อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข

อลาสกัน มาลามิวท์
แชร์ได้เลยที่ปุ่มด้านล่าง

อลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute) มันเป็นสายพันธุ์สุนัขตัวใหญ่จากดินแดนอันหนาวเหน็บอย่างอลาสก้า นอกจากหน้าตาที่น่ารักแล้ว มันจะมีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่อีกบ้าง มาทำความรู้จักกับมันกันเลยดีกว่า

ข้อมูลทั่วไปของอลาสกัน มาลามิวท์

  • ขนาดตัว: ใหญ่
  • ความสูงจากไหล่: ตัวเมีย 56 – 61 ซม.  ตัวผู้ 60 – 66 ซม.
  • น้ำหนัก: ตัวเมีย 32 – 38 กก.  ตัวผู้  36 – 43 กก.
  • อายุขัย: 10 – 12 ปี
  • ความยาวขน: ปานกลาง
  • ความฉลาด: ฉลาดพอสมควร 
  • ถิ่นกำเนิด: ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • ความต้องการการเอาใจใส่: สูง
  • ลักษณะเฉพาะ: หางม้วนขึ้นมาบนหลัง มักจะมีขนสองสีในตัว ดวงตาสีน้ำตาล ใบหูตั้งทรงสามเหลี่ยม ใบหน้าดูคล้ายกับหมาป่า แต่ดูมีความอ่อนโยนมากกว่านั้น

ประวัติของอลาสกัน มาลามิวท์

มันมีถิ่นกำเนิดมาจากรัฐอลาสก้าซึ่งเป็นดินแดนอันหนาวเหน็บในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อหลายร้อยปีก่อน มันถูกพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาโดยชนเผ่า”มาเลมิอุต อินูอิต” (Mahlemiut Inuit) ที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือในรัฐอลาสก้า แม้จะมีความเชื่อว่ามันสืบเชื้อสายมาจากหมาป่าโบราณในอดีต แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดนัก แต่สิ่งที่แน่ชัดคือในอดีตชนเผ่านี้มักจะใช้มันในการช่วยลากเลื่อนรถที่บรรทุกไปด้วยเสบียงและสิ่งของหนักๆ ด้วยร่างกายที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการทนต่อสภาพอากาศอันหนาวเย็นได้ดี พวกมันจึงถูกใช้ในการเพื่อช่วยคนล่าแมวน้ำและล่าหมีขาวที่อยู่ในบริเวณนั้นด้วย
 
ในปีค.ศ. 1896 หรือช่วงยุคตื่นทอง (Klondike Gold Rush) ได้มีการค้นพบทองคำจำนวนมากที่ภูมิภาคคลอนไดค์ (Klondike) ในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีสภาพอากาศที่ค่อนข้างเลวร้าย ผู้คนบางส่วนจึงได้นำสุนัขสายพันธุ์นี้ไปช่วยเหลืองานคนในเหมืองอีกด้วย นอกจากนี้ มันยังถูกส่งตัวไปช่วยงานในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองอีกด้วย โดยมันรับหน้าที่เป็นสุนัขส่งเสบียงและเป็นสุนัขกู้ภัย ซึ่งมันก็ทำหน้าที่ของมันได้ดีเลยทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันผู้คนก็ชอบนำมันไปผสมข้ามสายพันธุ์กับสุนัขตัวอื่นจนมันเกือบจะสูญพันธุ์
 
ในปี ค.ศ. 1935 ทางองค์กร American kennel club ได้ยอมรับสุนัขอลาสกันสายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์หนึ่ง นั่นคือคอตเซอบิว (Kotzebue) แต่คงเป็นเพราะประชากรของพวกมันเริ่มเหลือน้อยลงเต็มที ทางองค์กรจึงได้มีการยอมรับสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ นั่นคือ ฮินแมน (Hinman) และเอ็มลูท (M’Loot) ด้วย จนมาถึงในปัจจุบัน มันกลายเป็นสุนัขที่ได้รับความนิยมมากพอสมควร และสุนัขในปัจจุบันก็มีเชื้อสายมาจากสามสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวของสุนัขอลาสกันที่มีในอดีต สรุปง่ายๆ คือมันไม่มีสายพันธุ์ย่อยให้เลือกแบบในอดีตอีกแล้ว
 

