แอฟริกันเกรย์ (African grey) มันเป็นสายพันธุ์นกแก้วที่มีเอกลักษณ์ตรงขนสีเทาสวยงาม มาพร้อมกับทักษะการเลียนแบบเสียงมนุษย์ที่ยอดเยี่ยม มาทำความรู้จักกับน้องให้มากขึ้นกัน
ข้อมูลทั่วไปของแอฟริกันเกรย์
- น้ำหนัก: ประมาณ 400 – 600 กรัม
- อายุขัย: 23 ถึง 60 ปี
- ความฉลาด: ฉลาดมากๆ
- ความยาวตัว: ประมาณ 26 – 36 ซม.
- ถิ่นกำเนิด: ป่าฝนในแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Psittacus erithacus
- ลักษณะเฉพาะ: น้องมีสีเทาสวยงามตลอดทั้งตัว แต่ส่วนหางจะเป็นสีแดงสวยงาม
ประวัติของแอฟริกันเกรย์
นกแก้วสายพันธุ์เป็นนกแก้วที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา มันมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ป่าฝนในทวีปแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก ซึ่งจะอยู่บริเวณประเทศคองโก (Congo) ยูกันดา (Uganda) กานา (Ghana) และเคนยา (Kenya) ถึงแม้ว่าสีสันของนกแก้วสายพันธุ์นี้อาจจะไม่สดใสเท่านกแก้วหลายๆ สายพันธุ์ แต่มันก็เป็นนกแก้วที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะความฉลาดแสนรู้ของมัน มันสามารถเลียนแบบคำพูดของมนุษย์ได้เยอะมากๆ บางคำมันเรียนรู้ที่จะพูดเองโดยที่เราไม่ต้องสอนเลยด้วยซ้ำ จะเห็นได้ว่าในยูทูปหลายๆ ช่อง น้องจะมาแสดงความสามารถในการพูดที่ยอดเยี่ยม ราวกับว่ากำลังพูดคุยกับคนด้วยกัน
ข้อควรระวัง
ก่อนเลี้ยงนกควรต้องศึกษาเรื่องกฎหมายก่อน ในปัจจุบันนกบางสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ใน CITES บัญชีหมายเลข 1, 2, และ 3 ซึ่งแต่ละบัญชีก็จะมีกฎระเบียบที่ต่างกันออกไป ซึ่งคุณต้องตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่าในปัจจุบันนกสายพันธุ์นี้อยู่ที่ CITES บัญชีไหนหรือไม่ มีกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการซื้อขายครอบครองนกสายพันธุ์นี้ในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อนกที่ถูกดักจับจากป่าอย่างผิดกฎหมาย
ลักษณะนิสัยของแอฟริกันเกรย์
ส่วนมากมันจะเป็นนกแก้วที่มีความอ่อนหวาน เชื่อง เข้ากับคนง่าย และรักใคร่เจ้าของมาก มันชอบเข้าสังคม แต่อาจจะไม่ขี้อ้อนมากนัก ด้วยความฉลาดแสนรู้ของน้อง บางตัวจะชอบเลียนแบบเสียงพูดของคนในบ้านและทำท่าทางต่างๆ ตามพวกเขา แต่มันไม่ชอบการอยู่ตัวเดียวเป็นระยะเวลานาน ไม่เช่นนั้นมันอาจจะมีอาการเหงา ไม่คุ้นเคยกับเจ้าของ กรีดร้อง และอาจจะดึงขนทำร้ายตัวเองได้ มันจึงเหมาะกับครอบครัวที่มีเวลามามีปฏิสัมพันธ์กับนกบ้าง แต่ทั้งนี้ นกบางตัวก็อาจจะมีนิสัยที่แตกต่างไปจากนี้ นกบางตัวอาจจะผูกพันกับคนคนเดียวเท่านั้น หวงตัว และเข้ากันได้ไม่ค่อยดีกับคนอื่น แต่บางตัวก็เป็นมิตรกับทุกๆ คน
การพูดคุยและส่งเสียง
ด้วยความฉลาดหลักแหลมของน้อง น้องสามารถเลียนแบบเสียงพูดคุยของมนุษย์ มันสามารถจดจำและเลียนแบบเสียงพูดคุยของคนในครอบครัวได้ ในบางครั้งน้องอาจจะเลียนคำพูดที่คุณไม่อยากให้เลียนได้ แม้แต่เสียงรอบข้างที่ไม่ใช่เสียงพูดคุย น้องก็สามารถเลียนเสียงได้เช่นกัน ดังนั้น การสอนให้นกพูดนั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย แค่สอนน้องพูดอย่างใจเย็นทุกวัน และให้อาหารเป็นรางวัล น้องก็สามารถพูดได้แล้ว นอกจากเรื่องพูดแล้ว เรายังสามารถฝึกน้องให้ปฏิบัติตามคำสั่งต่างๆ ได้อีกด้วย
