้อยบริเวณปีก ใบหน้า และหัว แต่ก็มีนกแก้วอเมซอนบางสายพันธุ์ที่มีสีตัวที่แตกต่างไปจากนี้
ความหลากหลายของสายพันธุ์
นกแก้วตระกูลนี้จะมีสายพันธุ์แยกย่อยไปอีกราวๆ 30 สายพันธุ์ ซึ่งมักจะมีข้อแตกต่างด้านขนาดตัว และสีสันที่บางจุดของร่างกาย
การดูแลนกแก้วอเมซอน
การดูแลด้านอาหารการกิน
เราสามารถซื้ออาหารเม็ดสำหรับนกให้น้องทานได้เลย แนะนำว่าให้เป็นสูตรที่มีส่วนผสมของธัญพืชและผลไม้อบแห้ง โดยเราสามารถให้มันทานควบคู่ไปกับอาหารสดชนิดต่างๆ เพื่อเสริมสารอาหาร สัดส่วนอาหารเม็ดกับอาหารสดก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเหมาะสม อาหารสดดังกล่าวสามารถเป็นผัก ผลไม้ หรือธัญพืชชนิดต่างๆ ก็ได้ เช่น เมล็ดทานตะวัน, มะละกอ, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), คะน้า, ผักโขม, แครอท และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ อาหารที่มีไขมันสูงอย่างเมล็ดทานตะวัน ควรให้มันทานในปริมาณที่พอดี ถ้าหากว่ามันทานอาหารไขมันสูงเหล่านี้มากไป มันอาจจะทำให้นกน้ำหนักเกินได้ ถ้าน้องทานอาหารสดเหล่านี้ไม่หมดก็ควรเอาออกมาเปลี่ยน ไม่ควรให้น้องทานอาหารค้างคืนที่อาจจะบูดแล้ว ถ้าน้องทานอาหารบูดเหล่านั้นเข้าไป น้องอาจจะป่วยได้ (ถ้าเป็นลูกนกต้องให้อาหารชงสำหรับลูกป้อนโดยเฉพาะก่อน)
การดูแลขนและความสะอาด
โดยปกตินกจะเป็นสัตว์ที่คอยดูแลความสะอาดและจัดแต่งขนตัวเองเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลความสะอาดของน้องมากนัก แต่ถ้าหากว่าน้องเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น เราสามารถนำกะละมังขนาดใหญ่มากพอที่จะให้มันกระพือปีก ที่มีน้ำตื้นๆ ให้มันเล่นและอาบน้ำตัวเอง หรือจะเป็นการใช้กระบอกฉีดน้ำฟ๊อกกี้ (Foggy) แบบแรงดันฉีดไปที่ตัวให้มันอาบก็ได้
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
ส่วนมากนกตระกูลนี้จะตัวค่อนข้างใหญ่ กรงของมันจึงไม่ควรมีขนาดเล็ก กรงควรมีขนาดใหญ่มากพอที่จะให้มันสามารถกางปีกได้เต็มที่ ที่ที่ตั้งกรงของน้องควรไม่มีแดดแรงส่องถึง ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท และผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลความสะอาดของกรงนกอย่างสม่ำเสมอ ในกรงควรมีคอนให้นกเกาะ และควรนำของเล่นสำหรับนกชนิดต่างๆ เช่น ของเล่นที่ทำจากไม้ ชิงช้านก และอื่นๆ เข้าไปให้นกเล่น
การออกกำลังกายและอื่นๆ
เพื่อสุขภาพที่ดี นกก็ต้องการการออกกำลังกายเหมือนสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่นกัน คุณสามารถนำน้องออกมาเล่นในห้องที่ปลอดภัยข้างนอกกรงบ้าง ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อให้มันได้ออกมาบินเล่นสำรวจโลกข้างนอกกรง และฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์กับคุณและผู้คนในบ้านบ้าง ซึ่งมีส่วนช่วยให้มันเชื่อง ไม่เหงา ไม่หดหู่ ไม่ก้าวร้าว และไม่เก็บกด หรืออาจจะพามันไปบินในที่ที่ปลอดภัยนอกบ้านบ้างก็ได้ แต่ทั้งนี้ ควรจะใส่เอี๊ยมเวลาพามันไปบินเพื่อป้องกันไม่ให้นกบินหายไป
ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน Amazon Parrot