ลักษณะนิสัยของอลาสกัน มาลามิวท์ 

มันเป็นสุนัขที่มีความอ่อนโยน อ่อนหวาน ใจดี ไม่ก้าวร้าว รักใคร่คนในครอบครัว เข้าสังคมเก่ง และมีระดับความเป็นมิตรที่สูงมากๆ มันจึงสามารถเข้ากันได้ดีกับสมาชิกทุกคนภายในบ้าน แถมมันจะมีความขี้เล่น ซุกซน และมีพลังงานสูงในระดับหนึ่ง มันจึงสามารถมาเติมสีสันและความสนุกสนานให้กับคนรอบตัวได้เป็นอย่างดี แต่ความเป็นมิตรในระดับสูงของมันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เพราะจะทำให้มันกลายเป็นสุนัขที่มีความสามารถในการเฝ้าบ้านที่ไม่ค่อยดี สุนัขบางตัวอาจจะต้อนรับคนแปลกหน้าเข้ามาในบ้านอย่างง่ายๆ เลยก็ได้ เพราะเหตุนี้ ถึงแม้ว่ามันจะมีร่างกายที่ใหญ่โตดูน่าเกรงขาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสุนัขเฝ้าบ้านที่ดี

ความหลากหลายของสีสุนัข

สีตา

มันเป็นสุนัขที่มีตาโทนสีน้ำตาล
 

สีขนและสีตัว

สีขนของมันมีหลากหลายสีให้เลือก โดยมักจะเป็นแบบ 2 สีในตัว เช่น สีดำ-ขาว, เทา-ขาว, น้ำตาลแดง-ขาว, เงิน-ขาว, ขาวล้วน, สีบลู-ขาว, ดำอมน้ำตาล-ขาว (Seal & White), และอื่นๆ

ความเป็นมิตรของเจ้าตูบที่มีต่อเด็ก และสัตว์เลี้ยง

โดยทั่วไปมันเป็นสุนัขที่มีความเป็นมิตรกับคนในครอบครัวมาก มันจึงเข้ากันได้ดีกับเด็กๆ ภายในบ้าน รวมถึงสุนัขตัวอื่นและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่มันคุ้นเคยด้วยแล้ว แล้วด้วยความที่มันมีความขี้เล่นซุกซนอยู่บ้าง มันจึงสามารถสร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี แม้แต่คนแปลกหน้าหรือสุนัขตัวอื่นที่มันพึ่งเคยเห็นหน้า มันก็สามารถทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน เพราะเหตุนี้ มันจึงเหมาะกับการนำมาเลี้ยงเป็นสุนัขสำหรับครอบครัวเป็นอย่างมาก
อลาสกัน มาลามิวท์

การดูแลอลาสกัน มาลามิวท์

การดูแลด้านการออกกำลังกาย

เนื่องจากว่ามันเป็นสุนัขสำหรับใช้งานมาก่อน มันจึงมีระดับพลังงานที่ค่อนข้างสูง นั่นหมายความว่ามันต้องการการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ คุณจึงควรมีเวลาพามันออกไปเดินเล่นนอกบ้าน วิ่งเล่น ว่ายน้ำ หรือจะให้มันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้แรงกับคนในครอบครัวก็ได้ เช่น การใช้ผ้าเล่นชักเย่อกับมัน เพื่อให้สุนัขมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ และเพื่อช่วยลดความเบื่อหน่าย ความเก็บกด และความหดหู่ให้สุนัข แถมยังมีส่วนช่วยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสุนัขอีกด้วย ระยะเวลาในการพามันไปออกกำลังกายควรจะอยู่ประมาณ 45-60 นาทีต่อวัน หรือจะมากกว่านี้ก็ได้
 