ลักษณะภายนอกและความหลากหลายของนก
สีและลักษณะภายนอก
ใบหน้าบริเวณรอบๆ ดวงตาและบริเวณใต้ท้องจะเป็นสีเทาอ่อน ส่วนปีกและบริเวณอื่นๆ จะมีสีเทาปกติ ส่วนหางจะมีสีแดง ตัวผู้จะมีหางสีแดงสดตลอดทั้งหาง ส่วนปลายหางของตัวเมียจะมีความอมเทานิดๆ ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย เมื่อนกมีอายุมากกว่า 18 เดือนขึ้นไป ตัวผู้มักจะมีสีเทาที่เข้มกว่าตัวเมีย
ความหลากหลายของสายพันธุ์
โดยหลักๆ เราสามารถจำแนกนกสายพันธุ์นี้ออกเป็นสองแบบ นั่นคือ
- แบบ Congo: จะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า น้ำหนักตัวราวๆ 400 – 700 สีเทาจะอ่อนกว่าแบบ Timneh ส่วนสีที่หางจะเป็นสีแดง
- แบบ Timneh: จะมีขนาดตัวที่เล็กกว่า น้ำหนักตัวราวๆ 275 – 400 กรัม สีเทาจะเข้มกว่าคองโก และส่วนหางจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม

การดูแลแอฟริกันเกรย์
การดูแลด้านอาหารการกิน
เราสามารถซื้ออาหารเม็ดสำหรับแอฟริกันเกรย์ให้น้องทานได้เลย ถึงแม้ว่าในอาหารสำหรับนกโดยเฉพาะเหล่านี้มักจะมีผลไม้อบแห้งและธัญพืชบางชนิดอยู่แล้ว แต่เราก็สามารถเสริมอาหารสดชนิดต่างๆ ให้น้องทานเพื่อเสริมสารอาหาร อาหารสดดังกล่าวสามารถเป็นผัก ผลไม้ หรือธัญพืชชนิดต่างๆ ก็ได้ เช่น เมล็ดทานตะวัน, กล้วย, แอปเปิ้ล (เอาเมล็ดออกแล้ว), คะน้า, ถั่วฝักยาว, แครอท และอื่นๆ แต่ทั้งนี้ อาหารที่ไขมันสูงอย่างเมล็ดทานตะวัน ควรให้น้องในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น ถ้าน้องทานอาหารสดเหล่านี้ไม่หมดก็ควรเอาออกมาเปลี่ยน ไม่ควรให้น้องทานอาหารค้างคืนที่อาจจะบูดแล้ว เพราะมันอาจจะส่งผลให้น้องป่วยได้ (ถ้าเป็นลูกนกต้องให้อาหารชงสำหรับลูกป้อนก่อน)
การดูแลขนและความสะอาด
นกเป็นสัตว์ที่จะคอยจัดแต่งขนและทำความสะอาดตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกังวลความสะอาดของน้องมากนัก แต่ถ้าหากว่าน้องเริ่มสกปรกและส่งกลิ่นเหม็น เราสามารถนำกะละมังขนาดใหญ่มากพอให้น้องกระพือปีกได้ ที่มีน้ำตื้นๆ ให้น้องเล่นและอาบน้ำตัวเอง หรือจะใช้กระบอกน้ำฟอกกี้ (Foggy) แบบแรงดันฉีดน้ำไปที่ลำตัวและปีกให้น้องอาบก็ได้
การดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย
เนื่องจากว่าน้องเป็นนกที่ตัวค่อนข้างใหญ่ กรงของน้องไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไปจนทำให้น้องอึดอัด ที่ตั้งของกรงน้องนั้นควรจะอยู่ในที่ที่มีคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันเป็นประจำ เช่น ห้องนั่งเล่น เพื่อให้น้องไม่รู้สึกเหงาจนเกินไป และที่ตั้งกรงของน้องควรไม่มีแดดแรงส่องถึง ไม่อับชื้น และมีอากาศถ่ายเท และผู้เลี้ยงต้องคอยดูแลความสะอาดของกรงนกอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะนำของเล่นสำหรับนกสักชิ้นเข้าไปให้น้องเล่นแก้เบื่อ
การออกกำลังกาย
นกควรได้รับการออกกำลังกายบ้างเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวมันเอง คุณสามารถนำน้องออกมาเล่นในห้องข้างนอกกรงบ้าง ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านี้ก็ดี เพื่อให้น้องได้ยืดสยายปีกได้เต็มที่ และเพื่อให้น้องออกมาทำกิจกรรมต่างๆ กับเจ้าของบ้าง นอกจากจะช่วยให้น้องสุขภาพแข็งแรง ยังมีส่วนช่วยให้นกคุ้นเคยกับผู้คนมากขึ้น ไม่เบื่อ ไม่เก็บกด และลดความเครียดอีกด้วย