- โรคจะงอยปากและขน (Psittacine beak and feather disease): เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ อาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ นกขนร่วงเยอะ จะงอยปากผิดรูปและแตก เซื่องซึม บินไม่ค่อยได้ ซึ่งมันอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ถ้านกคุณมีอาการเหล่านี้ ให้นำน้องไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับแยกนกตัวที่แข็งแรงออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
- โรคกระเพาะขยาย (Proventricular Dilatation Disease): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ นกจะตัวผอมลง น้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง เซื่องซึม และอาเจียน แต่นกบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกระทั่งเริ่มอาการหนักแล้ว
- ไรในนก (Bird Mites): ไรในนกนั้นร้ายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้นกของคุณเสียชีวิตได้ และยังสามารถสร้างความรำคาญให้กับมนุษย์อีกด้วย อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ นกจะน้ำหนักตัวลดลง ขนยุ่ง และน้องจะกัดขนและตกแต่งขนบ่อยผิดปกติ ขนร่วง และผิวหนังเป็นแผล วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หมั่นรักษาความสะอาดกรงของน้อง ไม่ให้กรงของน้องมีความอับชื้น และไม่ให้น้องเข้าใกล้นกจากธรรมชาติตัวอื่น โดยเฉพาะนกพิราบ ที่อาจจะมีไรนกติดมาด้วย
- โรคซิตาโคซิส (Psittacosis): หรือที่เรียกกันว่า “โรคไข้นกแก้ว” มันเป็นโรคที่สามารถติดจากนกและสัตว์ปีกอื่นๆ สู่คนผ่านการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ นกที่อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเซื่องซึม ถ่ายบ่อย ไม่ค่อยทานอาหาร และมูลนกจะมีสีแปลกไปจากปกติ
Amazon Parrot เหมาะกับผู้ที่
- ชอบนกที่มีความขี้เล่น
- ชอบนกตัวค่อนข้างใหญ่
- ชอบนกสีเขียว
- มีเวลาอยู่ร่วมกัน ให้ความสนใจ และดูแลมัน
- แน่ใจว่าเสียงดังๆ ของนกจะไม่รบกวนคนอื่น
คำถามที่พบบ่อย
- น้องชอบให้ลูบจับไหม: ถ้าเป็นนกที่เชื่องแล้ว จะสามารถลูบจับได้ตามปกติ
- มีน้องขายในไทยไหม: ไม่ค่อยแน่ใจ บางสายพันธุ์อาจจะมีขายในไทย ลองค้นหากันดูนะ
- ฝึกน้องให้เชื่องยังไง: หมั่นให้น้องเข้าสังคมกับผู้คน เรียกชื่อน้อง พูดคุยกับน้องตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้น้องจำคุณได้ และอาจจะใช้อาหารมาเป็นตัวล่อให้นกมาทานอาหารบนฝ่ามือของคุณเพื่อสร้างความคุ้นเคย
เรื่องนกๆ ที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
ลาซา แอพโซ (Lhasa Apso) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
นกแก้วจาร์ดีน (Jardine Parrot) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
100+ ชื่อสุนัขภาษาญี่ปุ่น ที่มีเสน่ห์และไม่เหมือนใคร
ไจแอนท์ อลาสกัน มาลามิวท์ (Giant Alaskan Malamute) ข้อมูล นิสัยและการดูแล
สุนัขกินกุ้งได้ไหม พวกเรามีคำตอบให้คุณ
10 ขนมขัดฟันสุนัข ยี่ห้อไหนดีและช่วยให้ฟันของน้องสะอาด ปี 2023
หนูตะเภาซิลกี้ (Silkie Guinea Pig) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแล
200+ ไอเดียตั้งชื่อกระต่ายที่ฟังดูน่ารัก มีทั้งของตัวผู้และตัวเมีย