การดูแลเรื่องการเข้าสังคมและการฝึกสอน

ถึงแม้ว่ามันจะมีความเป็นมิตรมากๆ อยู่แล้ว แต่เราก็ควรฝึกให้มันเข้าสังคมบ้าง คุณควรพามันไปทำความคุ้นเคยและทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวตั้งแต่ที่มันยังเป็นลูกสุนัข  เพื่อให้มันรู้สึกคุ้นเคยและผูกพันแน่นแฟ้นกับพวกเขา รวมถึงให้มันไปพบเจอกับคนแปลกหน้า สุนัขตัวอื่น และสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นตั้งแต่เด็กด้วย เพื่อให้มันเข้ากันกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ส่วนเรื่องการฝึกสอน มันอาจจะมีความดื้อรั้นบ้างในบางครั้ง เราจึงต้องสอนมันอย่างใจเย็น การมีขนมมาล่อตาล่อใจมันจะทำให้การฝึกสอนสุนัขราบรื่นมากยิ่งขึ้น
 

เรื่องการดูแลขนและความสะอาด

ขนของมันจะเป็นขนสองชั้นที่ค่อนข้างยาว แถมปริมาณการผลัดขนของมันจะเยอะมากพอสมควร การดูแลขนให้มันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก มันจะผลัดขนปีละประมาณ 2 ครั้ง ในช่วงที่มันผลัดขน เราก็ต้องหมั่นนำหวีแปรงขนมันให้บ่อยๆ เพื่อช่วยนำขนตายที่ติดค้างอยู่ในตัวของมันออกมาให้หมด หรือคุณจะใช้ถุงมือสำหรับแปรงขนสัตว์ และที่เป่าขนสุนัขมาใช้ร่วมกับหวีด้วยก็ได้ ส่วนเรื่องความสะอาด เราควรตัดเล็บ ทำความสะอาดใบหน้าใบหู และมีการอาบน้ำให้สุนัขบ้างเป็นครั้งคราว ความถี่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสกปรกของสุนัข ถ้าสุนัขชอบไปเล่นจนเนื้อตัวเปรอะเปื้อนบ่อยๆ ก็สามารถอาบน้ำสุนัขให้บ่อยกว่าปกติ
 

การดูแลเรื่องสุขภาพโดยรวม

อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าอากาศในประเทศไทยร้อนมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อน เราจึงควรระวังเรื่องโรคลมแดดในสุนัขไว้บ้างก็ดี วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ เราควรให้สุนัขอยู่ในที่ที่อากาศไม่ร้อน มีอากาศถ่ายเท ไม่อบอ้าว ไม่มีแดดแรงส่องลงมาโดนสุนัขตรงๆ ไม่ให้สุนัขวิ่งเล่นและทำกิจกรรมหนักๆ ในช่วงกลางวัน มีน้ำสะอาดให้มันดื่มอยู่เสมอ และเลือกช่วงเวลาในการพาสุนัขออกไปวิ่งเล่นทำกิจกรรมนอกบ้านให้ดี

การควบคุมน้ำหนักตัวของสุนัขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอยู่เสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับความอ้วนให้เจ้าตูบ เราจึงควรพาเจ้าตูบไปวิ่งเล่นออกกำลังกายเพื่อใช้พลังงานบ้าง อีกส่วนหนึ่งคือการควบคุมเอาใจใส่คุณภาพและปริมาณอาหารของสุนัขให้ดี ให้เราเลือกประเภทอาหารที่คุณสะดวกและเหมาะสมกับสุนัขของคุณ จะเป็นการทานอาหารปกติทั่วไป ทานอาหารแบบบาร์ฟ หรือจะเป็นอาหารที่ทำมาเพื่อสุนัขโดยเฉพาะเลยก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอาหารแบบใด เราก็ต้องให้มันทานในปริมาณที่พอเหมาะกับขนาดตัว ไม่ให้มันทานมากเกินไปจนอ้วน และอย่าลืมที่จะศึกษาว่าอาหารชนิดใดบ้างที่สุนัขทานไม่ได้ เพื่อความปลอดภัยของเจ้าตูบเอง