ปัญหาสุขภาพที่อาจพบใน African grey
- โรคจะงอยปากและขน (Psittacine beak and feather disease): เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ อาการที่สามารถสังเกตได้จากภายนอก คือ นกขนร่วงผิดปกติ จะงอยปากผิดรูปและแตก เซื่องซึม บินได้ไม่ดีเหมือนเก่า ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น ถ้านกคุณมีอาการเหล่านี้ ให้นำน้องไปพบสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมกับแยกนกตัวที่แข็งแรงออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
- โรคกระเพาะขยาย (Proventricular Dilatation Disease): อาการที่สามารถสังเกตได้คือ นกจะตัวผอมลง น้ำหนักลดเรื่อย เซื่องซึม และอาเจียน แต่นกบางตัวอาจจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นจนกระทั่งเริ่มอาการหนักแล้ว
- ไรในนก (Bird Mites): ไรในนกนั้นร้ายกว่าที่คุณคิด เพราะมันอาจจะทำให้นกของคุณเสียชีวิตได้ และยังสามารถสร้างความรำคาญให้กับมนุษย์อีกด้วย อาการที่สามารถสังเกตได้ คือ นกจะน้ำหนักตัวลดลง ขนยุ่ง และน้องจะกัดขนและตกแต่งขนบ่อยผิดปกติ ขนร่วง และผิวหนังเป็นแผล วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หมั่นรักษาความสะอาดดรงของน้อง ไม่ให้กรงของน้องมีความอับชื้น และไม่ให้น้องเข้าใกล้นกจากธรรมชาติตัวอื่น โดยเฉพาะนกพิราบ ที่อาจจะมีไรนกติดมาด้วย
- โรคซิตาโคซิส (Psittacosis): หรือที่เรียกกันว่า “โรคไข้นกแก้ว” มันเป็นโรคที่สามารถติดจากนกและสัตว์ปีกอื่นๆ สู่คนผ่านการหายใจ ผู้ที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ นกที่อาจจะติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเซื่องซึม ถ่ายบ่อย ไม่ค่อยทานอาหาร และมูลนกจะมีสีแปลกไปจากปกติ
African grey เหมาะกับผู้ที่
- มีเวลาอยู่ร่วมกัน เล่นด้วยกัน และฝึกสอนนกพอสมควร
- ผู้ที่เคยเลี้ยงนกแก้วมาก่อนแล้ว
- ชอบสอนนกให้พูด
- ชอบนกที่ฉลาดเป็นกรด ฝึกสอนง่าย
- ทราบว่านกสายพันธุ์บางตัวนี้อาจจะรักเจ้าของแค่คนเดียว
คำถามที่พบบ่อย
- น้องชอบให้อุ้ม และลูบจับไหม: แล้วแต่นิสัยของนกแต่ละตัว บางตัวให้จับตามปกติ แต่บางตัวไม่ชอบให้จับมากนัก
- สอนพูดง่ายไหม: ส่วนใหญ่จะสอนพูดได้ง่าย
- มีน้องขายในไทยไหม: มีขายทั่วไปในไทย สามารถหาซื้อตามเว็บไซด์และเพจ Facebook ได้เลย
เรื่องนกๆ ที่คุณอาจจะชอบ
อ่านเรื่องไหนต่อดี
11 สายพันธุ์แมวยอดนิยม ที่จะมาทำให้ทาสแมวตกหลุมรัก
ทิเบตัน มาสทิฟฟ์ (Tibetan mastiff) ข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขจากทิเบต
สุนัขพันธุ์ปั๊ก (Pug) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสายพันธุ์สุนัขจอมขี้เกียจ
100+ ไอเดียตั้งชื่อแมวสีขาว ที่ฟังดูเข้ากับกับขนนุ่มฟูของน้อง
100+ ชื่อสุนัขจากผลไม้และผัก ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ
ฟลอริดา ไวท์ (Florida White rabbit) ข้อมูล นิสัยและการดูแลกระต่าย
เฟรนช์ บูลด็อก (French bulldog) ข้อมูล ลักษณะนิสัยและการดูแลสุนัข
เคล็ดลับที่ช่วยทำให้แมวกับหมาอยู่ร่วมกันได้