โรคภัยต่างๆ ที่อาจพบใน Alaskan Malamute

  • โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ สุนัขไม่ค่อยอยากลุกเดิน ดูมีความเจ็บปวดและไม่มีแรงที่ขาหลัง เดินกะเผลก และกล้ามเนื้อขาหลังลีบลง ถึงแม้ว่ามันเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ แต่ว่าเราสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ให้เจ้าตูบได้ โดยการคอยควบคุมน้ำหนักตัวของเจ้าตูบไม่ให้ตัวหนักเกินมาตรฐานของสายพันธุ์
  • ภาวะไทรอยด์ต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism): เกิดจากการที่สุนัขมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าระดับทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นความผิดปกติของร่างกาย
  • กระเพาะอาหารขยายและบิดตัว (Gastric dilatation-volvulus): เกิดจากการที่กระเพาะขยายตัวจากการสะสมของแก๊ส น้ำ หรืออาหาร และเกิดการบิดตัวขึ้นที่กระเพาะอาหาร อาการที่สังเกตได้ คือ ท้องบวมผิดปกติ ยืนตัวโก่ง น้ำลายไหลเยอะ กระสับกระส่าย และสุนัขดูมีความเจ็บปวดที่ท้อง
 

โรคภัยที่อาจจะพบเจอในสุนัขพันธุ์นี้

  • โรคข้อศอกเสื่อม (Elbow Dysplasia)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • ต้อกระจก(Cataract)
  • กระจกตาเสื่อม (Corneal Degeneration/ Dystrophy)
  • โรคลมแดด (Heatstroke)
  • จอประสาทตาเสื่อม (Progressive Retinal Atrophy)
  • ไตวาย (Kidney Failure)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Riabies)
  • โรคตับอักเสบ (Hepatitis)
  • โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • กลากเกลื้อน (Ringworm)

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเจ้า Alaskan Malamute

  • มันมีความขี้เล่น ร่าเริง และพลังงานค่อนข้างสูง
  • มันมีความเป็นมิตรในระดับที่สูงมากๆ
  • ปริมาณการผลัดขนของมันจะเยอะมากพอสมควร
  • มันเป็นสุนัขตัวใหญ่ จึงต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัยในปริมาณอาหารที่ค่อนข้างเยอะ

Alaskan Malamute เหมาะกับผู้ที่

  • ชอบสุนัขตัวใหญ่กอดอุ่น
  • ชอบสุนัขที่เข้ากันกับคนได้ง่ายมากๆ
  • ไม่ได้อยากเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน
  • ไม่ได้มีอาการแพ้ขนสุนัข
  • ไม่มีปัญหากับปริมาณการผลัดขนที่เยอะของมัน
  • มีเวลาอยู่ร่วมกับมัน พามันไปออกกำลังกาย และดูแลขนมันบ้าง

คำถามที่พบบ่อย

  • เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่นได้ไหม: เลี้ยงกับสุนัขตัวอื่น และแมวได้ดี
  • เลี้ยงกับเด็กได้ไหม: เลี้ยงกับเด็กๆ ในครอบครัวได้ดีมากๆ
  • เหมาะกับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ไหม: ไม่ค่อยเหมาะกับคนเป็นภูมิแพ้
  • มันต่างจากสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนยังไง: อลาสกันจะจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า หางของอลาสกันจะม้วนขึ้นมาบนหลัง ตาของอลาสกันควรจะเป็นสีน้ำตาลเท่านั้น และหูของอลาสกันจะตั้งชี้ออกไปด้านข้างมากกว่าไซบีเรียน

เรื่องเจ้าตูบที่คุณอาจจะชอบ

 Banner Image